Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
 
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2553 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เปิดเผยว่า ปลายเดือนตุลาคมนี้ ศูนย์เฝ้าระวังฯ และกลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (Deep South Photojournalism - DSP) ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “ภาพข่าวจังหวัดชายแดนใต้”  ขึ้นที่บริเวณสนามหญ้าริมสระน้ำ ภายในโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา ในระหว่างวันที่ 30 - 31 ตุลาคม 2553 เวลา 16.00 – 19.30 น. และที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park) ในระหว่างวันที่ 2 - 7 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09.00 – 19.30 น. โดยกิจกรรมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้ภาพถ่ายเป็นตัวสะท้อนแง่มุมอันหลากหลายในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือชักชวนผู้คนในสังคมให้เกิดการตั้งคำถามต่อแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในปัจจุบัน รวมถึงกระตุ้นให้ตระหนักถึงวิถีทางของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้ ภาพที่จะจัดแสดงเป็นภาพที่บันทึกโดยช่างภาพข่าวและช่างภาพอิสระในพื้นที่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงและความเจ็บปวดของผู้คนมากมาย
 
จากบทเรียนความขัดแย้งหลายครั้ง ช่างภาพข่าว หรือ Photojournalist คือ ผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่รายงานข่าวความจริงที่เกิดขึ้น และตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ด้วยภาพ เพราะการที่ต้องอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกเหตุการณ์ ด้านหนึ่งจึงเป็นพยานแห่งความจริง และผู้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์
 
เขากล่าวอีกว่า แม้ภาพที่บันทึกไว้จะมีอยู่จำนวนมากและหลากหลายแง่มุม แต่พื้นที่สื่ออันจำกัดและมุมมองนโยบายในการคัดเลือกภาพข่าวของแต่ละองค์กรข่าวที่แตกต่างกันก็เป็นปัจจัยที่ลดทอนความจริงของเหตุการณ์หรือเล่าเรื่องให้เหลือเพียงความรุนแรงด้านเดียว ขณะที่ภาพข่าวนำเสนอมุมมองเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และมุมมองที่สะท้อนข้อเสนอของกลุ่มคนต่างๆ ที่แตกต่างกลับไม่เป็นที่ปรากฏนัก
 
DSP ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มกันของช่างภาพสื่อมวลชนและช่างภาพอิสระในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีความตั้งใจและเชื่อว่าเรื่องราวที่จะสื่อสารสู่สาธารณะผ่านภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ จะเป็นภาพถ่ายที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ภายใต้แนวคิดภาพถ่ายเพื่อสันติภาพ เพราะที่ผ่านมาช่างภาพแต่ละคน แต่ละสังกัด ต่างคนต่างทำงาน ครั้งนี้เราจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้วยการมาช่วยกันคิดว่าจะสื่อสารด้วยภาพอย่างมีเป้าหมายร่วมกันอย่างไร” ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าว
 
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังกล่าวอีกว่า ช่างภาพข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นยังมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนช่างภาพทั่วไปในสังคมไทย เนื่องจากหากเป็นช่างภาพที่อื่นที่อาจจะได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ขัดแย้งบ้าง แต่ก็เหตุการณ์ความรุนแรงก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ช่างภาพชายแดนใต้คือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่ต่างจากผู้คนในพื้นที่ และทำงานอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง การรวมตัวของช่างภาพกลุ่มนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการยกระดับวิชาชีพช่างภาพข่าวในประเทศไทยที่มิได้มีบทบาทหรือดำรงตนเป็นลูกจ้างองค์กรสื่อแต่เพียงด้านเดียว แต่มีฐานะเป็นวิชาชีพหนึ่งซึ่งมีความหมายและความสำคัญต่อสังคมในฐานะประจักษ์พยานเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ในระดับสากลนั้น การรวมตัวกันของช่างภาพข่าวจะทำให้พวกเขามีสถานะในทางวิชาชีพและมีพลังต่อรองกับองค์กร นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งการกำหนดมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ จริยธรรม ข้อตกลงอื่นๆ ก่อเกิดกิจกรรมที่สามารถสร้างจินตนาการและข้อเสนอต่อสังคมไทย รวมทั้งประชาคมโลกได้
 
ทั้งนี้ มีรายงานข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า นับตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว มีเหตุการณ์ร้ายในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เกิดขึ้นประมาณ 10,284 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4,390 ราย บาดเจ็บ 7,193 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2553)
 

หมายเหตุ: กลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (Deep South Photojournalism - DSP) เป็นการรวมกลุ่มกันของช่างภาพข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวและบันทึกภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และกลุ่มช่างภาพอิสระจำนวนหนึ่งในพื้นที่

 

DSP Interview

DSP Interview : "ช่างภาพต้องพยายามถ่ายภาพให้หลากหลาย ... ภาพความรุนแรง ถ้าตามหน้าที่ก็ต้องถ่าย แต่ก็ต้องถ่ายอีกมุมด้วย มุมด้านดี ต้องนำเสนอให้สมดุล" Via : นครินทร์ ชินวรโกมล ช่างภาพข่าวชายแดนใต้ จ.ยะลา
http://www.deepsouthwatch.org/node/1057

 

DSP Interview : "การเข้าไปทำงานในแต่ละเคส ต้องมีการประเมิน ต้องรู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดอะไรขึ้น มีการยิงปะทะ มีระเบิด หรือมีการปิดล้อม ต้องประเมินว่าจะเข้าเส้นทางไหน ให้สะดวกและปลอดภัยมากที่สุด ... เราทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว มันคนละหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ ทำอย่างไรให้ได้ภาพออกมา ให้มีความสมบูรณ์ที่สุดในด้านเนื้อหาของภาพ เพราะเราอยู่นานไม่ได้" Via : จรูญ ทองนวล ช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (ศูนย์ภาพเนชั่น)
http://www.deepsouthwatch.org/node/1058

DSP Interview : ".. พยายามถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่ออกมาในเชิงบวก เพื่อสื่อสารให้คนข้างนอกดูว่า ข้างในปัตตานี ในสามจังหวัดภาคใต้ มีอะไรที่สวยงาม ที่น่าศึกษามากมาย นอกจากสิ่งที่เราได้รับจากข่าวสารในทางลบอย่างทุกวันนี้ .." Via : ฟูอัด แวสะแม ช่างภาพอิสระกลุ่ม Seed จ.ปัตตานี
http://www.deepsouthwatch.org/node/1059

DSP Interview : "งานที่ตัวเองทำ เป็นงานที่ต้องลงพื้นที่และเก็บภาพ แต่ว่าอยากได้ความรู้ในการถ่ายภาพและก็หามุมมองที่ตัวเองชอบ เพื่อถ่ายทอดให้กับคนข้างนอกให้เห็นกิจกรรมและภาพที่เราถ่าย เพื่อจะได้รู้ลึกเหมือนกับเรา" Via : มัณฑนา แท่นบำรุง กลุ่มบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน
http://www.deepsouthwatch.org/node/1060

DSP Interview : "การถ่ายภาพถือว่าเป็นสื่อชนิดหนึ่ง ทำให้ผู้คนได้รับรู้ ได้เห็น และได้ประจักษ์ เกี่ยวกับความงามในพื้นที่..." Via : อนุสรณ์ นินวน (บล็อกเกอร์และช่างภาพอิสระ - ข้าราชการครูชายแดนภาคใต้)
http://www.deepsouthwatch.org/node/1061