Skip to main content

 

30 องค์กรสื่อยื่นหนังสือค้าน พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ส่วน สปท. เห็นชอบ 141 เสียง

 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
กรุงเทพฯ
    TH-press-620
    นักข่าวจำนวนมากห้อมล้อม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันลงประชามติรัฐธรรมนูญ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559
     เอเอฟพี
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันจันทร์ (1 พฤษภาคม 2560) นี้ ตัวแทน 30 องค์กรสื่อมวลชนยื่นหนังสือให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ที่รัฐสภา เพื่อขอให้ สปท.ยกเลิกการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ) ที่สื่อมวลชนเชื่อว่าเป็นกฎหมายซึ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่หลังการพิจารณา สปท. มีมติเห็นชอบผ่าน พ.ร.บ.คุมสื่อฯ 141 ต่อ 13 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง โดยให้แก้บางมาตรา และตัดบทลงโทษออก

    นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทน 30 องค์กรสื่อมวลชน เปิดเผยว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อให้ สปท.ถอนร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯออกไป เพราะถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอของสื่อมวลชน และประชาชน

    “ไม่พอใจและไม่ไว้ใจด้วย ในเมื่อฐานรากที่เป็นเสาเข็มของบ้านมันไม่ดี แม้จะเปลี่ยนหน้าต่าง เปลี่ยนประตูยังไง ฐานรากก็ยังไม่ดีอยู่ดี ดังนั้นก็ยกร่างทำใหม่ทั้งหมด แล้วตอนนี้ที่เห็นได้ สปท.ก็จะหมดอายุอยู่แล้ว ก็ควรเอาร่างกฎหมายฉบับนี้ตีตกไป แล้วก็นำมาพิจารณายกร่างกันใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามายกร่างแล้วก็เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ” นายปราเมศกล่าว

    โดยองค์กรสื่อ 30 องค์กรรวมตัวกันในนาม “คณะทำงานสื่อเพื่อการปฎิรูป” ได้ชี้แจงเหตุผลที่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ โดยสรุปดังนี้

    1. การนิยามความหมายของสื่อมวลชนในกฎหมายฉบับนี้อาจครอบคลุมถึงประชาชนทั่วไปที่วิพากษ์-วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวสาร ซึ่งอาจทำให้คนเหล่านั้นถูกผูกพันทางกฎหมาย และอาจผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

    2. การกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ขัดต่อหลายมาตราในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุว่า ประชาชนไทยมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผ่านการพูด สิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นๆ

    3. การกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ไม่ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียน และองค์กรสื่อที่รับผู้ที่ไม่จดทะเบียนเข้าปฏิบัติงาน ระบุโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี และปรับ 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ เป็นโทษที่สูงเกินไป

    4.การมีตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.คุมสื่อฯ อาจทำให้เกิดการขัดกันทางหน้าที่ หรือเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

    อย่างไรก็ตามช่วงบ่าย สปท. มีความเห็น 141 ต่อ 13 เสียง งดออกเสียง 17 เสียงผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ โดยมีความเห็นให้แก้บางมาตรา เช่น กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จึงจะสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ และปรับบทลงโทษที่ถือว่าสูงเกินไป ของผู้ไม่มีใบอนุญาตสื่อออกไป

    โดย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวในที่ประชุมว่า พ.ร.บ.คุมสื่อฯจะถูกปรับแก้ในบางส่วนที่ องค์กรวิชาชีพสื่อมีความกังวล อย่างไรก็ดีให้คงไว้ในหลายมาตรา แม้มีเสียงคัดค้านเช่นกัน

    “ที่ผ่านมาองค์กรสื่อมวลชนได้มีกลไกให้กรรมการดูแลกันเองทางจริยธรรม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กระบวนการและกลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ฉะนั้นเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ ตลอดจนการกำกับดูแลกันเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรกำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” พล.อ.อ.คณิตกล่าว

