Skip to main content

กิ่งอ้อ เล่าฮง, ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

ไม่แปลกหาก "หมอแว" ..แวมาฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (..) ในการเลือกตั้งสมัยหน้า เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "หมอแว" กระโดดลงมาคลุกในสนามการเมืองระดับชาติ เนื่องจากเมื่อปี 2549 เขาก็เลยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (..) ที่นราธิวาสบ้านเกิดมาแล้ว แถมยังได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้นเกือบ 1 แสนคะแนน เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศอีกด้วย

          ฉะนั้นความน่าสนใจของ "หมอแว" ณ นาทีนี้ จึงมิได้อยู่ที่ว่าเขาจะลงสมัคร ส..หรือไม่ หรือกับพรรคการเมืองใด แต่อยู่ที่ "วิธีคิด" ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเขาต่างหาก

          ในฐานะอดีตหมอคนยาก เจ้าของโรงพยาบาลขนาดเล็ก 10 เตียงที่ชื่อ "โรงพยาบาลหมอแว" ในตัวเมืองนราธิวาส ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านผู้ยากไร้มานานกว่า 10 ปี กระทั่งถึงคราวเคราะห์ต้องตกเป็นจำเลยในคดีเจไอ (สมาชิกกลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์) ถูกตำรวจซ้อม ถูกทรมาน แต่สุดท้ายศาลก็คืนความเป็นธรรมให้ด้วยการยกฟ้อง

          หลังจากนั้นชีวิตก็ดูจะพลิกผันไปอีกทาง เมื่อเขาชนะเลือกตั้ง ส.. แม้จะเป็นสภาสูงชุดนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อนที่จะได้ทำหน้าที่ แต่ "หมอแว" ก็ยังได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. และแสดงบทบาทอย่างโด่นเด่นในสภาจนกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงอยู่ในปัจจุบัน

          ด้วยรอยเท้าบนเส้นทางอันสมบุกสมบัน ทำให้สายธารความคิดของเขาในภารกิจดับไฟใต้ชวนให้ติดตามอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อเขากล้าประกาศว่า จะนำตัวเองและเครือข่ายเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหญ่ที่มีโอกาสเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร เพื่อผลักดันนโยบายของ "กลุ่มหมอแว" ไปใช้แก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าฉงนว่านโยบายของเขามีดีขนาดไหน จึงทำให้เจ้าตัวกล้าประกาศถึงเพียงนั้น

          คำถามทั้งหมดโปรดติดตามได้ในบรรทัดจากนี้ไป...

ชู "แพคเกจพัฒนา" ดับไฟใต้

          "การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องคิดเป็นแพคเกจใหญ่" หมอแวเริ่มอรรถาธิบาย และว่า "เหมือนกับเขตปกครองพิเศษชินเกียงที่อยู่ภาคตะวันตกของจีน มีประชากรมุสลิม 20 ล้านคน มีสุเหร่า 20,000 แห่ง เขามีคนและสุเหร่ามากกว่าเรา 10 เท่า เคยมีปัญหาต่อสู้กันเป็นร้อยปี แต่รัฐบาลจีนแก้ปัญหาไม่ถึง 10 ปีก็สงบ โดยเขาโหมงบประมาณและการพัฒนาลงไปอย่างเต็มที่ ส่วนของไทยยังโหมแต่งบด้านความมั่นคง ขณะที่งบพัฒนายังน้อย และต่างคนต่างทำ"

          เขาขยายความปัญหาเรื่องงบประมาณว่า หากพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระแรก จะพบว่ามีการจัดเม็ดเงินถึง 9,000 ล้านบาท สำหรับงานด้านความมั่นคง ส่วนงบพัฒนามีเพียง 7,000 กว่าล้าน บวกกับงบปกติที่ผ่านทางกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อีก 13,000 ล้านบาท รวมแล้ว 29,000 ล้านบาทเท่านั้น

