สันติภาพกับวิสามัญฆาตกรรม
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ
ในช่วงปีที่ผ่านมาและต้นปี 2560 เราจะเห็นข่าวการประชุมเรื่องการสร้างสันติภาพ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนมาก และ ความเคลื่อนไหวของการพบปะพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและมาราปาตานี เพื่อ ยุติความขัดแย้งที่รุนแรง (ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เกิดได้ตลอดเวลา ยุติไม่ได้ ที่เป็นปัญหาคือ ความรุนแรง) ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยปรากฏเป็นข่าวทั้งในหน้า Facebook และสื่อกระแสหลัก อีกทั้งมีข้อเรียกร้องให้มี เรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” จากกลุ่มผู้หญิง และหลากหลาย NGO ในพื้นที่ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เน้นย้ำเสมอว่า รัฐบาลต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างจริงใจ และมีการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 ประเทศไทยได้ไปแถลงด้วยวาจาเพื่อรายงานสถานการณ์ประเทศไทย ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ที่นครเจนีวา คณะกรรมการได้มีการหยิบยกเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และ การประหารนอกกระบวนการยุติธรรมหรือนอกระบบกฎหมาย (Extrajudicial Killing) ขึ้นสอบถามตัวแทนประเทศไทยและได้ให้คำแนะนำว่า
คณะกรรมการกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การฆ่านอกระบบกฎหมาย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ คณะกรรมการยังคงกังวลต่อการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเนื่องจากการกระทำความผิดเหล่านี้ และกระบวนการสอบสวนคดีที่ล่าช้า รวมทั้งกรณีการใช้อาวุธปืนสังหารพลเรือนระหว่างที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 การบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) และการทรมาน น.ส. กริชสุดา คุณะแสน (ข้อ 2, 6, 7, 9, 10 และ 16) ซึ่งรัฐควร
(ก) ประกันให้มีการร้องเรียนและให้มีการสอบสวนโดยพลัน อย่างไม่ลำเอียง และอย่างรอบด้านต่อข้อกล่าวหาและข้อร้องเรียนทั้งปวง ว่าได้เกิดกรณีที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายและเกินกว่าเหตุ รวมทั้งในกรณีการทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการฆ่านอกระบบกฎหมาย รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ประกันให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด และหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ให้กำหนดบทลงโทษอย่างเหมาะสม
จากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยดังกล่าว เมื่อเราหันกลับมามองสถานการณ์ที่แท้จริงในจังหวัดชายแดนใต้ เราพบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะการวางระเบิดลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และเหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากการ ใช้อาวุธปืนเป็นหลักซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของมาราปาตานีในการพูดคุย และประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายพาคนกลับบ้านเพื่อให้ผู้ที่ต้องการวางอาวุธหรือถอนตัวจากขบวนการก่อความไม่สงบได้มีหนทางในการกลับคืนสู่สังคม
แต่ทำไมเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมหรือการฆ่านอกระบบกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ ต่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบกลับมี มากขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ความรุนแรงอื่นๆลดลง มันย้อนแย้ง มันสวนทางกับนโยบายการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ เราลองมาดูว่าเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง
กรณีการปะทะวิสามัญฆาตกรรมในจังหวัดชายแดนใต้
17/9/2559 ผู้เสียชีวิตคือ นายซบบรี บือแน เหตุเกิดที่อำเภอ รามัน จังหวัด ยะลา
13/10/2559 ผู้เสียชีวิตคือ นาย ฟัดลาน เสาะหมาน , นาย นายอับดุลวาฮับ ราตูยาแฮ , นายนายยาซะ สาและ , นายรุสดี ปอสู เหตุเกิดที่อำเภอ สะบ้าย้อย จังหวัด สงขลา
