Skip to main content

 

เรื่องเล่าจากปลายด้ามขวาน

 

 

นานมาแล้วที่ดินแดนสุวรรณภูมิหรือคาบสมุทรทองหรือคาบสมุทรมลายูเกิดเรื่องราวความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรง กลายเป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมอันเลวร้ายระหว่างรัฐกับชาติพันธ์ุมลายูมุสลิม ครั้นเรื่องเล่าเหล่านั้นเริ่มจางหาย ปี ๒๕๔๗ ก็เกิดวาทกรรม "โจรกระจอก"ตอกย้ำความบาดหมางและสร้างความรุนแรงรูปแบบใหม่ขึ้นมาจนกลายเป็น "สงครามที่ไม่ได้ประกาศ" และไม่รู้ว่าเรารบกับใครและมีมูลเหตุใดให้เกิดการก่อการร้ายที่ฆ่าไม่เลือกชาติพันธ์ุ ศาสนา และเพศสภาพ

ก่อนหน้านี้เป้าหมายของการฆ่าและก่อวินาศกรรมคือครูและโรงเรียน จับครูไปเรียกค่าไถ่ มัดกับเสาธงแล้วกระหน่ำยิง ด้วยอาวุธสงคราม ทำทารุณกรรมต่างๆนานา หลังๆมาเป้าหมายเปลี่ยนไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง สถาบันทางเศรษฐกิจ วัด มัสยิด พระ โต๊ะอีหม่าม โต๊ะฮัจยีหรือผู้นำทางศาสนา ด้วยรูปแบบการวางระเบิดและคาร์บอม การถล่มด้วยอาวุธสงคราม กระทำแบบท้าทายอำนาจรัฐเหมือนจะเยาะเย้ยและหมิ่นแคลนขีดความสามารถของฝ่ายรัฐไทย

สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานและนำมาซึ่งความสูญเสียระส่ำระสายอย่างไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดยุติลงเมื่อใด สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ กระทบต่อวิถีชีวิต ทำลายคุณภาพชีวิตและโอกาสอันดีงามของประชาชน งานศพ งานมงคล ในชีวิตประจำวันต้องปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับสถานการณ์ ภาพอุจาดตามจากการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นความชาชินกับความรุนแรงที่เลวร้ายสำหรับพี่น้องประชาชน

ขณะเดียวกัน เสียงกระซิบนินทาเกี่ยวกับพฤติกรรมของฝ่ายอำนาจรัฐจากปากประชาชนก็แว่วมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจริงที่ตรงข้ามกับปรากฏการณ์ทางสื่อมวลชน เบื้องลึกเบื้องหลังของการใช้งบประมาณมากมายมหาศาลที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความชอบธรรมในพื้นที่ที่มีปัญหา การทุจริตคอรัปชั่นไม่เว้นแม้แต่กับเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับความเป็นความตายหรือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ปฏิบัติและประชาชนในพื้นที่ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ ฯลฯ

เราระดมสรรพกำลังทั้งกำลังพล งบประมาณและแนวนโยบาในการเอื้อให้กับแก้ปัญหาปลายด้ามขวาน แต่สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังไม่ดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจหรือมั่นใจพอที่จะเรียกขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ปฏิบัติและประชาชนระดับชาวบ้านกลับคืนมา เพราะอะไร

สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ปลายด้ามขวานถ้าเปรียบอาการป่วยไข้ของผู้คนก็อยู่ในขั้นโคม่า มีภาวะแทรกซ้อนมากมาย ทังความดัน เบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด อัมพฤกษ์อัมพาต ไตวาย ฯลฯ มีความจำเป็นต้องระดมหมอผู้มีความสามารถเฉพาะทางมาบำบัดเยียวยาและต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์เกือบทุกสาขามาดูแล

นั่นคือ ในทางสังคมคนที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นนายอำเภอ เป็นนายทหาร นายตำรวจ ฯลฯ ทุกระดับในพื้นที่ปลายด้ามขวานต้องเป็นบุคคลระดับชั้นยอดของประเทศ เปรียบเสมือนมีหมอที่มากฝีมือ มีประสบการณ์และมีคุณธรรม เพื่อบำบัดเยียวยาอาการป่วยไข้ทางสังคมให้บรรเทาเบาบางหรือหายขาดในเร็ววัน

แต่น่าเศร้าใจ นอกจากเราไม่ค่อยมีบุคลากรระดับคุณภาพดังคาดหวังแล้ว เรากลับมีหมอผี นักเลงอันธพาล กลุ่มอิทธิพล คนฉ้อฉลและคนที่ประชาชนเกลียด ฯลฯ มากเกินกว่าจะฟื้นฟูสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นมาได้

นอกจากนั้น เบื้อหลังการตาย การบาดเจ็บ พิกลพิการของคนดีหรือวีรบุรุษจากปลายด้ามขวานล้วนมีเรื่องเล่าอันไม่เป็นมงคลสำหรับคนดีที่มีความตั้งใจจะรับใช้ชาติ เสียสละชีวิตเพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจ่าเพียร รองผู้ว่าฯสุนทร ฤทธิภักดี หรือใครต่อใคร

จากบทเรียนที่ผ่านมาทั้งในระยะยาวสมัย "ซือโก๊ะแซกอ"(ตัวเดียวนัดเดียว)จนมาถึงยุคปล้นปืนและคาร์บอมในปัจจุบัน บอกให้เรารู้ว่า ยุทธศาสตร์ "การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา"ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ยังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง การเน้นการทหารนำการเมือง การไม่ใช้วิถีทางวัฒนธรรมและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการหวาดระแวงไม่ไว้ใจประชาชนยังประสบความล้มเหลวในการยับยั้งความรุนแรงและการนำพาสังคมไปสู่การปรองดองหรือเจรจาเพื่อสันติภาพ

ทางเลือกสำหรับการออกจากวังวนของความขัดแย้งและรุนแรงที่น่าจะพอมีคือการใช้วิถีทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับวิถีทางที่บอกว่า "เรามาถูกทางแล้ว"ที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยการผสมผสานทุกแนวทางเท่าที่เคยมีและยังไม่มีคือศักยภาพของประชาชนในการเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วยความเชื่อมั่นว่าจะไม่ตกอยู่ในอันตรายเพราะไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นเป็นคนของฝ่ายไหนกันแน่อย่างที่ได้ยินมา

หลักการที่สำคัญระดับต้นๆคือ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติต้อง "ไม่รักคนที่ชาวบ้านเกลียด และไม่เกลียดคนที่ชาวบ้านรัก"

ด้วยความเคารพและคารวะผู้เสียสละและจริงใจในการแก้ปัญหาภาคใต้ และผู้สูญเสียจากสถานการณ์ความรุนแรง

จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