ไอเอสเข้าไทย ความเสี่ยง และการตั้งฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จบ)
ไอเอสกับความเป็นไปได้ในการตั้งฐานหรือสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ขอบคุณภาพจาก ThairathTV
ไอเอสเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่พัฒนามาจากเครือข่ายต่อต้านการยึดครองอิรักของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 มีการเปลี่ยนมาหลายชื่อกว่าจะมาเป็นไอเอสในปัจจุบัน ในปีค.ศ. 2004 ใช้ชื่อว่า “Tanzim Qaidat al-Jihad fi Bilad al-Rafidayn, (The Organization of Jihad’s Base in the Country of the Two Rivers: TQJBR) หรือองค์กรแห่งญิฮาดในประเทศสองแม่น้ำ มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ ในขณะนั้นถูกสื่อกระแสหลักนำเสนอภายใต้ชื่อเรียกว่าเป็น “อัลกออิดะห์สาขาอิรัก” (Al Qaeda in Iraq: AQI ) แต่กลุ่ม TQJBR ไม่ได้เรียกตัวเองเช่นนั้น ในซีเรียก็เช่นกัน กลุ่มอัลนุสรอห์ฟรอนท์ (Al Nusra Front) ก็ถูกเรียกว่าอัลกออิดะห์สาขาซีเรีย
ทั้งนี้แม้ทั้งสองกลุ่มจะมีความสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์หรือรับอิทธิพลมาจากอัลกออิดะห์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสาขาที่บัญชาการโดยตรงจากไอมาน อัลซาวาฮิรี ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นก็ไม่ต่างจากรัฐเอกราชที่ต้องการมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองบนฐานที่จะตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองมากว่าจะต้องขึ้นต้องกับกลุ่มอื่น ถ้ามิเช่นนั้นเราคงไม่เห็นกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก (Islamic State of Iraq [ISI]; อีกชื่อหนึ่งก่อนจะมาเป็น Islamic State in Iraq and Al Sham หรือ ISIS และมาเป็น IS ในที่สุด) แตกกับกลุ่มอัลนุสรอห์ฟรอนท์ ทั้ง ๆ ที่ซาวาฮิรีพยายามประสานความขัดแย้งแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสาขาของอัลกออิดะห์อย่างที่ถูกนำเสนอ เพียงแค่มีสายสัมพัน์กันในลักษณะน้ำพึงเรือเสือพึงป่า
ดังนั้น คำว่า “สาขา” หรือ “ฐาน” ของกลุ่มก่อการร้ายสากลจึงเป็นคำที่ต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงองค์ประกอบของมันมากกว่าเรียกขานตามการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก เพราะมันไม่สามารถผุดขึ้นมาง่าย ๆ เหมือนธุรกิจแฟรนไชส์ระหว่างประเทศ
ถ้ามองการตั้งฐานของกลุ่มอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานแห่งเอเชียใต้ กลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียแห่งตะวันออกกลางเป็นกรณีศึกษาของการสร้างฐานที่มั่นหลักในลักษณะเป็นกองกำลังที่มีเขตอำนาจของตัวเองชัดเจนขึ้นในภูมิภาค ผมคิดว่าเราสามารถถอดองค์ประกอบหรือเงื่อนไขหลักของการตั้งฐานของทั้งสองกลุ่มได้ ดังนี้
1. การยอมรับและแนวร่วมมุสลิมจำนวนหนึ่งในพื้นที่ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญข้อแรก เพราะปราศจากแนวร่วมก็ไม่สามารถสร้างอิทธิพลขึ้นมาได้ มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่สามารถยอมรับพฤติกรรมและการกระทำของกลุ่มไอเอสได้ เพราะมุสลิมในภูมิภาคนี้ค่อนข้างเคร่งครัดในหลักการของศาสนาบนทางสายกลางที่ไม่นิยมความรุนแรง ในขณะที่ไอเอสใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนทุกรูปแบบซึ่งขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามชัดเจน แม้ไอเอสจะใช้อุดมการณ์การตั้งรัฐอิสลามเป็นตัวโฆษณาชวนเชื่อ แต่โลกมุสลิมก็ไม่เห็นด้วย เพราะประวัติศาสตร์การก่อตั้งอาณาจักรอิสลามที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตไม่ได้มีรากฐานมาจากสงครามหรือความป่าเถื่อน แต่เกิดขึ้นมาจากการยอมรับร่วมกันของสังคมหรือด้วยความสันติ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ามุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียใต้หรือตะวันออกกลางให้การยอมรับกลุ่มอัลกออิดะห์และไอเอสจนสามารถสร้างฐานที่มั่นขึ้นได้ เพียงแต่อาจจะมีแนวร่วมมากกว่าที่อื่น ๆ รวมถึงนักรบนอกพื้นที่ที่เดินทางเข้าไปร่วม ด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำลังจะกล่าวถึง
2. สภาวะสงครามกลางเมืองและรัฐล้มเหลว เงื่อนไขข้อนี้คือเมื่อไรก็ตามที่รัฐไร้เสถียรภาพ และอ่อนแอ มีสงครามกลางเมือง หรืออยู่ในสภาวะสุญญากาศทางอำนาจ ก็จะมีกลุ่มต่าง ๆ สถาปนาเขตอำนาจของตัวเองขึ้นมา เช่นด้วยกับที่อัลกออิดะห์กำเนิดขึ้นมาจากสภาพสงครามในอัฟกานิสถาน กลุ่มไอเอสสามารถสร้างฐานที่มั่นของตัวเองในอิรักและซีเรีย เป็นต้น แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราไม่มีเงื่อนไขแบบนี้