30/10/2559 ผู้เสียชีวิตคือ นายมาหามะ แมเราะ เหตุเกิดที่อำเภอ รือเสาะ จังหวัด นราธิวาส 25/11/2559 ผู้เสียชีวิตคือ นายมะซูปิยัน ยะกูมอ และ นายบูคอรี ฮะมะ เหตุเกิดที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
16/1/2560 ผู้เสียชีวิตคือ นายกอเซ็ม มิยะ เหตุเกิดที่อำเภอรามัน จังหวัด ยะลา
29/3/2560 ผู้เสียชีวิตคือ นาย อิสมาแอ หามะ และ นาย อาเซ็ง อูเซ็ง เหตุเกิดที่อำเภอรือเสาะ จังหวัด นราธิวาส
จากจำนวนที่แสดงข้างต้น ในห้วง 8 เดือน มีการวิสามัญฆาตกรรมไปแล้วจำนวน 11 ราย โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และ พื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ และพื้นที่ที่มีความรุนแรงสูง และหลายๆกรณีมีข้อมูลในพื้นที่ที่มีการเผยแพร่ออกมาไม่สอดคล้องกับข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในสื่อกระแสหลักที่เป็นข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 กรณีวิสามัญฆาตกรรมนาย อิสมาแอ หามะ และ นายอาเซ็ง อูเซ็ง ที่มีข่าวออกมาตั้งแต่วันแรกจากพื้นที่ว่าในเหตุการณ์มีเด็กผู้หญิงอยู่ในรถด้วย แต่ในการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ไม่ยอมที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ และต่อมาก็ปรากฎข่าวในสำนักข่าววาตาร์นี ว่าเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นอย่างที่ปรากฏในข่าว ซึ่งเรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องระมัดระวังอยู่หลายประการคือ หนึ่ง กรณีการปะทะ เป็นการวิสามัญฆาตกรรมที่เจ้าหน้าที่ป้องกันตนหรือผู้อื่นจริงหรือไม่ สอง กรณีที่มีเด็กอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและการคุ้มครองสิทธิเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและการให้การคุ้มครองพยานโดยเฉพาะพยานที่เป็นเด็ก
การวิสามัญฆาตกรรม เป็นการยุติการพิสูจน์ความจริงในข้อ กล่าวหาต่างๆที่มีต่อผู้เสียชีวิต เพราะเขาไม่มีโอกาสอีกแล้วในการพิสูจน์ตนเองในกระบวนการยุติธรรม การวิสามัญฆาตกรรมจึงควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำใช้เมื่อการเคารพและการปฏิบัติตามกฎการปะทะตามที่เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมมาไม่สามารถใช้ในการป้องกันตนหรือผู้อื่นอย่างได้ผล เพราะการใช้วิสามัญฆาตกรรมอาจไม่เพียงไม่สามารถ ช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงเท่านั้น แต่เป็นการสร้างบาดแผล รอยช้ำในใจแก่ผู้อยู่ข้างหลังผู้เสียชีวิต ทั้งครอบครัวผู้ที่สูญ เพื่อนมิตร เสียเฉกเข่นเดียวกับผู้สูญเสียจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายขบวนการเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ใช่การปะทะจริงๆ ดังกรณีที่ยังคงเป็นบาดแผลที่ไม่จางหายคือ กรณีปุโละปุโย กรณี โตะชูด ที่เพิ่งผ่านมา 2 ปี แต่ยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ การใช้ความรุนแรงตอบโต้ อาจนำมาซึ่งการตอบโต้ที่รุนแรงอย่างไม่มีวันจบสิ้น
การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนไม่เพียงแค่การทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลงเพียงเท่านั้น แต่เหยื่อของความรุนแรงทุกประเภทจะต้องได้รับความเป็นธรรมและประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองด้วยเช่นกัน กรณีนี้จึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนการปฎิบัติงานในพื้นที่ว่าสอดคล้องกับนโยบายการสร้างสันติสุข หรือไม่ หากไม่ก็ควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการปฎิบัติงานเพื่อสนับสนุนการสร้างสันติสุขได้อย่างแท้จริง
หมายเหตุ การสังหารผู้ที่เป็นคนร้ายหรือสงสัยว่าเป็นคนร้ายโดยเจ้าหน้าที่อย่างถูกกฎหมายมีกรณีเดียวคือ การฆ่าโดยการป้องกันตัวหรือป้องกันคนอื่นตามสมควรแก่เหตุ กรณีอื่นถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ปัญหาคือ รัฐจะดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดหรือไม่? ส่วนคำว่า ” วิสามัญฆาตกรรม” การฆ่าหรือผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีทั้งถูกกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ป้องกันตนหรือบุคคลอื่นตามสมควรแก่เหตุ และผิดกฎหมาย หากไม่ใช่กรณีป้องกันดังกล่าว ซึ่งกรณีหลังนี้เรียกว่า Extra Judicial Killing หรือการประหารนอกกระบวนการยุติธรรมหรือการฆ่านอกระบบ