|
พูดกันมานานว่าปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือปัญหายาเสพติด แต่ที่ผ่านมาแม้จะมีการจับกุมผู้ค้า ผู้เสพ หรือพบยาเสพติดซุกซ่อนอยู่ตามแหล่งกบดานของแนวร่วมก่อความไม่สงบหลายต่อหลายครั้ง ทว่าก็ยังไม่เคยมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ยิ่งสถานการณ์ในสามจังหวัดมีแต่ความรุนแรง การเข้า "เกาะติดพื้นที่" ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทำได้อย่างลำบากยากเย็น ทุกวันนี้จึงแทบไม่มีใครรู้โฉมหน้าที่แท้จริงของปัญหา เพราะแม้แต่ "สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด" (ป.ป.ส.) ก็ยังมีเพียงข้อมูลในภาพกว้างว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มียาเสพติดระบาด "มากชนิด" ที่สุดในประเทศไทย ทั้งใบกระท่อม สี่คูณร้อย ยาแก้ไอ ยาบ้า และกัญชา แม้แต่เฮโรอีนที่ไม่ค่อยมีระบาดในภาคอื่นแล้ว ก็ยังพบมากในพื้นที่นี้
เป็นที่รู้กันดีว่าเยาวชนในสามจังหวัดประสบกับปัญหาความยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และว่างงานกันมากอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอปัญหายาเสพติดกระหน่ำซ้ำเข้าไปอีก จึงเป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือตกเป็นเหยื่อในขบวนการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ
ที่ผ่านมาแม้สถิติการกวาดล้างจับกุมของฝ่ายตำรวจจะมียอดสูงมาก แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น ส่วนพื้นที่รอบนอกยังไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะปัญหาความไม่สงบ ด้วยเหตุนี้ ป.ป.ส.จึงคิดอุดช่องโหว่ ด้วยการดึงเยาวชนที่เสพยา รวมถึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาเข้าโปรแกรมบำบัด ซึ่งก็ได้รับ "ไฟเขียว" จากทั้งรัฐบาลและกองทัพภาคที่ 4
อย่างไรก็ดี แม้การลุยแก้ปัญหายาเสพติดจะเป็นประเด็นที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างมาก แต่ด้วยสภาพสังคมชนบทที่หลายคนอาจจะอับอายเพื่อนบ้าน หากมีบุตรหลานต้องเข้าโครงการบำบัดผู้ติดยา ทาง ป.ป.ส.จึงเลี่ยงที่จะใช้คำว่า "บำบัด" และคิดรูปแบบโครงการที่ประชาชนในพื้นที่ยอมรับได้ขึ้นมา โดยเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่สำคัญคือต้องไม่หวังผลเรื่อง "ข่าวสาร" จากเป้าหมายที่ดึงเข้ามาร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจแบบเต็มร้อยให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง
และโครงการที่ว่านี้ก็คือ "ญาลันนันบารู" ที่แปลว่า "ทางสายใหม่" ซึ่งไม่ใช่การบำบัดผู้ติดยา แต่เป็นการฝึกอบรมทำความเข้าใจกับเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อให้รู้ถึงภัยร้าย จะได้ "ลด ละ เลิก" การยุ่งเกี่ยวกับยานรกในที่สุด
วิธีการที่ ป.ป.ส.ใช้ก็คือการขับเคลื่อน "งานมวลชน" โดยจับมือกับหน่วยทหารที่ทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อเจาะเข้าไปยังหมู่บ้านที่มีการแพร่ระบาด แต่งานมวลชนดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาหรือฝึกอาชีพตามที่ฝ่ายทหารดำเนินการอยู่ เพราะ "เป้าหมายนำ" เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ฉะนั้นจึงต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ ป.ป.ส.จึงเริ่มต้นประสานกับกองทัพภาคที่ 4 ขอกำลังทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อยู่แล้ว กองร้อยละ 4 นาย เข้าอบรมในแบบของ ป.ป.ส. เพื่อเป็นชุดปฏิบัติการมวลชนนำร่องของโครงการ โดยทหารกลุ่มแรกที่ผ่านมาฝึกอบรมมีทั้งสิ้น 190 ชุดปฏิบัติการ กระจายกันลงพื้นที่เป้าหมายเพื่อทำงานมวลชนแบบ "เกาะติด" และตั้งเป้าเอาไว้ 1 ชุดปฏิบัติการต่อ 1 หมู่บ้าน แต่หากชุดไหนมีพลังมาก จะทำ 2-3 หมู่บ้านก็ได้
ข้อมูลที่น่าตกใจก็คือ ชุดปฏิบัติการ 190 ชุด ลงพื้นที่เป้าหมาย 290 หมู่บ้านเมื่อเดือนเมษายน หลังจากนั้นไม่นานก็ส่งข้อมูลกลับมายัง ป.ป.ส. พบว่ามีหมู่บ้านถึง 229 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ขณะที่มีเพียง 28 หมู่บ้านเท่านั้นที่ไร้ปัญหา ส่วนหมู่บ้านที่เหลือยังอยู่ระหว่างการหาข้อมูล
เมื่อเอ็กซเรย์หมู่บ้านเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ชุดปฏิบัติการก็จะเริ่มชักชวนเยาวชนที่เสพยา ตลอดจนเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาเข้าโครงการอบรมรุ่นละ 7 วัน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยการอบรมจะเป็นลักษณะ "เข้าค่าย" ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถานที่ฝึกอบรม
ถึงวันนี้การอบรมผ่านไปแล้วหลายรุ่น ปรากฏว่าประชาชนให้การตอบรับมาก เนื่องจากเยาวชนที่กลับไปยังชุมชนมีพฤติกรรมดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ส่งผลให้เกิดกระแสการชักชวนเพื่อนๆ ที่เสพยาหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มาเข้ารับการอบรมบ้าง ส่งผลให้เยาวชนที่เดินทางมาร่วมโครงการขยายพื้นที่กว้างออกไปเรื่อยๆ
ป.ป.ส.เชื่อมั่นว่า งานมวลชนที่ใช้เรื่องยาเสพติดเป็น "ธงนำ" นั้น จะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ทั้งในบริบทการแพร่ระบาดของยาเสพติด และบริบทด้านความมั่นคง เพราะที่ผ่านมาสาเหตุที่งานมวลชนเห็นผลน้อย เนื่องจากทำไปโดยไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านคืออะไร หลายๆ ครั้งสิ่งที่รัฐมอบให้ ไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน
ทว่าปัญหายาเสพติดนั้น เป็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องการให้รัฐแก้ไขอย่างเร่งด่วน และหากรัฐบาลทำได้สำเร็จ ก็จะได้ใจชาวบ้านกลับมา ถ้าทำให้เด็กเกเรมากๆ ในชุมชนกลับมาเป็นคนดีได้ ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่จะพลิกกลับ และโอกาสที่มวลชนจะไหลกลับมาสู่อ้อมกอดของรัฐก็จะมีมากขึ้น
ล่าสุด ป.ป.ส.กำลังต่อยอดโครงการ ด้วยการสร้าง "เครือข่าย" ของผู้ได้รับการอบรม เพราะต้องยอมรับว่าการฝีกอบรมเพียง 7 วันจะให้ตัดขาดจากยาเสพติด 100% นั้น เป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะหากในท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยยังมียาเสพติดระบาดอยู่
ดังนั้น ป.ป.ส.จึงเตรียมจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการ "ญาลันนันบารู คัพ" โดยให้ผู้ที่ผ่านการอบรมแต่ละรุ่นไปรวมทีมกับเพื่อนๆ กลุ่มเสี่ยงหรือผู้เสพยาในพื้นที่ แล้วมาดวลแข้งกัน ประการหนึ่งก็เพื่อสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจให้กับเยาวชนในพื้นที่ จะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นช่องทางดึงเด็กและเยาวชนที่ยังไม่ยอมเข้าร่วมอบรม มาเข้าโครงการ "ญาลันนันบารู"
หากทำให้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้รวมตัวกันมาแข่งขันฟุตบอลได้ ก็ไม่ยากนักที่รัฐจะส่งเสริมเรื่องฝึกอาชีพ และหางานให้ทำในลำดับต่อไป สุดท้ายปัญหารากฐานของกลุ่มวัยรุ่นในสามจังหวัดก็จะได้รับการแก้ไข อันจะส่งผลดีถึงการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงได้ในที่สุด
และทั้งหมดนี้คือ "ญาลันนันบารู" ทางสายใหม่เพื่อเยาวชนสามจังหวัดใต้ !