แถลงการณ์ร่วมองค์กรสิทธิมนุษยชน: คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน

ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมิได้เป็นการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนแต่กลับเป็นการแทรกแซงและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน โดยในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวระบุให้ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ต้องได้รับใบอนุญาตโดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มาจากกลุ่มบุคคล ซึ่งมีตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมด้วย ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตวิชาชีพสื่อมวลชนได้อันเถือได้ว่าเป็นการเปิดทางให้มีการแทรกแซงสื่อได้นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)และองค์กรข้างท้ายขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้

๑. “เสรีภาพของประชาชน” หมายความเชื่อมโยงถึง “เสรีภาพของสื่อมวลชน”ด้วย ถือเป็นหลักการสำคัญของสิทธิเสรีภาพที่สำคัญประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย ในแง่ที่ว่าหากจะมีการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังนั้นการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล จักต้องคำนึงถึงหลักการเรื่องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วยอย่างเคร่งครัด

๒. แนวคิดในการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นจักต้องอยู่บนพื้นฐานร่วมกันว่า สื่อมวลชนมีเสรีภาพควบคู่ไปกับ หรือถูกกำกับภายใต้ความรับผิดชอบที่สื่อมวลชนพึงมีต่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งประชาชนหรือผู้บริโภคสื่อย่อมสามารถใช้วิจารณญาณในฐานะวิญญูชนที่จะวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง อันเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาเรียนรู้และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมร่วมกันในสังคมนั้นๆเอง

๓.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเรื่องเสรีภาพในการรับ แสวงหาและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็น โดยต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อการแสดงความคิดเห็น หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมของสังคม ซึ่งสื่อมวลชนยังต้องได้รับการกำกับภายใต้กฎหมายหลายฉบับ ทั้งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา กฎหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรม กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา กฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร กฎหมายว่าด้วยคอมพิวเตอร์ กฎหมายด้านการจดแจ้งการพิมพ์ ฯลฯ โดยกฎหมายแต่ละฉบับก็มีเจ้าพนักงานของรัฐกำกับดูแลและควบคุมให้สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบต่อบุคคลและต่อสังคมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนอีก

ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สสส.และองค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ดังนี้

๑. ให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. ในประเด็นเรื่อง การออกใบอนุญาตสื่อมวลชน และคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้ปลอดจากการมีหน่วยงานภาครัฐเป็นกรรมการ เพื่อให้การกำกับดูแลจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนกระทำโดยผู้แทนของสื่อมวลชนด้วยกันเอง

๒. สนับสนุนให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่เป็นการกำกับดูแลกันเองระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน แขนงต่างๆ ให้มาจดแจ้งการเป็นองค์กรสื่อมวลในกลุ่ม หรือแขนงของตนเอง กำกับดูแลจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเป็นการจัดระเบียบองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยกำหนดจำนวนองค์กรวิชาชีพขั้นต่ำไว้เพื่อมิให้มีการจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มากจนเกินไป จนไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้

๓. สภาวิชาชีพสื่อมวลชนควรมีลักษณะที่แตกต่างจากองค์กรวิชาชีพอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง แต่รับการกระจายอำนาจเพียงบางส่วน เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจฝ่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ รัฐ และการเมือง โดยให้ใช้อำนาจศาลในการดำเนินการกำกับดูแลชี้ขาดในการตรวจสอบจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ

การกำกับดูแลด้วยกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น โดยที่รัฐเข้ามาดูแลกำกับน้อยที่สุด รัฐและสังคมต้องให้ความเชื่อมั่นว่าสื่อมวลชนมีศักยภาพ ในการกำกับดูแลกันเอง เพื่อผดุงไว้ซึ่งการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความรับผิดชอบต่อสาธารณะต่อไป

 

ด้วยความเชื่อมั่นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ณ วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๐

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)

ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)