Skip to main content

นายทวีศักดิ์ ปิ 
นศ ป.โท สันติศึกษา

 

ในอดีตของสังคมไทยผมไม่อาจที่จะอธิบายฉายภาพให้เห็นว่า เอ็นจีโอ เป็นเช่นใด เพราะผมเกิดไม่ทัน แต่ในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะในห้วงเวลา ห้าปีหลังถือได้ว่าเป็นยุคของการเกิดกลุ่มพัฒนาเอกชนเหมือนดอกเห็ดเป็นกลุ่มที่สถาปนาขึ้นมาเองหรือเป็นกลุ่มที่รัฐจัดตั้งขึ้น ซึ่งทั้งหลายทั้งป่วงนั้นก็วิ่งกันทำงานในลู่วิ่งแห่งสันติภาพ การพัฒนา เยาวชน หรือสิทธิ และอื่นๆ ต่างประเด็นที่หลากหลายกันไป 
หากจะพูดถึงการก่อเกิดของกลุ่มคนทีหันมาทำงานเพื่อสังคมซึ่งเราจะเรียกว่าเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมก็แล้วแต่ พวกเขาหลายนั้นลุกขึ้นมาทำงานเนื่องจาก พวกเขามีใจที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม และที่สำคัญ บังยุบ มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มักจะพูดอยู่ประจำว่าภาคประชาสังคมคือกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐและไม่ถืออาวุธ ซึ่งจะเห็นว่า บรรดากลุ่มคนเหล่านี้ได้ก่อเกิดอยู่ตรงกลางหรือใจกลางของความขัดแย้งที่สองฝ่ายถืออาวุธในการต่อสู้

กลุ่มคน NGO หรือ CSO เป็นองค์กรของกลุ่มคนที่ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายที่ชัดในประเด็นที่ตัวเองทำหรือขับเคลื่อน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นมี เป้าหมาย (GOAL) ที่ชัดเจนทั้งในระยะสั่นและระยะยาว พวกเขาจะอุทิศตนต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ ปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ เช่น กลุ่มคนที่ต่อต้านโรงไฟฟ้า ต้านโครงการพัฒนาพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งพวกเขามองว่า ปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างการลุกขึ้นมาต่อต้านของพวกเขาไม่ใช่การลุกขึ้นมาเป็น จระเข้ขวางคลอง ขัดขวางผู้อื่น คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นกระทำการได้อย่างสะดวก อย่างที่ท่านนายกเข้าใจ สาเหตุที่พวกเขาต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน เพราะพวกเขา ซึ่งเป็นประชาชนตัวเล็กๆเห็นว่า เมกะโปรเจกต์ เหล่านั้น ไม่ใช่การพัฒนาอย่างที่พวกเขาต้องการ เพราะเป็นการพัฒนาที่ละเมิดศิลธรรมอันดีงามของพวกเขาที่ยึดถือปฎิบัติเป็นเวลาช้านาน ซึ่งการพัฒนาที่แท้จริงต้องอยู่ภายใต้ความต้องการของประชาชน หากสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดี ประชาชนก็จะแบมือรับอย่างสง่างาม อย่างกับนโยบาย "โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ" ที่รัฐบาลทำ ไม่มีใครออกมาปฎิเสธ ประชาชนทุกคน ต่อแถวไปลงทะเบียนรับสิทธิประโยชน์อย่างสง่างาม

และสำหรับ Ngo ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เราต้องมอง ในแง่ที่ว่า การที่พวกเขาเหล่านั้น ลงไปทำในประเด็นดังกล่าวเป็นการทำงานคู่ขนานกับรัฐ ซึ่งในบางกรณี การมีเอ็นจีโอหรือซีเอสโอ จะส่งผลให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้น เนื่องจาก เอ็นจีโอ มีสถานะเป็นประชาชน ไม่มีเครื่องแบบ กั้นระหว่างประชาชนกับ รัฐ สิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดผลดีในแง่ของสังคมจะได้รับประโยชน์ ในการแก้ปัญหาในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน