Skip to main content

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง และ สถานที่กลางแจ้ง

 

จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี

Assalamualaikum Warahmatullah Hiwabarakatuh.
ก่อนอื่นกระผมต้องขอขอบคุณต่อเอกองค์อัลลอฮ (ซบฺ) ที่ให้ผมมีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ และขอแสดงความเคารพเป็นอย่างสูงต่อท่านศาสดามูฮำหมัด (ซล.) ผู้ที่เป็นบิดาเเห่งการปฏิวัติและแบบอย่างที่ดีต่อมนุษยชาติ ผู้ที่เปลี่ยนโลกที่ไร้การศึกษามาเป็นโลกที่มีการศึกษา, ผู้ที่ต่อสู้กับยุคสมัยเข่นฆ่าทารกแรกเกิดที่เป็นเพศหญิงมาจนถึงสามารถดูแลและเลี้ยงดูทารกที่เป็นเพศหญิง. ขอขอบคุณครอบครัวที่คอยสนับสนุนผมในทุกการงานและเข้าใจสถานะของผม. ขอบคุณถึงเพื่อนๆร่วมอุดมการณ์ที่ต่อสู้มาด้วยกันและเป็นกำลังใจให้กันและกันมาตลอด. และสิ่งที่ผมลืมไม่ได้ คือ "ปาตานี" ขอบคุณปาตานีที่ทำให้ผมรู้จักความเป็นตัวตนมากขึ้น.

 

Apa khabar PATANI? 
กระผม นายอาร์ฟาน วัฒนะ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เติบโตมาในพื้นที่สงครามปาตานีที่มีมูลเหตุจากการต่อสู้ระหว่างสองชุดอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นชาติที่แตกต่างกัน. ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมทำกิจกรรมทางการเมืองนั้นตอนผมอายุ 15 ขวบ และผมก็ทำมาเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้และผมก็จะทำต่อไป. ผมเชื่อมาตลอดว่ากิจกรรมที่ผมทำนั้นมันไม่ใช่แค่กิจกรรมทั่วไป แต่มัน คือ "อุดมการณ์" อุดมการณ์ที่อยู่บนพื้นฐานการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนและไม่ดูถูกคนอื่น. สิทธิที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้เกิดมาเพื่อ "ความอิสรภาพ" อิสรภาพที่ปราศจากการกดขี่และไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน.

วันนี้ปาตานีบ้านฉันเป็นไงบ้าง? ครอบครัวฉันสบายดีไหม? เพื่อนๆกินอะไรกันแล้วยัง? วันนี้ทำกิจกรรมเหนื่อยไหม? วันนี้คนหนุ่มสาวปาตานีอ่านหนังสือกันแล้วยัง? เพื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของตนเอง.

 

Aku rindu PATANI....
ในจดหมายฉบับนี้ผมจะเขียนถึงปาตานีด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ที่ผมได้มาเยือนอเมริกา และวันนี้เป็นสัปดาห์ที่สองที่ผมห่างไกลจากมาตุภูมิอันที่รัก เนื่องด้วยผมได้รับทุนการศึกษาระยะสั้นจากโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) เพื่อมาเรียนรู้ในประเด็น civic engagement ที่ University of Nebraska, Omaha, the USA. ผมกำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ในขณะที่ผมนั่งอยู่บนรถทัวร์เพื่อเดินทางไปเรียนรู้และดูงานทางตอนเหนือของรัฐ Nebraska เขียนไปเรื่อยๆ แอบยิ้มไปด้วย ดื่มกาแฟร้อนไปด้วย พร้อมกับบรรยากาศสองข้างทางก็เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวอ่อนที่แห้ง ต้นไม้บางต้นเริ่มออกใบ ออกดอก เพราะตอนนี้เป็น Spring season. ในขณะที่นี่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นและแดดก็เริ่มสาดส่องทั่วดินแดนแห่งเสรีภาพทีเรียกว่าอเมริกา, ที่ปาตานีพระอาทิตย์คงกำลังจะตกดินและความเงียบเหงาก็เริ่มมาเยือนโดยเฉพาะตามหมู่บ้านต่างๆ ชาวบ้านต่างคนต่างก็แยกย้ายเข้าบ้านของตนเพราะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในภาวะสงคราม. เพื่อนๆที่ปาตานีต่างคนต่างก็ทำกิจวัตรประจำวัน, บางคนคงกำลังขี่จักรยานทั่วรอบเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่, บางคนคงกำลังเตรียมตัวไปละหมาดมักริบที่มัสยิด, บางคนคงกำลังคิดถึงบ้านเหมือนผมเพราะถึงอยู่ในมาตุภูมิแต่ก็กลับบ้านไม่ได้, บางคนคงกำลังเตรียมตัวเพื่อจัดกิจกรรมให้กับกลุ่ม องค์กรของตน, บางคนคงนั่งอยู่ร้านนำ้ชาและพูดคุยประเด็นทางการเมือง, บางคนคงกำลังประชุมเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร, บางคนคงเพิ่งกลับจากการทำงานเหนื่อยๆแล้วดื่มชาเย็นไปด้วยเพื่อความสดชื่น, บางคนคงอยู่ในป่า ในหุบเขา หรือที่ไหนสักแห่งเพราะตัดสินใจใช้อาวุธในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ, และบางคนก็คงคิดอยู่เหมือนกันว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่?และกำลังทำอะไรอยู่ที่อเมริกา?

