ลูกคุณติดเพื่อน... “ ไม่ได้ติดยา”
พิศิษฐ์ วิริยสกุล
ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านชีวิตใหม่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕
บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาให้ช่วยแก้ปัญหาเสพยาเสพติด มองหน้าเด็กวัยปลายประถม-ต้นมัธยมหรืออายุประมาณ 13-16 ปี เห็นดวงตายังเป็นประกายสดใส ไม่บ่งบอกถึงอาการขาดยา หรืออาการซึมเศร้าให้เห็น ผิดจากผู้ปกครองที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่วัยทารก จะพบใบหน้าหมองคล้ำ จิตใจทุกข์กังวล
เมื่อซักถามกับเด็กถึงการใช้ยา สถานที่เสพ เสพกับใคร ก็ได้รับคำตอบว่า “เสพร่วมกับเพื่อน” ถามถึงปัญหาครอบครัว พบว่าครอบครัวแตกแยก ขาดความรักความอบอุ่นตามทฤษฏีเก่าพูดกันน้อยลง ก็พ่อ-แม่ยังนั่งน้ำตาซึมอยู่ข้างหน้า จึงขอคุยกับผู้ปกครองต่างหากแยกจากเด็ก บอกเขาไปว่า “เด็กไม่ได้ติดยา แต่เขาติดเพื่อน”
ผู้ปกครองบางคนบอกว่าเพิ่งถูกตำรวจจับ ตรวจปัสสาวะพบสารเสพติด ประกันตัวออกมาก็จะนำมารักษา จึงต้องอธิบายให้เข้าใจว่า คนที่เสพยาเสพติดท่ามกลางสายตาที่สังคมเห็นว่าไม่ดี นั้นหมายถึงเขามองเห็นตรงข้ามกับสังคมใหญ่ เขามองเห็นคนรุ่นวัยเดียวกันเสพกันได้ สรวลเสเฮฮากันอีกต่างหาก
สังคมย่อยเล็กๆ ที่เด็กคบหา คลุกคลีด้วย แสดงออกกันอย่างไร เด็กในกลุ่มนั้นก็จะแสดงออกคล้อยตามกัน เป็นธรรมชาติของวัยที่ฮอร์โมนเริ่มเปลี่ยนแปลง ร่างกายเจริญเติบโตเท่าผู้ใหญ่กับโลกทรรศน์ทางสังคมที่เพิ่งพ้นประตูบ้าน ท้าทายให้แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะกับเพื่อนวัยเดียวกันที่คุยได้ทุกเรื่อง บางกลุ่มสนใจเล่าเรียน ก็จะมีหนังสือ ตำราเรียนเป็นเครื่องมือในการรวมกลุ่ม (ซึ่งก็มีไม่มากนักในสังคมนิยมสุข) บางกลุ่มนิยมแข่งรถซิ่ง ก็จะมีรถสวยไว้อวดกัน มีแข่งขัน มีพนันชิงรางวัล ลุ้นชนะ-แพ้ กระตุ้นสื่อเคมีในสมองให้หลั่งสารความสุข-ทุกข์
บางกลุ่มก็ใช้เสพยาเสพติดกระตุ้นเร่งสื่อเคมีในสมองในทางลัด (Shortcut) เพื่อให้เกิดความสนุกตื่นเต้น ลืมตัว หรือเคลิบเคลิ้มเร็วและมากว่ากระบวนการผลิตสื่อตามปรกติของร่างกาย นึกภาพคนดื่มสุรา เมื่อเขาดื่มสุราเข้าไปก็จะเกิดการกระตุ้นสื่อเคมีในสมองให้เกิดอาการมึนเมา ผู้ดื่มที่นิยมอาการเช่นนี้ก็จะดื่มบ่อยขึ้นเมื่อมีโอกาส แต่พฤติการณ์การเสพยาเสพติดจะบ่งบอกว่าผู้เสพนั้นติดสิ่งเสพติดหรือไม่ ดูได้จากการเสพเป็นกลุ่มหรือเสพคนเดียว คือ ผู้เสพสิ่งมึนเมาร่วมกันเป็นกลุ่ม มักจะเสพในโอกาสร่วมสนุกสังสรรค์กัน ผู้ที่เสพคนเดียวคือผู้ที่ติดดื่มหรือเสพแท้จริง เพราะวัตถุประสงค์ในการเสพต่างกัน การแก้ไขคนสองกลุ่มนี้จึงมีวิธีการที่แตกต่างกัน สำหรับเด็กที่ “ติดเพื่อน” จึงต้องพยายามแยกจากกัน อย่าปล่อยให้เขามั่วสุมสะสมจนต้องเป็นคน “ติดยา” ในอนาคต