          หมอแว บอกว่า ถ้าจัดงบอย่างนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ฉะนั้นจึงต้องใช้วิธีคิดแบบ "แพคเกจ" คือทำอย่างไรที่จะให้การศึกษาในสามจังหวัดดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น คนมีงานทำ ไม่มีบัณฑิตว่างงาน พร้อมๆ กับดูแลคนที่ข้ามไปทำงานในประเทศมาเลเซีย 200,000 คน ด้วยการทำเวิร์ค เพอร์มิตให้ ตั้งกองทุนเข้าไปช่วยเหลือ ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร และอุดหนุนอุตสาหกรรมในครัวเรือน

          พูดง่ายๆ ว่าคือการพัฒนาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจแบบครบวงจร!

          หมอแว อธิบายต่อว่า สาเหตุที่ต้องคิดพัฒนาสามจังหวัดภาคใต้แบบ "แพคเกจ" เพราะปัญหาในพื้นที่วิกฤติเกินกว่าที่จะใช้ระบบปกติเข้าไปเยียวยา

          "เมื่อไปดูผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศไทย ปรากฏว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ 3 อันดับสุดท้าย อันดับที่ 74 นราธิวาส อันดับที่ 75 ยะลา และอันดับที่ 76 ปัตตานี หันไปดูด้านสาธารณสุข ก็จะพบว่ามีสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเป็นอันดับ 3 และมีคนฟันผุมากที่สุดในประเทศ แล้วจะให้ทำอย่างไร ก็ต้องโหมเรื่องเศรษฐกิจ และสาธารณสุข อัดฉีดงบประมาณลงไป พร้อมๆ กับจัดแพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ลงไปเพิ่ม"

          หมอแว ชี้ว่า เมื่อประชาชนในพื้นที่สุขภาพดี มีการศึกษาดี และเศรษฐกิจดี ก็จะแก้ปัญหาความไม่สงบได้ไปเอง เพียงแต่วิธีการพัฒนาในบริบทต่างๆ จะต้อง "คิดใหม่" ไม่ใช่ทำในรูปแบบปกติ

          "การดูแลเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ เราใช้งบ 9,000  ล้านบาท แต่เหตุการณ์ก็ยังเกิด ฉะนั้นเราลองคิดใหม่ ให้คนท้องถิ่น 30 คนต่อหมู่บ้านได้ดูแลตัวเอง  โดยรัฐจ้างเดือนละ 10,000 บาทต่อคน คน 30 คนก็จะใช้เงิน 300,000 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งใช้งบ 3,600,000 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 1,800 หมู่บ้าน งบประมาณรวมตลอดทั้งปีก็ประมาณ 6,000 ล้านบาท แล้วให้เขาดูแลตัวเอง เป็นตำรวจชุมชนหรืออะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ให้ ชรบ.หมู่บ้านละ 20,000 บาทต่อเดือน แล้วไปเกลี่ยเอา ปรากฏว่าไม่ได้ปฏิบัติจริง"

            "เมื่อเงินลงไปขนาดนี้ เราก็ให้ชาวบ้านจัดการกันเอง ดูแลกันเอง และพึ่งตนเอง ที่สำคัญเมื่อมีเงินหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ ก็จะเกิดการใช้จ่าย เศรษฐกิจก็ดี เพราะมีการขับเคลื่อน"

          เขายังยกตัวอย่างแบบเห็นภาพว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายยกระดับสนามบินนราธิวาสให้เป็นสนามบินนานาชาติเพื่อรองรับผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ปีหนึ่งๆ คนจากสามจังหวัดไปทำฮัจญ์ประมาณ  8,000 คน ผู้ที่ไปทำฮัจญ์ 1 คนมีคนไปส่ง 50 คน แสดงว่าจะมีคนไปสนามบินถึง 400,000 คน ถ้าใช้เงินคนละ 1,000 บาท ก็จะมีเงินหมุนเวียนถึง 400 ล้านบาท

