|| The Questions of Life: 6/6 ||
“อิบาดะฮฺ” ในที่นี้คืออะไร? ความจริงการ “อิบาดะฮฺ” ต่ออัลลอฮฺ ไม่จำกัดเพียงการละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอด การบำเพ็ญฮัจญ์ การซิกิรฺ การดุอาอ์ การอ่านอัล-กุรอาน การอิสติฆฟารฺ ดังที่มุสลิมบางคนเข้าใจ ซึ่งพวกเขาส่วนมากเข้าใจว่าเมื่อพวกเขาได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว หมายความว่าพวกเขาได้ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ต่ออัลลอฮฺอย่างสมบูรณ์ จริงอยู่ว่า “อิบาดะฮฺ” เหล่านี้เป็นรุก่น (หลักการ) พื้นฐานของการเป็นมุสลิมที่มีความสำคัญและสูงส่งยิ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็น “อิบาดะฮฺ” ต่ออัลลอฮฺเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นอิบาดะฮฺทั้งมวลตามที่อัลลอฮฺได้ทรงประสงค์ไว้ มันเป็นความจริงที่ว่ามนุษย์ถูกอัลลอฮฺสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานและจุดมุ่งหมายให้ “อิบาดะฮฺ” ต่อพระองค์ และให้ “อิบาดะฮฺ” เป็นเป้าหมายของชีวิตและหน้าที่ของเขาบนโลกนี้ ซึ่งขอบเขตของ “อิบาดะฮฺ” ที่กว้างไกลนั้นคือ ขอบเขตที่ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน
“อิบาดะฮฺ” เป็นคำนามที่รวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานและเห็นชอบ (ริฎอ) ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ ทั้งลักษณะที่ปรากฎออกมาให้เห็นภายนอกและสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ทุกอะมัลที่เป็นฟัรฎุ (การงานที่บังคับ) และทุกอะมัลที่เป็นสุนัต (การงานที่ส่งเสริมในกระทำ) ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ “อิบาดะฮฺ” เมื่อเราเข้าใจศาสนาและคำสอนทั้งมวลว่าล้วนเป็น “อิบาดะฮฺ” แล้ว และเมื่อเรารู้ว่าศาสนาเป็นระบบการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แก่มนุษย์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีทั้งการกำหนดขอบเขตพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เราจึงรู้ว่า “อิบาดะฮฺ” ต่ออัลออฮฺนั้นจะครอบคลุมถึงการดำเนินชีวิตในทุกด้าน รวมถึงกิริยามารยาท นับตั้งแต่การดื่ม การกิน การเข้าห้องน้ำ จนถึงการปกครอง การคลัง การทำสัญญาสันติภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ บทลงโทษต่อผู้กระทำผิด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าในยามสงบหรือในยามสงคราม
