Skip to main content

 

การแตกสลายของโลกมุสลิม

 

บรรจง บินกาซัน

 

 

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 7 อาณาจักรโรมันไบแซนตินและอาณาจักรเปอร์เซียเป็นสองมหาอำนาจที่แย่งชิงความเป็นใหญ่อยู่เหนือคาบสมุทรอาหรับมานานนับร้อยปี แต่หลังจากนบีมุฮัมมัดสถาปนารัฐอิสลามแห่งมะดีนะฮฺขึ้นได้ไม่นาน อาณาจักรเปอร์เซียและดินแดนที่เรียกว่า “อัชชาม” ซึ่งประกอบด้วยซีเรีย จอร์แดนและปาเลสไตน์ของอาณาจักรโรมันไบแซนตินก็ตกเป็นของมุสลิม

ถึงแม้จะมีความขัดแย้งภายในระหว่างตระกูลผู้ปกครอง แต่อาณาจักรอิสลามก็ขยายตัวออกไปทางตอนเหนือของอาฟริกา ข้ามช่องแคบญิบรอลตาเข้าไปรุ่งเรืองเป็นอีกอาณาจักรหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “อัลอันดะลุส” ในคาบสมุทรไอบีเรีย(สเปนปัจจุบัน) อาณาจักรอัลอันดะลุสเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8-15 และเป็นแหล่งต้นน้ำของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งที่มีขึ้นก็ย่อมมีลงเป็นธรรมดาเมื่อถึงวาระ ในที่สุด เมื่อชาติคริสเตียนรวมตัวกันกลับมายึดสเปน อาณาจักรอัลอันดะลุสก็ถึงคราวล่มสลายใน ค.ศ.1492 ในการยึดสเปนกลับคืนครั้งนั้น ชาวยิวและชาวมุสลิมได้ถูกกำหนดให้มีทางเลือกสามทาง คือ ออกไปจากสเปน หรือไม่ก็เป็นคริสเตียน หรือไม่ก็ตาย

ส่วนในทางตะวันออก เมืองแบกแดดที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของอาณาจักรอิสลามได้ถูกพวกมองโกลภายใต้การนำของฮูลากู ข่านทำลายใน ค.ศ.1258 แต่หลังจากนั้น พวกเติร์กซึ่งเป็นชนชาติเร่ร่อนในคาบสมุทรอนาโตเลียก็ได้ขึ้นมามีอำนาจและตั้งอาณาจักรออตโตมานเติร์กขึ้นมาโดยใช้กฎหมายอิสลามเป็นธรรมนูญในการปกครองจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20

ในตอนปลายสมัยของอาณาจักรออตโตมาน ตัวแทนชาวยิวที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโลกประมาณ 200 คนได้นัดประชุมกันที่เมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ.1897 และได้มีมติก่อตั้งขบวนการไซออนิสต์ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการก่อตั้งอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินปาลเลสไตน์เพื่อให้เป็นประเทศของชาวยิวโดยเฉพาะ เริ่มแรก ตัวแทนชาวยิวได้วิ่งเต้นขอให้รัฐบาลอังกฤษช่วยหาดินแดนที่จะใช้ก่อตั้งประเทศสำหรับชาวยิวก่อน แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษเสนอประเทศอูแกนดาให้ ตัวแทนชาวยิวได้ปฏิเสธ

เนื่องจากปาเลสไตน์เป็นดินแดนที่อยู่ในการปกครองของอาณาจักรออตโตมาน นายธีโอดอร์ เฮอร์เซิล หัวหน้าขบวนการไซออนิสต์จึงได้เข้าพบสุลต่านอับดุลฮามิดแห่งอาณาจักรออตโตมานเพื่อขอซื้อดินแดนปาเลสไตน์

ในหนังสือที่มีชื่อว่า “The Diaries of Theodor Herzl” (อนุทินของธีโอดอร์ เฮอร์เซิล)ซึ่งตีพิมพ์ในกรุงเทลอาวีฟ ค.ศ.1934 สุลต่านอับดุล ฮามิดแห่งตุรกีได้ให้เหรียญอันหนึ่งแก่ธีโอดอร์ เฮอร์เซิลเป็นของขวัญใน ค.ศ.1902 พร้อมกับจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวว่า :

“แจ้งดร.เฮอร์เซิลให้เลิกล้มความพยายามทั้งหลายเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐยิวในปาเลสไตน์เสียเถิด ถ้าอาณาจักรออตโตมานแตกสลายเมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละที่ยิวจะได้ปาเลสไตน์”

หลังจากนั้นไม่นาน อาณาจักรออตโตมานเติร์กก็แตกสลายเมื่อสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อแพ้สงคราม อังกฤษและฝรั่งเศสที่เป็นผู้นำฝ่ายพันธมิตรก็เข้ามาเฉือนแผ่นดินของอาณาจักรออตโตมานออกเป็นประเทศต่างๆ จนอาณาจักรออตโตมานที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองดินแดนในสามทวีปเหลือพื้นที่เพียงประเทศตุรกีในปัจจุบัน การปกครองโดยกฎหมายอิสลามที่ดำเนินมานับพันปีได้สิ้นสุดลงใน ค.ศ.1924 มิเพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญใหม่ของสาธารณรัฐตุรกียังถือว่ากิจกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับอิสลามถือเป็นสิ่งต้องห้ามด้วย

นับแต่นั้นมา ประเทศมุสลิมเกิดใหม่ก็มีระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจแปลกใหม่ที่หลากหลายเข้ามาใช้ตามความต้องการของชาติมหาอำนาจที่เข้ามาปกครองแทนระบบอิสลาม เช่น จอร์แดนและซาอุดิอาระเบียปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ อียิปต์ ซีเรียและอิรักปกครองแบบสังคมนิยมอาหรับ เป็นต้น

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาติมหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลและปกครองชาติมุสลิมนี้เอง ปรากฏว่าสภาพความเสื่อมทรามทางศีลธรรมได้แพร่กระจายในโลกมุสลิมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยเหตุนี้ นักกิจกรรม นักวิชาการและผู้นำทางศาสนาหลายคนที่มองเห็นกับดักแห่งความหายนะจากวัฒนธรรมวัตถุนิยมแบบตะวันตกจึงได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มุสลิมในประเทศต่างๆหันกลับไปสู่อิสลามอีกครั้งหนึ่งเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับคืนมาสู่วิถีชีวิต

นักเคลื่อนไหวบางคนสามารถก่อตั้งองค์กรขนาดใหญ่ของตนขึ้นมาในประเทศมุสลิมบางประเทศเพื่อเรียกร้องการปกครองแบบอิสลาม เช่น อิควาน อัลมุสลิมูน (ภราดรภาพมุสลิม) ในอียิปต์ แต่ก็ต้องถูกกวาดล้างทำลายแม้จะเดินเข้าสู่อำนาจการปกครองโดยการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยที่ชาติตะวันตกต้องการก็ตาม เช่นเดียวกับในตุรกีและประเทศอื่นๆ

วันนี้ ประชาชาติมุสลิมตระหนักแล้วว่าประชาธิปไตยมิได้เป็นระบอบการปกครองที่ชาติมหาอำนาจต้องการแต่อย่างใดถ้าวิถีประชาธิปไตยนั้นนำมาซึ่งอำนาจรัฐที่ขัดผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ ระบอบการปกครองที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกต้องการคือการปกครองระบอบอะไรก็ได้ที่รักษาผลประโยชน์ของตน