เด็กไทยไร้สัญชาติในมาเลเซียลงทะเบียนขอสัญชาติไทยแล้ว 20 ราย
ปัตตานี
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู เปิดรับลงทะเบียนออนไลน์เด็กไทยที่ไร้สัญชาติในมาเลเซีย ที่ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เพื่อการให้สัญชาติไทยต่อไป ตามโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์เมื่อวานนี้ว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพรราชดำรัส ต่อ ศอ.บต. ให้ดำเนินการ หลังจากที่มีการทำโครงการกงสุลสัมพันธ์ ด้วยหน่วยให้บริการด้านสุขภาพเคลื่อนที่แก่คนไทยในมาเลเซีย แต่กลับพบว่ามีหลายรายไม่กล้าขึ้นทะเบียนขอรับบริการ ซึ่งภายหลังทราบว่า เพราะเหตุเป็นบุคคลไร้สัญชาติ
"กรณีดังกล่าวเป็นดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศอ.บต. รับเรื่องมาเราก็ดำเนิน ครั้งแรกเราไปทำโครงการกงสุลสัมพันธ์ ทำในเรื่องตรวจสุขภาพ ฉีดวัดซีน งานทะเบียน ทำหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ ทำให้เราทราบถึงปัญหา เราสังเกตได้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวจะถูกจับ ทำให้เราทราบปัญหา” นายธีรุตม์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายธีรุตม์ กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนบุคคลไร้สัญชาติที่แน่ชัด แต่ในชั้นการคัดกรองบุคคลไร้สัญชาติ จะใช้วิธีตรวจสอบสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ
“ศอ.บต. ก็ได้หารือกับกงสุลใหญ่ ทางกงสุลใหญ่แนะนำว่าวิธีที่ปลอดภัยและแม่นยำที่สุด ต้องตรวจ DNA บอกว่าทางเดียวที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ได้ คือต้องตรวจ DNA ก็ที่เป็นมาของโครงการตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA ทีนี้ เราก็ไม่รู้จำนวนอีกก็เลยจัดให้สำรวจ โดยการรับลงทะเบียน ระหว่างมีนาคมถึงกรกฎาคม 2560 จากนั้น จะมีการคัดกรอง สัมภาษณ์ เพื่อนำมาเข้ากระบวนการ” นายธีรุตม์ กล่าวเพิ่มเติม
“ขณะนี้ มีคนไทยจำนวน 20 คนแล้ว ที่มาลงทะเบียน เพื่อรอเข้ากระบวนการคัดกรอง สัมภาษณ์ และนำเข้าตามขั้นตอน” นายธีรุตม์ กล่าว
นายธีรุตม์ กล่าวว่า เราพบว่าคนไทยที่อยู่ที่นี่ มีทั้งอิสลามและพุทธ ที่มาจากภาคใต้ ภาคกลาง เหนือ และภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานบริการ จะไม่ทำงานเกษตรเหมือนพี่น้องมุสลิมที่มาจากภาคใต้ และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐปีนัง มะละกา เคแอล ยะโฮร์บาห์รู
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 นายมะแอ สะอะ หรือหะยี สะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโลเก่า ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีเด็กไทยที่เกิดในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานที่นั่นแล้วไม่ได้จัดการเรื่องทะเบียนราษฎร์ให้ถูกต้อง จนกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งมีอยู่หลายร้อยราย และในจำนวนนี้ เป็นลูกของผู้เห็นต่างจากรัฐที่หลบหนีไปอยู่ใประเทศมาเลเซียด้วย และล่าสุดได้ส่งรายชื่อให้ทาง ศอ.บต. ไปแล้ว 200 ราย
ในเรื่องนี้ นายธีรุตม์ กล่าวว่า ทุกคนสามารถลงทะเบียน เพื่อขอสัญชาติให้ถูกต้องได้
"คนไทยทุกคนทุกกลุ่มที่เข้ามาสมัครและลงทะเบียนสามารถตรวจสอบ DNA ปกครองก็สามารถออกใบทะเบียนได้ ผู้เห็นต่างจากรัฐ ถ้าเขาไม่มีสถานะทางทะเบียน เขาก็มีสิทธิ์ เพราะเขาคือคนไทย เราต้องการแก้ปัญหาคนไทยที่ไม่มีใบทะเบียนแล้วต้องอยู่อย่างผิดกฎหมายไม่มีทะเบียน"
โครงการนี้ จะเป็นผลดีกับตัวเขาเองและลูกหลานของเขาด้วย เพราะถ้าพ่อแม่ไม่มีใบทะเบียน จะมีผลกระทบต่อเนื่อง ลูกก็จะไม่มีโอกาสเรียนทั้งในไทยและมาเลเซียและไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ การลงทะเบียนครั้งนี้ไม่มีข้อจำกัด" นายธีรุตม์ กล่าว
ด.ช.อิรฟาน อับดุลเราะห์หมาน เด็กชายไทยอายุ 10 ขวบ ที่อาศัยอยู่ประเทศมาเลเซีย ก็กำลังจะลงทะเบียนออนไลน์เช่นกัน
“ผมเป็นคนไทยบ้านพ่อแม่ผมเป็นคนไทยอยู่ที่จังหวัดปัตตานี แต่ผมไม่มีทะเบียนในประเทศไทย ผมอยากกลับไปเรียนที่จังหวัดปัตตานี แต่ไม่สามารถทำได้ ถ้าทำได้จะขอบคุณรัฐบาลมากที่ช่วยเหลือเด็กอย่างพวกเรา” ด.ช.อิรฟาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนางบีเดาะ อาบ๊ะ ชาวจังหวัดปัตตานี มารดาของ ด.ช.อิรฟาน อาศัยอยู่ประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และดีใจที่บุตรชายจะมีโอกาสได้รับสัญชาติไทยให้ถูกต้องเสียที
“ดิฉันมีความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาก ที่ทรงเข้าใจปัญหาของพวกเรา พวกเรารักประเทศไทยของเรา ถ้าที่ประเทศไทยมีงานทำ เราก็ไม่เลือกที่จะมาทำงานที่นี่เลย ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เปิดโอกาสนี้ด้วย... ดีใจนะ ถ้าสามารถทำใบทะเบียนให้ลูกได้ ทุกข์มากที่ลูกไม่มีใบทะเบียน แต่เรามาเกิดที่มาเลเซีย ทำให้ไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่ไทยได้ ทุกวันนี้ เขาอายุ 10 ปี เขาไม่มีเอกสารอะไรเลยที่บอกว่า เขาคือคนไทย” นางบีเดาะ กล่าว
สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.thaiembassy.org/kotabharu