    ทั้งนี้ สปท.ยังคงให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน แต่ได้ปรับลดสัดส่วนตัวแทนคณะกรรมการฯจากภาครัฐจาก 4 คน เหลือ 2 คน และเพิ่มสัดส่วนให้มีคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากสื่อเพิ่มเป็น 7 คน

    โดยขั้นต่อไป พ.ร.บ.คุมสื่อฯ จะถูกส่งคืนไปให้ กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชนแก้ไข แล้วจะส่งให้ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาตามลำดับ

    เมื่อเดือนมกราคม 2560 สมาคมวิชาชีพสื่อฯ 30 สมาคม เคยเรียกร้องให้มีการยกเลิกการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ฉบับนี้แล้วหนึ่งครั้ง เนื่องจากสื่อมวลชนมองว่า หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จริง จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และรัฐบาลอาจสามารถเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อผ่าน สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกบางส่วนเป็นข้าราชการประจำ และช่วงเดือนเมษายน 2560 นี้ ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ถูกวิจารณ์อีกครั้ง เนื่องจากพบว่า มีการระบุให้ สื่อมวลชนจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพสื่อมวลชน และการตีความหมายของอาชีพ “สื่อมวลชน” อาจกว้างขวางครอบคลุมไปถึงสื่อพลเมือง หรือผู้ที่ทำหน้าที่วิพากษ์-วิจารณ์สังคมผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย ซึ่งถือเป็นการริดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

    ไม่มีสื่อประเทศใดที่ต้องมีใบอนุญาต

    นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า

    “ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาค่อนข้างจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เราขอเรียกร้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่ากฎหมายอะไรที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ควรที่จะรับฟังความเห็นให้มันรอบด้านกว่านี้ ไม่ใช่ร่างกฎหมายโดยคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสื่อ หรือร่างโดยทหาร เป็นไปได้ไหม กฎหมายฉบับนี้ควรออกในรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรอยู่ในบรรยากาศของการเรียกไปปรับทัศนคติ หรือคว่ำเวทีเสวนา”

    “โดยรวมของกฎหมายฉบับนี้มันเป็นการกวาดต้อนสื่อออนไลน์ให้เข้าอยู่ในระบบ และรัฐเองอาจจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ หรือควบคุมสื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมันค่อนข้างเป็นกฎหมายที่ย้อนยุค เนื่องจากโซเชียลมีเดียมันไม่สามารถควบคุมได้ เว้นแต่ให้ความจริงไปต่อสู้กัน” นายชัยฤทธิ์กล่าวเพิ่มเติม

    ส่วน นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) แสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ผ่านเบนาร์นิวส์ว่า หากกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้จริง จะทำให้สื่อมวลชนไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นความล้าหลัง

    “ถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมาจะแปลงสภาพของสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพกลับไปสู่การควบคุมโดยภาครัฐ เพราะกฎหมาย นิยามคำว่าสื่อครอบคลุมสื่อทุกประเภททั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ไปถึงสื่อดิจิทัล ที่สำคัญจะควบคุมประชากรสื่อ และจำกัดบทบาทของสื่อภาคประชาสังคมที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” นางกุลชาดากล่าว

    นางกุลชาดากล่าวเพิ่มเติมว่า ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วจัดการกับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวผิดจรรยาบรรณ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ที่สามารถใช้ฟ้องร้องเอาผิดกับสื่อมวลชนได้ เป็นต้น

    “ไม่มีสื่อประเทศไหนที่มีใบอนุญาต เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีประเทศไหนที่นักข่าวต้องมีใบอนุญาต แม้แต่ในประเทศสังคมนิยมเช่น เวียดนามกับลาว สื่อเป็นของรัฐ สื่อจำเป็นต้องสังกัดองค์กรวิชาชีพ และมีบัตรนักข่าวที่ออกโดยรัฐ แต่มันไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งกรณีของประเทศไทย ต้องดูด้วยว่าเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อควบคุมสื่อโดยจำเป็นหรือไม่ในสภาพปัจจุบัน”