Skip to main content

 

ชาวไทยมุสลิมไปทำพิธีฮัจย์น้อยลงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี

 

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ 
ปัตตานี และ นราธิวาส
 
    TH-hajj-1000
    ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เข้าอบรมความรู้ในการเดินทางไปทำพิธีฮัจย์ในปีนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลาม นราธิวาส วันที่ 25 เมษายน 2560
     เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ผู้อำนวยการกองกิจการฮัจย์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในวันนี้ (26 เม.ย. 2560) ว่า ในขณะที่ประเทศไทยได้โควต้าในปีนี้สำหรับผู้เดินทางไปทำพิธีฮัจย์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็น 13,000 คน ทว่ากลับมีคนลงทะเบียนไปทำพิธีในขณะนี้ ไม่ถึง 9,000 ราย เนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

    "จำนวนโควตาทั้งประเทศปีนี้ 13,000 คน ถือว่า ได้จำนวนโควตาเพิ่ม แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทำให้มีผู้ที่มายืนยันสิทธิ์ที่พร้อมจะไปแสวงบุญ แค่ 8,833 คน" นายนะรี คงบันนึก ผู้อำนวยการกองกิจการฮัจย์ ศอ.บต. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    เมื่อปีที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียให้โควต้าแก่ชาวมุสลิมไทย ที่มีอยู่ประมาณสี่ล้านคน เดินทางไปทำพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮ์ทั้งสิ้น 10,400 คน มีผู้เดินทางจริง 9,602 คน และประเทศไทยได้เจรจาผ่านทางสถานทูตซาอุดิอาระเบียจนได้โควต้าเพิ่มเติม

    นางสาปีนะ ตาเละ ชาวจังหวัดปัตตานี เป็นชาวมุสลิมคนหนึ่งที่ตั้งใจจะไปประกอบพิธีฮัจย์สักครั้งหนึ่งในชีวิต พร้อมด้วยสามี แต่ในปีนี้ต้องยกเลิกการเดินทาง ทั้งๆ ที่ได้จ่ายค่ามัดจำการเดินทางกับเอเย่นต์ไว้ก่อนแล้วจำนวน 100,000 บาท ซึ่งต้องมีเงินเพิ่มเติมอีก 300,000 บาท ในขณะที่ผลผลิตยางมีราคาต่ำและได้รับผลกระทบจากฝนชุก

    “ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหาร ระหว่างอยู่ในพิธี 400,000 บาท จ่ายไปแล้ว 100,000 บาท ขาดอีกสามแสน และเราก็ต้องมีเงินติดตัวเราด้วย อย่างน้อยอีกห้าหมื่น เผื่อว่าเจอปัญหาซื้อของฝากกลับมาให้ลูกหลาน รวมๆ แล้วอย่างต่ำต้องเก็บเงินให้ได้อีกสามแสนห้าหมื่นบาท แค่จะกินไปวันๆ ก็แย่แล้ว คงยากที่จะเก็บเงินจำนวนนั้นเพื่อไปทำฮัจย์ นอกจากขายต้นยางถึงจะได้ กลับมาเราจะทำอะไรกินอีก” นางสาปีนะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    ถึงแม้การทำฮัจย์ ไม่ได้เป็นการบังคับสำหรับคนที่ไม่มีเงิน แต่ในชีวิตของชาวมุสลิม เป็นสิ่งที่ควรทำสักครั้งหนึ่งในชีวิต แม้ว่าจะต้องเก็บเงินจำนวนมาก และใช้เวลานานก็ตาม

    ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 และเปลี่ยนสำนักเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย จากกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การดำเนินงานกิจการฮัจย์ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการปกครอง ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการในด้านต่างๆ ผ่านเครือข่าย เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น

    เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมานี้ ได้มีพิธีส่งมอบภารกิจของกองส่งเสริมกิจการฮัจย์ และกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ อย่างเป็นทางการ โดยนายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมศาสนา เป็นประธานการส่งมอบภารกิจฮัจย์ ให้แก่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง โดยมีนายอรุณ บุญชม อะมีรุ้ลฮัจย์ ประจำปี 2559 ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ผู้นำทางศาสนา ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหารจากกรมการศาสนาและกรมการปกครอง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

    ในส่วนการเตรียมความพร้อมให้ผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้นั้น เมื่อวานนี้ คณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส  นายศุภนัฐ  สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้เปิดการอบรมผู้ไปประกอบ พิธีฮัจย์ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้ที่จะเดินทางประกอบพิธีฮัจย์ รวม 700 คน เข้าร่วม เพื่อรับการอบรมความรู้เรื่องฮัจย์ ความช่วยเหลือ การดูแลความคุ้มครองผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้รับบริการอย่างเป็นธรรมตามกรอบศาสนาอิสลาม และตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องฮัจย์ประจำจังหวัด ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดนราธิวาส

    ด้านนายศุภนัฐ กล่าวว่า ศอ.บต. ได้ประสานการบินไทย ให้ความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญบินตรงจากสนามบินนราธิวาส ไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย ส่วนผู้แสวงบุญ ประเทศไทยในปีนี้ ทั้งหมดกว่า 8,000 คน และในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  มีผู้ลงทะเบียนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ รวมทั้งสิ้น 4,500 คน ทั้งหมดจะเดินทางโดยสายการบินจาก นราธิวาส หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ

    “ผมเดินทางไปแสวงบุญแล้วหลายครั้ง และปีนี้จะไปอีกครั้ง ส่วนผู้รับอบรมมีทั้งรายใหม่กว่า 80 เปอร์เซ็น ที่จะเดินทางไปแสวงบุญครั้งแรก การรับการอบรมจะมีค่าอย่างยิ่งต่อการปฎิบัติศาสนากิจ ที่จะนำไปไปปฎิบัติให้เกิดประโยชน์กับผู้แสวงบุญ เกิดความปลอดภัย และได้ทำกิจศาสนาอย่างเต็มรูปแบบ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะเดินทางราวปลายเดือนกรกฏาคม 2560 ที่จะถึงนี้” นายอดิมาน สติยมานะ ชาวสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ผู้ที่เดินทางแสวงบุญ ณ นครมักกะฮ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์