          แต่ทุกวันนี้ต้องไปส่งกันที่หาดใหญ่ กรุงเทพฯ หรือภูเก็ต คำถามก็คือทำไมเราไม่ปรับปรุงสนามบิน ลงทุนแค่ 500 ล้าน เศรษฐกิจท้องถิ่นก็จะดีขึ้น การใช้จ่ายก็จะเกิด เมื่อคนคึกคัก ถนนหนทางก็สว่าง ก็จะลดโอกาสการก่อความไม่สงบไปได้เอง

          อีกเรื่องหนึ่งคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดย หมอแว ยกตัวอย่างเรื่องการผลิตผ้าคลุมหน้า

          "เชื่อมั้ยว่าผ้าคลุมหน้าที่ขายอยู่ทั่วโลก 80% ใช้แรงงานจากสามจังหวัด แต่นำผ้ามาจากมาเลเซีย นายทุนก็มาจากมาเลย์ แล้วก็ไปจ่ายงานตามบ้าน ประมาณ 60,000 หลังคาเรือน ได้ค่าจ้างชิ้นละ 70 บาท พอมาเลย์มารับสินค้า ก็ไปปั๊ม เมด อิน มาเลเซีย ได้กำไรอย่างน้อย 100 บาทต่อผืน"

            "ถ้าอย่างนี้เราโหมไปเลยดีมั้ย ให้ทุกตำบล ตำบลละ 1 ล้านบาทเป็นกองทุน ไปซื้อผ้าจากญี่ปุ่นมาเลย เป็นเถ้าแก่ไปเลย สร้างรายได้ และส่วนต่างของกำไรก็จะอยู่ในพื้นที่ แต่นี่เราเอาแค่ค่าแรงเท่านั้น ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่คิดว่าต้องเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา"

เชื่อมั่นการเมืองในระบบ

          การตัดสินใจก้าวเข้าสู่ "การเมืองในระบบรัฐสภา" ของ "หมอแว" ทำให้เกิดคำถามว่า เขามั่นใจขนาดไหนว่าวิถีทางที่กำลังเลือกเดินจะนำไปสู่เป้าหมายที่วาดหวังเอาไว้ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า เขาเองก็ถูก "การเมือง" เล่นงานมาอย่างบอบช้ำ

          ประเด็นนี้ หมอแว ไขข้อข้องใจว่า การเมืองในระบบรัฐสภาก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการเมืองภาคพลเมืองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

          "ปัญหามันเลยมามากแล้ว การเมืองในระบบตัวแทนจึงสามารถคลี่คลายได้สำหรับบางสถานการณ์ และคลี่คลายความเดือดร้อนของประชาชนบางกลุ่มบางกรณีได้ แต่สำหรับอีกบางกลุ่ม คงเอื้อมไปไม่ถึง อย่างเช่นขบวนการที่ต่อสู้อยู่ในพื้นที่ ขบวนการเหล่านี้จะไม่สนใจเรื่องการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่วิถีที่กลุ่มขบวนการเชื่อ"

          อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่ หมอแว ให้ความสำคัญมากกว่า คือประชาชน 90% ในสามจังหวัด ซึ่งเขาเชื่อว่าการเมืองในระบบตัวแทนสามารถช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้

          "ผมคิดว่ายังคงต้องอาศัยระบบตัวแทนในการสะท้อนปัญหาของประชาชน เพื่อเป็นช่องทางในการทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศ กับรัฐบาล พร้อมทั้งตรวจสอบ ติติง และเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อฝ่ายบริหาร โดยใช้เวทีรัฐสภา เว้นแต่ว่านักการเมืองของสามจังหวัดจะมีโอกาสได้ไปเป็นฝ่ายบริหาร ได้พูดคุยเชิงนโยบายโดยตรงกับผู้บริหารประเทศ  แบบนั้นก็จะช่วยมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง"