ความหมายของคำว่า “อิบาดะฮฺ” ในทางภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “อะบะดะ”, “อิบาดะฮฺ”, “อุบุดะฮฺ”, “อุบุดียะฮฺ” [عبد, عبادة, عبودة, عبودية] ชาวอาหรับโดยทั่วไปจะเข้าใจธรรมชาติของคำนี้ว่ามันหมายถึง การจงรักภักดี, การซื่อสัตย์ปฏิบัติตาม, การรู้สำนึกบุญคุณ , การนอบน้อมยอมมอบตน, การยอมรับเชื่อในอำนาจ, การเป็นทาสต่อผู้อื่น ; ไม่ว่าการจงรักภักดีจะมีลักษณะใดก็ตาม กล่าวกันว่า “อิบาดะฮฺ” เป็นสุดยอดของการภักดีทั้งหลาย และ “อิบาดะฮฺ” ที่แท้จริงคือ การภักดีที่ไม่กระทำต่อสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ
“อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดี” ได้เพิ่มเติมในความหมายของคำๆ นี้ว่า “อิบาดะฮฺ” คือ สุดยอดแห่งการยอมจำนน หรือการสยบทั้งมวล ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เป็นการยอมสยบต่อความสูงส่งและเดชานุภาพ ทั้งมอบความเคยชินและอิสรภาพของตนเอง ละทิ้งความขัดแย้งและความพยศต่อพระองค์ และยิ่งไปกว่านั้นคือ การที่เขาปฏิบัติตามการชี้นำ และคำบัญชาของพระองค์ทุกประการ นี่คือข้อเท็จจริงของการยอมมอบตน และการเป็นทาสของมนุษย์ (อุบุดียะฮฺ)
“ชัยคฺ มุฮัมมัด อับดุฮฺ” ได้ตั้งคำถามว่า “อิบาดะฮฺ” คืออะไร และมีความแตกต่างจากคำว่า “ซัลละ”, “อะฏอฺอะ”, “เคาะเฏาะอะ”, “เคาะนะอะ” หรือการสยบ ยอมรับ เชื่อฟัง และจงรักภักดีที่มีลักษณะอื่นๆ อย่างไร เพราะคำเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับความหมายของ “อะบะดะ” ซึ่งมาจากคำว่า “อิบาดะฮฺ” ซึ่งโดยทั่วไปจะสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ อย่างคำว่า “อุบุดียะฮฺ” หมายถึงการเป็นบ่าว หรือการเป็นทาส ซึ่งแน่นอนว่า จะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างการเป็นทาสของมนุษย์ต่อสิ่งอื่น กับการเป็นทาสของมนุษย์ต่ออัลลอฮฺ ดังนั้น “ชัยคฺ มุฮัมมัด อับดุฮฺ” จึงมีความเห็นว่า สิ่งที่แยกระหว่าง “อิบาดะฮฺ” กับการเคารพภักดีในลักษณะอื่นๆ มิใช่สุดยอดแห่งการภักดีและการยอมสยบจำนน ดังที่นักภาษาศาสตร์ได้กล่าวไว้ แต่มันคือต้นตอแห่งการเคารพภักดีที่เชื่อว่า สิ่งที่เขากราบไหว้ บูชา สักการะ นั้น มีความยิ่งใหญ่ มีพลังอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา มีอิทธิพลเหนือและสูงส่งกว่าปัญญาของมนุษย์จะนึกคิดได้ จึงจะเรียกว่า “อิบาดะฮฺ”
“ชัยคฺ อัล-อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ” ได้มอง “อิบาดะฮฺ” ในแง่ที่กว้างและลึกซึ้ง ท่านอธิบายว่า “อิบาดะฮฺ” ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดนั้นจะต้องเพรียบพร้อมไปด้วยสิ่งสำคัญสองประการ: สิ่งสำคัญประการแรกคือ การปฏิบัติตาม การผูกมัดตัวเองกับสิ่งที่อัลลอฮฺกำหนดและสิ่งที่ศาสนทูตได้เชิญชวน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งใช้ให้กระทำหรือคำสั่งห้าม สิ่งใดที่หะลาลและสิ่งใดที่หะรอม ซึ่งนอกจากจะยอมรับในอัลลอฮฺแล้ว จะต้องยอมรับปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ทั้งมวล การกระทำเช่นนี้ถึงจะบรรลุถึงความหมาย ...
إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เรา'อิบาดะฮฺ' (เคารพสักการะ) และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เรา'อิสติอานะฮฺ' (วิงวอนขอความช่วยเหลือ)” (อัล-ฟาติหะฮฺ 1:5)
สิ่งสำคัญประการที่สองคือ ความรัก ความลุ่มหลง ซึ่งหากปราศจากลักษณะนี้แล้ว จุดมุ่งหมายของ “อิบาดะฮฺ” ดังที่อัลลอฮฺทรงบัญชาไว้ก็จะไร้ผล การผูกพันตัวเองให้ปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ปฏิบัติ จะต้องเกิดจากหัวใจที่รักต่ออัลลอฮฺ ซึ่งไม่มีสิ่งใดในจักรวาลนี้ที่เราควรจะมอบความรัก ความภักดี นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงมีความโปรดปราน ความเมตตาที่ได้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งมวลที่มีในโลกนี้ เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทรงสร้างมนุษย์ในลักษณะที่ดีที่สุด ทรงให้เกียรติและให้ความสำคัญแก่มนุษย์เหนือสิ่งถูกสร้างใดๆ พระองค์ได้ประทานปัจจัยยังชีพที่ดี ทรงสอนให้พูดและเขียน ทรงให้มนุษย์เป็นตัวแทน (เคาะลีฟะฮฺ) ของพระองค์บนโลกนี้ ทรงเป่าวิญญาณเข้าไปในร่างมนุษย์และทรงบัญชาให้บรรดามลาอีกะฮฺก้มทำความเคารพต่อมนุษย์
ความจริง สิ่งที่เป็นพื้นฐานของความรักต่ออัลลอฮฺนั่นคือ ความรู้สึกสำนึกของมนุษย์ต่อความโปรดปรานของพระองค์ ความรู้สึกดึงดูดใจต่อความวิจิตรและความสบูรณ์ของพระองค์ ผู้ใดที่ชอบต่อการประกอบคุณธรรม (อิหฺสาน) อัลลอฮฺเท่านั้นเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์และผู้ทรงประทานให้ ผู้ใดชอบความสวยงาม อัลลอฮฺเท่านั้นเป็นที่มาของความวิจิตรทั้งมวล ผู้ใดชอบความสมบูรณ์ ก็ไม่มีความสมบูรณ์ที่แท้จริงเว้นแต่ความสมบูรณ์ของอัลลอฮฺเท่านั้น และผู้ใดที่รักตัวเอง แท้จริงแล้วอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสร้างเขาขึ้นมา ; “อิหม่าม อัล-เฆาะซาลีย์” ได้กล่าวว่า สาเหตุหรือลักษณะต่างๆ ดังกล่าว จะไม่มีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เว้นแต่ในอัลลอฮฺเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดที่มีสิทธิ์จะได้รับความรักที่แท้จริง นอกจากความรักที่ต้องมอบให้กับอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว
ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดรู้จักอัลลอฮฺ เขาจะต้องรักพระองค์อย่างแน่แท้ และยิ่งเขารู้จักอัลลอฮฺมากขึ้นเท่าใด เขาก็จะยิ่งรักอัลลอฮฺมากขึ้นเท่านั้น จากพื้นฐานเช่นนี้ ถือได้ว่า ท่านเราะสูลุลลฮฺฯ เป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺมากที่สุด เพราะท่านเป็นผู้ที่รู้จักอัลลอฮฺมากที่สุด ท่านจะรู้สึกมีความสุขและสงบใจเมื่อท่านอยู่ในละหมาด เพราะการละหมาดนั้นเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างท่านกับอัลลอฮฺ ท่านเราะสูลจึงคอยวิงวอนขอดุอาอ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะให้ท่านได้พบกับพระองค์ และสำหรับใครที่รักอัลลอฮฺ อัลลอฮฺได้ประทานบททดสอบรูปแบบหนึ่ง ดังที่ปรากฎในอายะฮฺอัล-กุรอาน ความว่า
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّـهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّـهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَاللَّـهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ
“จงกล่าวเถิด[มุฮัมมัด] ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อาลิ-อิมรอน 3:31)
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ใครที่รักอัลลอฮฺ เขาจะต้องปฏิบัติตามสุนนะฮฺ (วิถี) ของท่านเราะสูล และยอมรับยึดถือปฏิบัติในสิ่งที่ท่านเผยแผ่ เพราะท่านเราะสูลจะไม่ใช้ให้กระทำสิ่งใด นอกจากในสิ่งที่อัลลอฮฺรัก และท่านจะไม่เผยแผ่สิ่งใด เว้นแต่สิ่งที่อัลลอฮฺทรงชอบและพึงให้มีการปฏิบัติและศรัทธา ดังนั้นใครที่กระทำเช่นนี้ แท้จริงเขาได้กระทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักและอัลลอฮฺก็จะทรงรักเขาเช่นกัน
| อิบาดะฮฺ
ชัยค์ ยูสุฟ อัล-เกาะเราะฎอวีย์
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
The Questions of Life: 1/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ
The Questions of Life: 2/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ
The Questions of Life: 3/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ
The Questions of Life: 4/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ
The Questions of Life: 5/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