Skip to main content

บันทึกความคิดเห็นต่อแถลงการณ์มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


อะไรคือความยุติธรรม? เราต่างคนต่างให้ความหมาย "ความยุติธรรม" แตกต่างกัน

กระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ได้ล้มเหลว อย่างที่จั่วหัวนำในแถลงการณ์
ในทางกลับกัน กระบวนการยุติธรรมไทย เข้มแข็งมาก และมีความเป็นธรรมในความหมายแห่งรัฐไทย ตราบใดที่ชนชั้นนำในปัจจุบันของไทย ยังครอบครองและควบคุมอำนาจรัฐไทยได้ ความยุติธรรมพวกเขาก็เป็นผู้กำหนด ไม่ใช่เรื่องแปลก
 
แต่สิ่งที่แปลกคือ เรากลับยอมรับระบบความยุติธรรมของชนชั้นนำดังกล่าว
 
ในความเห็นข้างต้น ผมไม่ได้นำพาสู่การเป็นอนาธิปไตยแบบสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่ว หากแต่หมายถึง การยอมรับระบบยุติธรรม บนเงื่อนไขความเท่าเทียมกันในอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมอบให้รัฐ
 
ในความเป็นจริง ระบบยุติธรรมไทย ตั้งแต่ตัวกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ ยังถูกคนในสังคมจำนวนมากตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมระบบศาล ที่ผู้พิพากษาถูกเลือกมาจากใคร? และก็ไม่ใช่ประชาชนที่เป็นผู้เลือก แล้วมาเป็นผู้ตัดสินถูกผิดโดยตลอด แถมมีชนชั้นนำไทย ครอบอำนาจไว้อีก โดยเฉพาะพวกทหาร และพวกมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญทั้งหลาย เป็นต้น
 
ในสาระสำคัญที่ผมมีความเห็นเสนอต่อมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ สู่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเพื่อสันติภาพ คือ 

1. การสร้างความเท่าเทียมในอำนาจของการให้นิยาม "ความยุติธรรม" ของประชาชนทุกคน เพื่อกำหนดในตัวกฎหมาย
 
ถ้ารัฐธรรมนูญคือการยอมรับในฐานะกฎหมายสูงสุดของรัฐ อำนาจในการเขียนรัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อย่างน้อยถ้าผมมีอำนาจเท่าเทียมในสังคมไทยจริง มาตรา 1ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ผมจะเสนอ ให้เปลี่ยนเป็น มาตรา 1 ประเทศไทยประกอบด้วยคนอันหลากหลาย สามารถแบ่งแยกและรวมกันได้บนความต้องการ ในระดับการจัดความสัมพันธ์ที่ต่างกัน 
 
อันหมายถึงสิทธิในการนำเสนอของผม และสิทธิการนำเสนออีกมากมายหลายรูปแบบจากประชาชนทุกคน เพื่อหาหลักการร่วมกัน ในการกำหนดลงเป็นรัฐธรรมนูญ

2. การสร้างระบบยุติธรรมใหม่
 
ในเมื่อกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องรู้กฎหมาย ไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ผมก็สามารถเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาได้ ทำไมต้องให้สิทธิเฉพาะผู้ที่จบนิติศาสตร์ จบเนติบัณฑิต จึงจะสามารถเป็นผู้พิพากษาได้
 
การนี้ หากยอมรับกันว่า กฎหมายมีช่องโหว่และไม่สมบูรณ์แบบเสมอ ประชาชนทุกคน รวมถึงผู้พิพากษาที่ต่างเป็นมนุษย์มีอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ก็มีโอกาสใช้ช่องโหว่และความไม่สมบูรณ์แบบของกฎหมาย เพื่อรับใช้อะไรบางอย่างเป็นการส่วนตัวได้เหมือนกัน
 
เป็นความโน้มเอียงของผม ในการเสนอรูปแบบคล้ายกับการมีคณะลูกขุน ที่อำนาจการตัดสินมีการกระจายอำนาจมากขึ้น และเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน โดยผ่านระบบการเลือกทางตรงจากประชาชนให้มากที่สุด
 
3. ลดทอนอำนาจของพวกเขาให้เท่ากับประชาชน 
 
ไม่ใช่พวกนี้หรือ (ทหาร และผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญทั้งหลาย) ที่มีอำนาจกำหนดและแทรกแซงระบบกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เรากล้าปฏิเสธเนื้อหาที่ถูกบรรจงสร้างในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่ามาจากพวกนี้ได้อย่างเต็มปากหรือไม่ ในทางกลับกัน เรายอมรับได้อย่างเต็มปาก ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของประชาชนหรือไม่
 
อำนาจของประชาชน กับ อำนาจของพวกเขา มีไม่เท่ากัน อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นจากแถลงการณ์อย่างชัดเจนถึงอำนาจการแทรกแซงนอกระบบ
  
4. เป้าหมายเพื่อการต่อสู้อย่างเท่าเทียมกัน
 
การต่อสู้มีหลายรูปแบบวิธีการ และสันติวิธีปัจจุบันยังมีความหมายกว้าง
 
ถ้าการใช้ความรุนแรงของรัฐ เป็นวิธีการหนึ่งที่มูลนิธิฯรับไม่ได้ (ผมตีความเอาเองจากแถลงการณ์) มูลนิธิฯ สมควรอย่างยิ่ง ในการเรียกร้องให้รัฐไทย ปลดอาวุธทั้งหมด ทั้งทหาร ตำรวจ และอส. เพราะนั่นคือเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ ในการใช้ความรุนแรงของรัฐไทยที่ผ่านมา
 