          ทว่า "การเมืองภาคพลเมือง" ก็เป็นอีกบริบทหนึ่งที่เขาไม่เคยทิ้ง

            "บทบาทของพรรคการเมืองไม่ใช่การได้มาซึ่ง ส.ส.เพียงอย่างเดียว เพราะพรรคการเมืองเป็นสถาบันหนึ่งที่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนจะมีตัวแทนในสภาหรือไม่เป็นอีกเรื่อง และสำหรับพวกผม คิดว่าแม้ไม่มีตัว ส.ส.ในสภา ก็สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในลักษณะการเมืองภาคพลเมืองที่ผมทำมานานกว่า 10 ปี แต่ถ้ามี ส.ส.อยู่ในสภา ก็น่าจะดีกว่า"  เขากล่าวแบบแย้มร่องรอยในความคิด

รัฐยังไม่อยู่ในหัวใจชาวบ้าน

          เมื่อ ณ วันนี้ "หมอแว" มีจุดยืนอยู่ในอาณาเขตของการเมืองในระบบตัวแทน จึงน่าสงสัยไม่น้อยว่า เขาคิดอย่างไรกับกลุ่มคนที่ยังเคลื่อนไหวต่อสู้ในลักษณะใต้ดิน เพื่ออุดมการณ์บางอย่างในสามจังหวัดชายแดน

          แต่ หมอแว ก็ตอบอย่างชาญฉลาดว่า เขาและเครือข่ายไม่เคยได้มีโอกาสพบเจอกับกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่

          "ผมก็อยากจะเจอคนเหล่านี้ อยากจะคุยว่าเขาคิดอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน พวกเราที่ทำงานภาคประชาสังคมไม่มีโอกาสได้พบกับคนกลุ่มนี้เลย ประการหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาไม่เปิดตัว ขณะที่ข้อมูลการข่าวที่เกี่ยวกับคนเหล่านั้น ก็เป็นความลับของทางราชการ"

          แต่ หมอแว ก็ให้ข้อคิดเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเด็นหลักที่ต้องคำนึงถึงคือประชาชน 90% เพราะทันทีที่เรา "แตะ" ฝายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่ารัฐหรือขบวนการ จะเป็นอุปสรรคในการทำงานสำหรับคน 90% ทันที

          "แม้พวกผมในพื้นที่จะไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนในขบวนการ แต่ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับประชาชนที่ต้องสัมผัสกับกลุ่มขบวนการ และรู้ว่าอารมณ์ของประชาชนเป็นอย่างไร โดยอารมณ์ของประชาชนในวันนี้คือ ฝ่ายรัฐยังไม่อยู่ในหัวใจของเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายโน้น เพียงแต่ความประทับใจยังไม่มากพอที่จะเทหมดหน้าตักเพื่อร่วมมือกับรัฐ"

          ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว หมอแว จึงฟันธงว่า ข้อเสนอเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" ที่หลายฝ่ายแสลงใจ ก็ยังไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา ยิ่งไปกว่านั้น การเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับกลุ่มขบวนการ นับวันก็จะยิ่งแหลมคมขึ้น ด้วยวิวัฒนาการที่แต่ละฝ่ายสั่งสมจากความยือเยื้อของปัญหา

          "สถานการณ์ ณ วันนี้ ผมบอกได้เลยว่าเข้มแข็งขึ้นทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐและกลุ่มที่เคลื่อนไหว ฉะนั้นการปฏิบัติของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น จนกระทั่งในบางครั้งมันก็เกินจากสิ่งที่เรายอมรับได้ รวมทั้งเกินกว่าที่ประชาชนจะยอมรับได้"

             และนั่นน่าจะเป็นคำตอบของคำถามอันหลากหลายเกี่ยวกับตัว "หมอแว" รวมถึงอนาคตของเขาบนเส้นทางสายการเมือง!