บีอาร์เอ็น แถลงแนะไทยเจรจาแกนนำผู้เห็นต่างจังหวัดชายแดนใต้ตัวจริง
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี
ในวันจันทร์ (10 เมษายน 2560) นี้ บีอาร์เอ็น ซึ่งขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุด ได้ออกแถลงการณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนัก เสนอแนะให้ประเทศไทยเจรจากับผู้แทนการเจรจาที่ได้รับฉันทานุมัติและได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้อง และให้การเจรจาเป็นไปตามมาตรฐานสากล
คำแถลงการณ์ของแผนกสารนิเทศบีอาร์เอ็น ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 มีรายละเอียดท่อนหนึ่งว่า “ต่อกรณีการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ต้องเป็นการเจรจาของตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมัติและได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้องโดยคณะกรรมการการเจรจาของทั้งสองฝ่าย และให้การเจรจาเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนรูปแบบกระบวนการเจรจาต้องถูกกำหนดโดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เจรจา ไม่ใช่กลุ่มอื่นๆ เพื่อจะเป็นการเสริมสร้างการเชื่อใจกัน เป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง”
รวมถึงการแถลงข้อเสนอสำคัญ คือ หนึ่ง การพูดคุยต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง และสมัครใจจะหาทางออกร่วมกัน และการพูดคุยต้องมีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์และพยาน
สอง ผู้ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งต้องมีความน่าเชื่อถือและถือหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล นั่นคือ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ไกล่เกลี่ยต้องดำเนินการพูดคุยตามที่ผู้เจรจาทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้
สาม กระบวนการเจรจาต้องได้รับการออกแบบอย่างชัดเจนและเห็นชอบร่วมกัน โดยคู่เจรจาทั้งสอง ก่อนเริ่มต้นเจรจา
ในเรื่องนี้ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะขอตรวจสอบกับทางมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกก่อนว่า บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์เช่นนั้นจริงหรือไม่
“ขอตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวเสียก่อน เพราะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริง จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ผมว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นไม่น่าจะมีการประกาศออกมาเช่นนั้น และจะต้องประสานไปยังผู้ประสานงานมาเลเซียว่า บีอาร์เอ็นมีการประกาศออกมาในลักษณะนี้จริงหรือไม่” พลเอกอักษรา กล่าวทางโทรศัพท์
เกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ?
ดอน ปาทาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า เอกสารที่เผยแพร่นั้น เป็นเอกสารโดยบีอาร์เอ็นจริง โดยบีอาร์เอ็นได้ลิดรอนความน่าเชื่อถือขององค์กรมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของตัวแทนจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ รวมทั้ง มีแกนนำบีอาร์เอ็นสามรายเป็นสมาชิก
“บีอาร์เอ็นเขี่ยมาราปาตานีออกจากวงจรการเจรจา แกนนำขบวนการเตือนทางการไทยให้ระลึกว่าความขัดแย้งที่มีเป็นเรื่องระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐไทย ในขณะที่กลุ่มอื่นไม่ควรเป็นผู้วางเงื่อนไขในการเจรจา” ดอน ปาทาน กล่าว
ส่วน แซกคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญประจำสหรัฐอเมริกา ด้านสถานการณ์ความไม่สงบ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "บีอาร์เอ็น ต้องการให้รัฐบาลจัดการกับปัญหานี้ ไม่ใช่มาราปาตานี และต้องการแผนงานและผลที่ชัดเจนในการเจรจา"
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามจัดการ “พูดคุยเพื่อสันติสุข” โดยส่งตัวแทนรัฐบาลเข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่า “องค์กรมาราปาตานี” โดยพยายามหารือ และกำหนดข้อตกลงการสร้างความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเจรจาซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก และให้ใช้พื้นที่ในการเจรจา
"บีอาร์เอ็น ไม่เคยมอบหมายให้ใครหรือหน่วยงานใด ไปเป็นตัวแทนร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ระหว่างมาราปาตานี กับรัฐบาลไทย" โฆษกบีอาร์เอ็น อับดุลการิม คาลิด กล่าวหลังจากบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ในวันจันทร์
