นายกฯ ระบุ บีอาร์เอ็นอยากร่วมคุยสันติสุข ต้องแจ้งทางประเทศผู้อำนวยความสะดวก
กรุงเทพ และปัตตานี
ในวันจันทร์ (11 เมษายน 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่ขบวนการบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ในทำนองที่ไม่ยอมรับการเจรจาสันติสุขของมาราปาตานีกับรัฐบาลไทยว่า บีอาร์เอ็นควรไปเสนอขอร่วมเจรจาโดยผ่านทางการมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพราะประเทศไทยไม่สามารถพูดคุยกับผู้ก่อความไม่สงบบนแผ่นดินไทยได้โดยตรง
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลว่า ทางรัฐบาลไทยไม่ได้นำแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มาขยายความใดๆ
“เรื่องการเผยแพร่ข่าวของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ก็เราก็ไม่ได้มาขยายความเขาหรอก มันก็ต้องไปอยู่ในกระบวนการของการพูดคุยสันติสุขโน่น ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาพูดคุยต่างๆ กับเรา ก็ในเมื่อประเทศมาเลเซียเขาเป็นผู้อำนวยความสะดวกใช่ไหม ก็ต้องยื่นความประสงค์กันตรงโน้น เพราะเราก็พูดคุยกับใครไม่ได้ในดินแดนประเทศไทยอยู่แล้วไง เข้าใจหรือยัง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“ใครที่มีชื่อเป็นกลุ่มก่อการร้ายคุยด้วยไม่ได้ รัฐบาลคุยด้วยไม่ได้ ในประเทศดินแดนไทยไม่ได้ ค่อยไปหาทางออกกันตรงโน้น” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม
อย่างก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราไม่ได้เรียกบีอาร์เอ็นว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในประเทศไทย ถึงแม้ว่าบีอาร์เอ็นจะมีคำนิยามต่าง แต่รัฐบาลไทยเรียกว่าผู้เห็นต่าง เพราะมีสมาชิกเพียงส่วนน้อย
ในเรื่องที่บีอาร์เอ็น เรียกร้องให้ มีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์ และพยาน ในการพูดคุยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าไม่มีความจำเป็น
“ในเรื่องของการจะเอาองค์กรระหว่างประเทศ ทำไมล่ะ ประเทศไทยของเรา เราก็แก้ปัญหากันเองไม่ได้เหรอ ให้ใครเขาเข้ามาทำไม เข้ามาแล้วเขาจะรู้เข้าใจอะไรไหมล่ะ คนที่น่าเชื่อถือมันก็ต้องเชื่อถือรัฐบาล... เพราะว่าวันนี้ รัฐบาลก็ยืนยันชัดเจน เราต้องการให้สถานการณ์มันสงบให้ได้โดยเร็ว สาเหตุมาจากตรงไหนก็ตาม ก็ต้องไปสอบหาสาเหตุตรงนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อวันจันทร์นี้ บีอาร์เอ็น ซึ่งขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุด ได้ออกแถลงการณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนัก เสนอแนะให้ประเทศไทยเจรจากับผู้แทนการเจรจาที่ได้รับฉันทานุมัติและได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้อง และให้การเจรจาเป็นไปตามมาตรฐานสากล
คำแถลงการณ์ของแผนกสารนิเทศบีอาร์เอ็น ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 มีรายละเอียดท่อนหนึ่งว่า “ต่อกรณีการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ต้องเป็นการเจรจาของตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมัติและได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้อง โดยคณะกรรมการการเจรจาของทั้งสองฝ่าย และให้การเจรจาเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนรูปแบบกระบวนการเจรจาต้องถูกกำหนดโดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เจรจา ไม่ใช่กลุ่มอื่นๆ เพื่อจะเป็นการเสริมสร้างการเชื่อใจกัน เป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง”
นอกจากนั้น มีการแถลงข้อเสนอสำคัญ คือ หนึ่ง การพูดคุยต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง และสมัครใจจะหาทางออกร่วมกัน และการพูดคุยต้องมีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์และพยาน
สอง ผู้ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งต้องมีความน่าเชื่อถือและถือหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล นั่นคือ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ไกล่เกลี่ยต้องดำเนินการพูดคุยตามที่ผู้เจรจาทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้
สาม กระบวนการเจรจาต้องได้รับการออกแบบอย่างชัดเจนและเห็นชอบร่วมกัน โดยคู่เจรจาทั้งสอง ก่อนเริ่มต้นเจรจา
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานีได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองตั้ง หนึ่งอำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัย เบื้องต้นได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อเสนอแล้วจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่
ส่วนเรื่องที่บีอาร์เอ็นเพิ่งจะออกมาแถลงการณ์นั้น พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้กล่าวว่า ข้อเสนอของทางบีอาร์เอ็นเป็นเรื่องเก่า ตั้งแต่สมัย ปี 2556 และถือเป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็นเอง
“การพูดคุยเดินหน้ามาจนถึงขนาดนี้แล้ว ในส่วนของการเปลี่ยนตัวชุดคณะพูดคุยฯ และเปลี่ยนประเทศอำนวยความสะดวกนั้น อาจจะเกิดความผิดพลาดก็ได้ ซึ่งตรงนี้ เราไม่รู้และเราให้ทางมาราปาตานีไปจัดการ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยกัน ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไร และไปดูว่าเป็นใคร ซึ่งมีพวกที่ตกขบวนการพูดคุยอยู่ เขาก็อยากเข้าร่วม เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นดด้วยกับการพูดคุย และทุกพวกทุกฝ่ายก็อยากมาเข้าร่วม และเขาอยากจะคุยกับรัฐบาลไทย” พลเอกอักษรา กล่าว อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