 

PATANI sudah hilang negara, tapi masih ada bangsa.
ประเทศที่มีความเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับประธานาธิบดีคนปัจจุปัน และทุกคนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลของตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนแล้วต้องอยู่บนพื้นฐานในความเคารพความต่างของกันและกัน. ผมได้มีโอกาสไปอาศัยอยู่กับ host family สี่วันสามคืน พวกเขากันเองมาก ใจดี และเราได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิด ทุกเช้าในระหว่างทานมื้อเช้า และทุกคืนก่อนเข้านอน. ทุกๆครั้งที่ผมคุยกับพวกเขา ผมไม่เคยหยุดที่จะแทรกประเด็นปาตานีเข้าไปด้วย จนพวกเขานั้นเข้าใจความเป็นตัวตนของผมและรู้ถึงเจตนารมณ์ของเยาวชนคนหนึ่งที่เติบโตมาในพื้นที่สงคราม. ในคำ่คืนที่มีการแสดง cultural presentation ผมได้ใส่ชุดวัฒนธรรมมลายู ซึ่งมีความแตกต่างจากชุดวัฒนธรรมของไทย แต่ชุดที่ผมสวมใส่นั้นเหมือนกับชุดวัฒนธรรมของมาเลเซีย และแต่ละประเทศก็ต้องออกมาพูดและนำเสนอประเทศของตนเอง ทั้งหมด 10 ประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่แต่ละประเทศจะใช้เวลาในการนำเสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตน 5 นาที และผมก็เป็นหนึ่งในฐานะตัวแทนของประเทศไทยร่วมกับรุ่นน้องที่มาด้วยกันอีกสองคน ผมภูมิใจในตัวน้องทั้งสองที่เต็มที่กับการแสดงและผมเองก็ทำได้เท่าที่ผมสามารถทำด้วยเหตุผลหลายๆประการ. หลังจากที่งานใกล้เสร็จก็มีอเมริกาคนหนึ่งเดินมาหาผม แล้วถามผมว่า "why is your traditional clothes totally different from Thai traditional clothes?" Are you from Thailand? (ทำไมชุดวัฒนธรรมของคุณไม่เหมือนกับชุดวัฒนธรรมไทย? คุณมาจากประเทศไทยไม?) ผมก็ตอบว่า "I'm Patanian, but in this program I'm representing of Thailand" (ผมเป็นคนปาตานี แต่โครงการนี้ผมมาในนามตัวแทนของประเทศไทย) แล้วเราก็คุยกันยาวพอสมควร ผมก็ได้ให้นามบัตรกับเขา และบอกเขาว่า ถ้าสนใจเรื่องปาตานี คุณสามารถอีเมลล์หาผมได้ทุกเมื่อ หลังจากนั้นเราก็แยกย้ายกลับบ้านของตน. ผมมีความภาคภูมิใจต่อการเป็นคนปาตานีเหมือนกับเพื่อนๆคนอื่นมีต่อความเป็นชาติของตน ถึงแม้ว่าปาตานีนั้นได้ไร้รัฐไปแล้วแต่ไม่ได้แปลว่าปาตานีนั้นไร้ตัวตน และผมก็เคารพต่อการเป็นตัวตนของคนอื่นเช่นกัน. ผมได้แบ่งปัน value and inspiration of the nation ที่ผมมีต่อปาตานีให้กับเพื่อนๆอเมริกาบางคน และวันสุดท้ายผมได้ให้เข็มกลัด "We Love Patani" ต่อ host family ที่ผมอยู่ด้วยกัน.

