ชายแดนใต้: เหตุสังหาร 6 ทหารพราน สร้างความวิตกต่อฝ่ายความมั่นคง
ปัตตานี
สามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มกลับสู่ความสงบอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน แต่ผู้คนในพื้นที่ก็ยังรู้สึกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองกำลังรักษาความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นเป้าของการโจมตีอย่างรุนแรงครั้งนี้
ผู้ก่อความไม่สงบได้โอกาสระบายความโกรธต่อกองกำลังฝ่ายความมั่นคง โดยโจมตีทั้งเป้าหมายอ่อนและแข็ง เพื่อตอบโต้การที่เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญฆาตกรรม 2 ผู้ต้องสงสัยกลุ่มก่อความไม่สงบ บนถนนสายหนึ่งในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 มีนาคม
การโจมตีครั้งล่าสุดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเมื่อวันที่ 27 เมษายน เป็นผลให้ทหารพราน 6 นายเสียชีวิต หลังจากที่ถูกลอบวางระเบิดข้างทาง ทำให้พาหนะของทหารพรานตกเข้าข้างทาง และถูกกราดยิงซ้ำในระยะเผาขน ซึ่งเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นที่อำเภอเดียวกัน ในจังหวัดนราธิวาส
ผู้ก่อความไม่สงบพยายามจุดไฟเผาร่างทหารพรานที่เสียชีวิต และประสบความสำเร็จบางส่วนในการเผาร่างทหารพรานจำนวนสี่นาย ก่อนที่จะถอยกลับเข้าไปในป่า เมื่อกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนผ่านมา บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้ยิงใส่ผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนั้น
การเผาร่างทหารพรานที่เสียชีวิต ตลอดจนการตัดศีรษะและอวัยวะเพศ มักเกิดขึ้นบ่อย ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เกิดความรุนแรงมากครั้งที่สุด ท่ามกลางการก่อความไม่สงบ ซึ่งเริ่มกลับมาเกิดอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 หลังจากเกิดความสงบในสามจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นเวลาร่วมทศวรรษ
แรงกดดันจากชุมชนในท้องที่และผู้นำศาสนาอิสลามที่ต่อต้านการกระทำดังกล่าวและทั้งการลอบวางเพลิงโรงเรียนรัฐ ซึ่งนับว่าเป็น “การฝ่าฝืน” กฎแห่งสงครามของอิสลาม ทำให้ปฏิบัติการยุติลง ผู้นำศาสนาประจำหมู่บ้าน ไม่ขอเปิดเผยนาม กล่าวแสดงความเห็น
บรรดาชาวบ้านและผู้นำศาสนาต่างก็ให้การสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ เพราะคิดว่าคนเหล่านั้นกำลังต่อสู้กับ “การรุกราน” ของกำลังทหารไทย แต่ไม่เห็นด้วยกับการตัดทำลายอวัยวะของทหารพราน
แหล่งข่าวในกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่ระบุว่าความพยายามเผาร่างทหารพรานที่เสียชีวิตในเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็น “เหตุที่เกิดขึ้นครั้งเดียว”
รัฐบาลไทยจะทำอย่างไรต่อไป
ในกรุงเทพฯ ความรุนแรงที่เพิ่มจำนวนขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มแรงกดดันแก่เจ้าหน้าที่ที่วางแผนด้านความมั่นคง
เจ้าหน้าที่เหล่านี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร หลังจากที่สภาปกครองของบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน เพื่อเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมและสังเกตการณ์ด้วย หากรัฐบาลไทยต้องการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นโดยตรง
บีอาร์เอ็นปฏิเสธการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินการมาเป็นเวลาเกือบสองปี ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มมาราปาตานี องค์กรร่มที่ประกอบด้วยบรรดากลุ่มต่างๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีมานานแล้วในประเทศไทย
แหล่งข่าวในกลุ่มบีอาร์เอ็นปฏิเสธรายงานที่ว่า ความรุนแรงที่เพิ่มจำนวนขึ้นในเดือนเมษายน 2560 เป็นการตอบโต้รัฐธรรมนูญใหม่ของไทย ซึ่งมีการลงมติผ่านเป็นกฎหมายเป็นเวลาสี่วัน ก่อนที่บีอาร์เอ็นจะออกแถลงการณ์
บีอาร์เอ็นกล่าวว่า ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และชักชวนให้ราษฎรชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ ลงคะแนนเสียงต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนั้นในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งราษฎรจำนวนมากก็ทำตามคำชักชวนนั้น
บีอาร์เอ็นถือว่าการตอบโต้อย่างรุนแรงในช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะบีอาร์เอ็นเห็นว่าฝ่ายไทยทำสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
สมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ถ้าผู้ต้องสงสัยสองคนนั้นเสียชีวิตในการยิงต่อสู้ธรรมดาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กลุ่มจะไม่อดกลั้นต่อการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเลือกคนที่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็น และสังหารคนเหล่านั้น เพียงเพราะเหตุผลดังกล่าว
กฎการปะทะ เป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมานานแล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้สื่อสารกันโดยตรง เพื่อหาคำจำกัดความของปฏิบัติการที่ถือว่า เป็นการทำล้ำเส้น
ทหารกองทัพภาคที่สี่ หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่พูดภาษามลายู กล่าวว่า ตนต้องการเห็นผู้ออกนโยบายในกรุงเทพฯ จัดช่องทางตรงในการสื่อสารกับบีอาร์เอ็นตามคำเรียกร้องของกลุ่ม แทนที่จะใช้ช่องทางอย่างเป็นทางการ ในการสื่อสารกับองค์กรมาราปาตานี
ข้อดีอย่างหนึ่งหลังจากการเรียกร้องของบีอาร์เอ็นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ไม่ได้ปฏิเสธคำเรียกร้องนั้นโดยฉับพลัน แต่แนะว่าบีอาร์เอ็นควรพูดคุยกับมาราปาตานี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยมองว่า คำเสนอแนะของพล.อ.ประยุทธ์ เป็น “การซื้อเวลา” อย่างน้อย นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ปฏิเสธคำเรียกร้องดังกล่าวทันที
ซึ่งจะหมายความว่ารัฐบาลไทยพร้อมที่จะพิจารณายินยอมตามคำเรียกร้องของบีอาร์เอ็น หรืออีกทางหนึ่งคือ มาราปาตานี หรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป
ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคง ประจำอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์
เผยแพร่ครั้งที่ http://www.benarnews.org/thai/commentary/TH-pathan-05032017184600.html