ระเบิดภาคใต้: ความรู้สึกของผู้สูญเสีย
เหตุระเบิดที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองปัตตานีในวันนี้ (9 พ.ค.2560) ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 40 คน และทำให้เกิดคำถามว่าทำไมจึงเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,500 คน และได้รับบาดเจ็บอีกว่า 12,000 คน
รวมทั้งอาจทำให้หลายคนย้อนนึกถึงเหตุระเบิดหลายจุดในเมืองปัตตานีและรอบนอก เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557 ซึ่งรุนแรงถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
รอฮีหม๊ะ สิเดะ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดครั้งนั้นที่พุ่งเป้าไปที่ร้านสะดวกซื้อหลายสาขาและระเบิดเสาไฟฟ้าอีกหลายแห่งจนทำให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ ขณะที่ในจำนวนผู้เสียชีวิตในวันเกิดเหตุ 3 คน ลูกชายของรอฮีหม๊ะ เป็นหนึ่งในนั้น
- ยูเอ็นประณามเหตุ 2 ลูกซ้อนที่บิ๊กซี ปัตตานี
- เสียงสะท้อนจากคนชายแดนใต้
- EXCLUSIVE: บีอาร์เอ็นขอนานาชาติร่วมสังเกตการณ์เจรจาสันติภาพโดยตรงกับไทย
- บีอาร์เอ็นขอนานาชาติร่วมสังเกตการณ์เจรจาสันติภาพโดยตรงกับไทย
"บางทีเห็นเด็กรุ่นลูกขึ้น ป.4 ก็คิดถึง เพราะเขาเสียตอน ป.1 เห็นเพื่อนร่วมห้องเขา เราก็มองถ้าเขายังอยู่ก็ประมาณนี้ "
รอฮีหม๊ะ สิเดะ เล่าด้วยสีหน้าและแววตาที่บ่งบอกถึงความคิดถึง เพราะอีกไม่กี่วันก็จะครบสามปีเต็มที่ลูกชายคนเล็กของเธอจากไป
ในวันเกิดเหตุเธอกับสามีและลูกอีกสองคน ขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายกันเพื่อกลับบ้านที่อยู่นอกตัวเมืองปัตตานี ส่วนลูกอีกสองคนฝากไว้ที่บ้านแม่ในเมือง จู่ ๆ รถมอเตอร์ไซค์ของเธอก็ถูกเสาไฟฟ้าล้มทับลงมา รอฮีหม๊ะมารู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาลพร้อมกับข่าวร้าย
"พยาบาลมาบอกว่าให้ก๊ะ (พี่) ไปช่วยยืนยันว่า เด็กคนนี้ลูกก๊ะหรือเปล่า ไปดูห้องไอซียู ก็เปิดดู บอกใช่ลูกก๊ะ เขาก็ให้เซ็นชื่ออะไร พอรู้ว่าเสียแล้วก็จัดการพาศพกลับบ้าน" รอฮีหม๊ะกล่าว
นอกจากลูกชายคนเล็กอายุเจ็ดขวบ ต้องมาเสียชีวิตวันนั้น เธอและลูกชายอีกคนอายุเก้าขวบได้รับบาดเจ็บแขนข้างซ้ายกระดูกร้าว ส่วนสามีได้รับบาดเจ็บสาหัส อยู่ในห้องไอซียู เธอไม่กล้าบอกสามีเรื่องลูกในวันนั้น มาบอกอีกทีหลังฝังศพลูกไปแล้ว
รอฮีหม๊ะเล่าว่า สามีต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 29 วัน แล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน อาการเริ่มดีขึ้นแต่ทำงานหนักไม่ได้ ไม่สามารถกลับไปทำงานขับรถรับ-ส่งคนงานที่โรงงานปลากระป๋องได้อีก เธอที่เคยเป็นแม่บ้านดูแลลูกๆ ต้องช่วยหารายได้เพิ่ม
"ตอนนี้ก๊ะขายเสื้อผ้าอยู่ ได้นิด ๆ หน่อย ๆ ก็จุนเจือครอบครัว" รอฮีหม๊ะกล่าว ส่วนสามีต้องเปลี่ยนงานมาเข้าเวรทำงานเป็นชุดรักษาความสงบหมู่บ้าน (ชรบ.) แต่ก็ทำได้ไม่ถึงปี มีข่าวร้ายเกิดกับเธอและครอบครัวอีกหน
รอฮีหม๊ะเขียนไว้ในหนังสือ หลัง รอย ยิ้ม ที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวบ้านที่ประสบเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ว่า สามีไอออกมาเป็นเลือดปนเสมหะ ช่วงที่ตัวเธอเองไม่อยู่บ้าน
"กลับมาถึงบ้าน เห็นรถโรงพยาบาล รู้สึกสั่นไปทั้งตัวเมื่อเห็นสามีนอนหงายบนพื้น เลือดเต็มไปหมด บุรุษพยาบาลกำลังปั๊มหัวใจ ฉันเข้าไปดูสามีใกล้ ๆ ปรากฏว่าเขาสิ้นใจแล้ว "
หลังสามีเสียชีวิต เธอและลูก ๆ อีกสามคน ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านแม่ในเมืองปัตตานีเพื่อที่ เธอจะได้ทำงานหาเลี้ยงชีพได้สะดวกขึ้น และมีญาติมิตรอยู่ใกล้ชิด
"กำลังใจเยอะ เลยไม่มีเวลามานั่งเศร้า อยู่กับลูกตื่นเช้ามาทำโน่น ทำนี่ ไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ไม่มีเวลามานั่งคิด ส่งลูกเสร็จก็ออกไปซื้อของที่ตลาด แล้วมาขายของ " รอฮีหม๊ะบอกว่าตัวเธอเองคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองถือเป็นบทสอบของพระผู้เป็นเจ้า และตัวเธอเองไม่เคยท้อ แม้หลายครั้งหลายหนที่ได้ยินเสียงดังคล้าย ๆ ระเบิด แล้วตกใจและยังกลัวเสียงแบบนี้อยู่
"เรามีกำลังใจให้รอบข้าง ทุกฝ่ายช่วยไม่ได้ทอดทิ้งกัน ถามว่าโกรธไหม ไม่โกรธ เพราะก๊ะถืออย่างเดียวว่าอันนั้นอัลเลาะห์ทดสอบก๊ะ ก๊ะคิดแบบนี้แหละ ถึงยืน ณ จุดนี้ได้ "
ปัจจุบันรอฮีหม๊ะ สะเดะ ได้รับการเยียวยาจากเหตุสถานการณ์ความไม่สงบ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้การเยียวยาครอบครัวโดยการจัดจ้างเดือนละ 4,500 บาท เธอเลือกทำงานกับมัสยิดใกล้บ้าน เพื่อจะได้ดูแลลูกๆ ได้อย่างใกล้ชิด พร้อมๆ กับการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวัน
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/thailand-39859259