 

Apakah demokrasi bagi orang Amerika?
เมื่อวานผมได้มีโอกาสขึ้นรถกับคนอเมิกาคนหนึ่งและผมได้ถามเขาว่า "ประชาธิปไตยนั้นมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อคนอเมริกา?" เขาก็ได้ตอบว่า ประชาธิปไตยเป็นชุดอุดมการณ์ทางความคิดที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และสำคัญที่สุดสำหรับเขาถ้าลองเปรียบเทียบกับระบบการปกครองอื่นๆที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ และรัฐบาลที่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งนั้นก็ถูกเลือกมาจากประชาชนของประเทศโดยตรง ประชาชนนั้นมีทั้งคนที่มีแนวคิดที่กว้างและแคบตามประสาสัญชาตญาณของมนุษย์. การได้มาซึ่ง โดนัล ทรัมด์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกานั้นบ่งบอกถึงจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตย โดยส่วนตัวเขามองว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ถ้าให้ผมเลือกระหว่างระบบกษัตริย์กับระบบประชาธิปไตย ผมจะเลือก ประชาธิปไตย และถ้าให้ผมเลือกระหว่างระบบเผด็จการฮิตเลอร์กับประชาธิปไตย ผมก็จะเลือกประชาธิปไตย เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีระบบการปกครองไหนที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้ดี ให้ความเท่าเทียมกันและกัน และปกครองอย่างสงบสุขได้จริงๆ.

 

Motivasi untuk remaja PATANI dalam menuntut ilmu pengetahuan.
เพื่อนๆที่อ่านจดหมายฉบับนี้คงอยากรู้อีกว่าอะไรบ้างที่ผมได้จากประเทศสหรัฐอเมริกา? ทำไมต้องเป็นอเมริกา? และอีกประสบการณ์หนึ่งที่ผมไม่เคยเเชร์ให้กับเพื่อนๆ คือ ประสบการณ์ที่ผมอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียเป็นระยะเวลา 11 เดือน. ผมมีความยินดีที่แชร์ประสบการณ์ของตนเองกับทุกคน. ผมหวังว่าผู้อ่านทุกคนได้รับความรู้จากประสบการณ์ของผมไม่มากก็น้อย และผมก็จะลองเขียนไปเรื่อยๆถ้าผมมีเวลาว่าง. ผมเป็นคนสื่อสารไม่เก่ง แต่ผมจะพยายามสื่อสารกับทุกคนและใช้เทคโนโลยีที่เป็นโอกาสเพื่อแบ่งปันชีวิตต่างแดนกับเพื่อนๆที่อยู่ในมาตุภูมิ.

สุดท้ายนี้ผมขอเป็นกำลังใจต่อเพื่อนๆปาตานีทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อมาตุภูมิ และเพื่ออนาคตที่ดีกว่า สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง.

คิดถึงน่ะ " color:#1D2129">PATANI" เพราะไม่มีพื้นแผ่นดินใดสุขเท่ากับแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง และต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนๆที่อยากให้ผมใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร เพราะผมถูกปลูกฝังความเป็นไทยจากระบบการศึกษา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็จะพยายามเขียนเป็นภาษามลายูให้ได้.

Waalaikumussalam Warahmatullah Hiwabarokatuh.

 

ด้วยจิตรักและเสรีภาพ
Arfan Wattana
Foreign Relations of Patani Institute (PI)
25/March/2017
8.30 am (Local time, western of Nebraska, The USA)

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, ท้องฟ้า, เมฆ, ภูเขา, สถานที่กลางแจ้ง และ ธรรมชาติ