ภาษาที่พ่อสอน
“เปีย” เด็กสาวในวัย 14 ปี ผมยาว ตาโตและรอยยิ้มอันมีเสน่ห์ที่รับกับผิวสีแทนของเธอ ทำให้ใครที่อยู่ใกล้สามารถหลงไปกับมนต์เสน่ห์ที่เธอมีได้อย่างไม่ยากเย็น เธอศึกษาในรั้วโรงเรียนรามันศิริวิทย์ เธอเป็นหนึ่งในเยาวชนต้นแบบในโครงการเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม จังหวัดยะลา
“เปีย” เด็กสาวจากหาดใหญ่ ที่ย้ายมาศึกษาในพื้นที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ มัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยพื้นเพครอบครัวทางฝั่งของพ่อเป็นคนในพื้นที่รามันอยู่ก่อนแล้ว พ่อเธอได้เล่าว่า “ ตั้งแต่เล็กจนโตพ่อศึกษาในชุมชนรามัน บ้านของพ่อจะแวดล้อมด้วยชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าเพื่อนของพ่อก็จะมีแต่คนมุสลิมที่พูดภาษามลายู และความสามารถในการสื่อสารภาษามลายูของพ่อก็ได้ซึมซับจากเพื่อนๆ จากพ่อค้า แม่ค้าในชุมชนนี่เอง จนทำให้ภาษามลายูกลายเป็นภาษาที่สองสำหรับพ่อ
พ่อได้เล่าต่ออีกว่า ถ้าเราไม่สามารถสื่อสารภาษามลายูได้ เราก็จะไม่สามารถเข้าใจวิถีชีวิตของคนมุสลิมที่นี่ได้ แล้วเราก็จะไม่สามารถสานสัมพันธ์กับเขาได้เช่นเดียวกัน ”
ทักษะการสื่อสารภาษามลายูของพ่อทำให้เปีย พี่ชาย และ พี่สาว สามารถที่จะเรียนรู้และสื่อสารภาษามลายูได้พอสมควร โดยมีครูประจำบ้านอย่าง “คุณพ่อ” เป็นผู้สอน
ก่อนหน้าที่เปียจะเริ่มเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เธอมีพื้นฐานด้านภาษามลายูเพียงแค่การซื้อของในชุมชนเท่านั้น แต่เมื่อเธอก้าวเข้ามาในโรงเรียนและก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม จังหวัดยะลา ทำให้เธอรู้ว่า ความสามารถในการสื่อสารภาษามลายูที่เธอมีอยู่ กลับเป็นขุมทรัพย์อันมีค่าสำหรับเธอ เพราะเธอต้องใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกับเพื่อนๆ กับชุมชน เพื่อดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
เปียเริ่มเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการทำโครงการที่ร่วมมือกับชุมชน โครงการแรกที่เปียและเพื่อนๆเข้ามาทำคือ”โครงการเล่าเรื่องเมืองรามันห์ : กริชรามัน ชุมชนรามัน “ และกิจกรรมแรกที่เปียได้สัมผัส คือ กิจกรรมเข้าค่ายพัฒนาเยาวชนต้นแบบที่สงขลา ซึ่งแน่นอนว่า เธอกังวลไม่ใช่น้อย เพราะตัวแทนจากโรงเรียนรามันที่เข้าร่วมค่ายครั้งนี้ มีเธอเพียงคนเดียวที่นับถือศาสนาต่างจากเพื่อน เธอกังวลว่าเพื่อนที่ไปเข้าค่ายด้วยกันจะแบ่งแยกเธอออกจากกลุ่มหรือเปล่า? เธอกังวลว่าเพื่อนต่างโรงเรียนที่จะไปเจอในค่ายจะเข้าใจในสิ่งที่เธอเป็นหรือไม่? และอีกสารพัดเรื่องที่เธอกังวล แต่ด้วยความที่เธอมีภาษามลายูเป็นขุมทรัพย์ในตัวเอง เธอจึงลบความกังวลที่มีอยู่ในจินตานาการของตัวเองออกจนหมดและกล้าที่จะทักทายเพื่อนมุสลิมจากต่างโรงเรียนด้วยภาษามลายู นอกจากนี้การทำกิจกรรมร่วมกันในค่ายระหว่างเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันและเพื่อนต่างโรงเรียนทำให้เปียมีความกล้าที่จะพังกำแพงที่ขวางกั้นเธอกับเพื่อนคนอื่นไว้ให้กับความกลัวของเธอเองในเรื่องของ ”ภาษา”
ความสนิทสนมที่ได้จากการเข้าร่วมค่ายของ โครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม จังหวัดยะลา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เปียได้เติมเต็มมิตรภาพระหว่างสองศาสนาให้มีความสนิทเน้นเฟ้นกันมากขึ้น เปียได้กล่าวต่ออีกว่า “ถึงแม้ว่าหนูจะเรียนต่อต่างจังหวัด หนูคงไม่ลืมถิ่นที่ฝึก ภาษามลายูให้กับหนูได้ “