3. การแทรกแซงและปฏิบัติการทางทหารของมหาอำนาจจากภายนอก ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดแนวร่วมสมาชิกก่อการร้ายมากขึ้นในพื้นที่ เราจะเห็นว่าอัฟกานิสถานไม่เคยว่างเว้นจากการแทรกแซงของมหาอำนาจ โซเวียตไปอเมริกาก็เข้ามา ไม่เพียงแทรกแซงการเมืองแต่ยังใช้ปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศถล่มอัฟกานิสถานและปากีสถานอย่างหนักตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้คนบริสุทธิ์ลูกเล็กเด็กแดงเสียชีวิตไปแล้วเป็นหมื่น ๆ คน มีเพียงจำนวนเพียงน้อยนิดที่เป็นกลุ่มติดอาวุธ ความโกรธแค้นภายในนำไปสู่การต่อต้านสหรัฐอเมริกาและผลักให้ผู้คนเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอย่างตอลิบันในที่สุด การแทรกแซงของสหรัฐและรัสเซียในสงครามกลางเมืองในซีเรียและอิรักในลักษณะของสงครามตัวแทนที่ติดอาวุธให้กับกลุ่มที่ตัวเองสนับสนุนยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงแรงขึ้นเรื่อย ๆ การแทรกแซงและใช้กำลังของมหาอำนาจนอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ยังทำให้วงจรความขัดแย้งและการก่อการร้ายขยายตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาอำนาจไม่ได้เข้ามามีบทบาทหรือปฏิบัติการทางทหารโดยตรงเหมือนในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ดังนั้น ปัจจัยข้อนี้จึงไม่เกิดขึ้นในภูมิภาคของเรา
4. เงื่อนไขทางการเงินและทรัพยากร เป็นอีกเหตุผลสำคัญของการสร้างฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์และไอเอส ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีรายได้มหาศาลจากธุรกิจและการขายทรัพยากรน้ำมันมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มไอเอสที่เคยมีรายได้ถึงวันละ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการขยายน้ำมันและรายได้อื่น ๆ จากลักพาตัวเรียกค่าไถ่ การสร้างฐานที่มั่นหรือกองกำลังขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล คำถามคือถ้าจะตั้งฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะระดมเงินและทรัพยากรมาจากไหน
5. รัฐกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มติดอาวุธใช้ในการเรียกร้องระดมแนวร่วมนักรบจากที่ต่าง ๆ อย่างได้ผลก็คือ การเรียกร้องสู่การต่อสู้กับรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐด้วยความรุนแรงกวาดล้างปราบปรามมุสลิมในประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ตัวอย่างกรณีที่กลุ่มไอเอสสามารถสร้างแนวร่วมรุกกลับเข้าไปในเมืองโมซุลของอิรักได้อย่างรวดเร็วในช่วงกลางปี 2014 ส่วนหนึ่งเพราะแรงสนับสนุนของมุสลิมซุนนี่หรือทหารซุนนี่ในอิรักที่แปรพักตร์เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสเพราะไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลมาลิกีซึ่งเป็นชีอะห์ ที่มีต่อมุสลิมซุนนี่ กรณีของซีเรียเช่นกันที่รัฐบาลอัสซาดได้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง ทำให้บางกลุ่มหันไปเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอส ทหารบ้างกลุ่มแปรพักตร์กลายเป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือ Free Syrian Army ดังนั้น ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์จึงเป็นเสมือนแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดให้เกิดการรวมกลุ่มรวมตัวของนักรบทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ในเมียร์ม่าหรือกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปลุกกระแสการรวมตัวกันของนักรบทั้งในและนอกภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสที่อาจฉวยโอกาสนี้ระดมแนวร่วมนักรบจากที่ต่าง ๆ เข้ามารวมกันในภูมิภาคเพื่อโจมตีเมียร์ม่า
หากมองจากเงื่อนไขและองค์ประกอบที่กล่าวมาซึ่งอิงกับตัวแบบของอัลกออิดะห์และกลุ่มไอเอสแล้ว จะเห็นได้ว่าการตั้งฐานหรือสาขาของกลุ่มก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีปัจจัยเอื้อกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียร์ม่าก็ตาม อีกทั้งสถานการณของไอเอสในตะวันออกกลางเองก็กำลังถูกรุกไล่อย่างหนักจนเสียที่มั่นสำคัญหลายแห่ง ยิ่งบีบให้ไอเอสต้องให้ความสำคัญกับการรักษาฐานที่มั่นเดิมมากกว่าขยายฐานในภูมิภาคอื่น
โดยสรุป ผมคิดว่ากรณีไอเอสจากที่อื่นเข้าไทยไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็จำเป็นที่จะต้องติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ด้วยยุทธศาสตร์ของไอเอสที่ผ่านมาก็คิดว่าไม่น่าจะเข้ามาก่อเหตุรุนแรงในประเทศของเรา เพราะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงและเราก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงน้อยที่สุด ส่วนเรื่องการตั้งฐานของไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม การป้องกันการขยายตัวของแนวความคิดสุดโต่งและภัยคุกคามของกลุ่มไอเอสที่พยายามแทรกซึมเข้ามา ยังคงเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่คือต้องป้องกันทั้ง outside in หรือ “ภัยคุมคามจากภายนอกสู่ภายใน” และ inside out หรือ “การเคลื่อนไหวจากภายในสู่ภายนอก”
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไอเอสเข้าไทย ความเสี่ยง และการตั้งฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอน 1)