ถ้าทำไม่ได้ ไม่ทำ หรือไม่คิดจะทำ มูลนิธิฯก็ไม่สามารถปฏิเสธการต่อสู้ด้วยการใช้ความรุนแรงของที่ปัตตานี เพราะนั่นคือการต่อสู้ ที่มันมีความหมายมากกว่าการแยกดินแดน (อย่างที่หลายฝ่ายบอก) มาก
 
มันเกิดขึ้นเพื่อบอกว่าอำนาจในสังคมไทยมันไม่เท่าเทียมกันจริง
 
ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อสู้กันหรอก หากมีช่องทางอื่นในการต่อสู้ และประชาชนในพื้นที่จะเลิกสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธไปเอง เหมือนเช่น ช่วงที่วาดะห์มีบทบาททางการเมือง
 
แล้วมูลนิธิฯจะสร้างพื้นที่ต่อสู้อื่น ในที่นี้คือระบบยุติธรรมไทย ให้พี่น้องที่ถูกกดขี่ได้หรือไม่หากไม่ทำลายโครงสร้างที่กดขี่ หรือไปแตะโครงสร้างนั้นอย่างจริงจัง มากว่าการเรียกร้องต่อโครงสร้างอำนาจเดิมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากแถลงการณ์ที่บ่งบอกว่าพื้นที่ของระบบยุติธรรมไทย ยังไม่สามารถให้ความเท่าเทียมได้จริง การใช้ความรุนแรงก็ยังเป็นทางเลือกที่ปฏิเสธไม่ได้  
 
ยินดีรับการวิจารณ์ ยินดีร่วมต่อสู้ ยินดีกับการเลือกข้างผู้ถูกกดขี่
 
การสรรเสริญแด่พระองค์
 
usup
 
****************************************************
 
 
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ Justice for Peace Foundation
  
ที่ ๐๐๖/๒๕๕๓  
วันที่ ๒๕ ตุลาคม  ๒๕๕๓
 
 
แถลงการณ์
  
๖ ปีตากใบ : ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ซึ่งครบ ๖ ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อันถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งของประชาชนใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ  และ แม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะได้เพียรพยายามเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต รวมถึงชุมชน และสังคม แต่สิ่งเดียวที่รัฐบาลในทุกสมัยไม่เคยให้แก่ประชาชนคือ ความยุติธรรม  
  
ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ มีผู้เสียชีวิตหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ๗ คน ปัจจุบันพนักงานอัยการมีคำสั่งงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต ต่อมาได้มีการขนย้ายผู้ชุมนุมทั้งหมดไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พบมีผู้เสียชีวิตภายในรถที่ขนย้ายอีก ๗๘ คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๘๕ คน ไม่นับรวมผู้บาดเจ็บ และพิการ ในกรณีการเสียชีวิตศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งไต่สวนการตายเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ สรุปว่าผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ ขณะอยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่  พนักงาน สอบสวนได้ทำสำนวนส่งพนักงานอัยการ โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงถือเป็นอันยุติ
 
 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีตากใบจึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชาย แดนภาคใต้ เพราะเป็นที่ยอมรับร่วมกันว่า รากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากความไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ดังกล่าว แม้กฎหมายจะมีพื้นที่ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้เองโดยตรง แต่ผู้ครอบครัวเสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในสถานะยากลำบาก อีกทั้งการฟ้องร้องหน่วยงานความมั่นคงก่อให้เกิดความหวาดกลัว และการไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำประชาชนให้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมบนบรรทัด ฐานของความเท่าเทียมทางกฎหมายได้
 
ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนี้
  
๑.     ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีกรณีตากใบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในการหาความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่
๒.     คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีตากใบและครอบครัวให้เข้าถึงความ ยุติธรรมโดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๗(๔) 
 
๓.     รัฐบาลต้องมีมาตราการในการให้ความคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตให้มีความมั่นใจ ในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาล และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
 
๔.      สังคมไทยต้องนำบทเรียนของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่อประชาชน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนของประชาชน โดยไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกกรณี และร่วมกันเฝ้าติดตามการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของกรณีการละเมิด สิทธิฯในเหตุการณ์ตากใบ
  
เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ และปรับกระบวนทัศน์ในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  รัฐบาลรวมถึง กระบวนการยุติธรรมไทยจึงต้องทบทวนบทบาทที่ผ่านมา ว่าแท้จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง และความยุติธรรมเพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ตามหลักนิติธรรม อย่าง ไร เพราะการปรองดอง และความสมานฉันท์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความเป็นธรรม อีกทั้งสันติภาพก็มิได้หมายถึงเพียงการยุติความรุนแรง แต่สันติภาพที่ยั่งยืนหมายถึงการที่ประชาชนทุกคนจะเป็นอิสระจากความหวาดกลัว และต้องไม่ให้มีการงดเว้นโทษ (Impunity) อีกต่อไป