ขณะที่ อาบูซา มีความคิดเห็นว่า บีอาร์เอ็นยังคงกังขาถึงความน่าเชื่อถือและความเป็นธรรมของมาเลเซีย ในฐานะเป็นตัวกลาง ในกระบวนการสันติภาพอย่างไม่เป็นทางการ
"มาราปาตานี ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลมาเลเซีย ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลไทย" เขากล่าว "ถ้าไม่มีความกดดันจากมาเลเซีย มาราปาตานีจะไม่เกิด ผมคิดว่า บีอาร์เอ็นต้องการสื่อสารไปทางกัวลาร์ลัมเปอร์ถึงความไม่พอใจ ที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงผลักดัน มาราปาตานีให้เป็นตัวแทนเจรจา แม้ว่า บีอาร์เอ็นจะแสดงความชัดเจนเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็ตาม"
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานีได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองตั้ง หนึ่งอำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัย เบื้องต้นได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อเสนอแล้วจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่
บีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์ หลังจากเกิดเหตุวางระเบิดทำลายระบบสาธารณูปโภคในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และส่วนหนึ่งในสงขลา จนได้รับความเสียหายตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีที่แล้ว จนถึงวันนี้ ยังมีระบบส่งกำลังไฟฟ้าบางส่วนที่ยังรอการกู้คืน
จับสามผู้ต้องสงสัย
ในวันนี้ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมประชุมกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อสถานการณ์ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแเนภาคใต้ และได้กล่าวว่า เป็นการกระทำของกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ถูกสมาชิกขบวนการที่เหลือจากเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านข่มขู่ให้ก่อเหตุ
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการมุ่งก่อกวนเพราะฝ่ายตรงข้ามกำลังระส่ำระสาย เพราะส่วนใหญ่ออกมารายงานตัวกับรัฐมากขึ้น คนที่เหลือจึงต้องบังคับให้เยาวชนรุ่นใหม่ทำ แต่เยาวชนรุ่นใหม่จำเป็นต้องทำเพราะถูกขู่บังคับ ถ้าไม่ทำครอบครัวจะถูกทำร้าย พยายามสร้างสถานการณ์เพื่อให้รู้ว่ายังมีศักยภาพอยู่" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ห้องประชุม 1 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยได้แล้วรวม 4 ราย รายแรก คือ นายปัญญา ปิ หรือ เพาซัน อายุ 33 ปี ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 90 บ้านยูโย ม.6 ต.บางขุนทอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สมาชิกผู้ก่อการระดับ KOMPI โดยเจ้าหน้าที่จับตัวได้ที่บริเวณร้านขายของชำ บ้านนัดกูโบร์ ม.2 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
นายปัญญา ปิ ถูกออกหมายจับในคดีลอบวางระเบิดในพื้นที่ จังหวัดยะลา เมื่อปี 2557 เป็นมือประกอบระเบิดของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ อยู่ในเครือข่ายนายอับดุลเลาะ ปุลา และนายอิสมะแอ ปุลา แกนนำในพื้นที่จังหวัดยะลา
และในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องหาคดีค้างเก่า และผู้ต้องสงสัยลงมือป่วนเมืองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รวม 3 ราย โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการร่วม ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง นำกำลังตรวจค้นพื้นที่ตำบลคอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 คน คือ นายมะยากี วาแวนิ อายุ 37 ปี มีหมายจับ ป.วิอาญา คดีความมั่นคง 1 หมาย นายซอมะ ยูโซ๊ะ อายุ 45 ปี มีหมายจับ ป.วิอาญา คดีความมั่นคง 3 หมาย และ นายอัสมี สือแม อายุ 41 ปี เป็นลูกจ้างตามโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 คน เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัว ทั้งหมดไปสอบสวนที่หน่วยซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
"การจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่แจ้งเบาะแสความเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการหาข่าวและนำกำลังเข้าทำการจับกุมทันที โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงได้ 2 คน และผู้ต้องสงสัย 1 คน" พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
จากการตรวจสอบประวัติ 2 ผู้ต้องหาพบว่าเคยร่วมกันก่อเหตุในพื้นที่ แต่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องหมายจับก็ต้องส่งดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป พล.ต.จตุพร กล่าวเพิ่มเติม