Skip to main content

 

กระบวนการสันติภาพที่มีความหมายคือเกราะป้องกันผู้นิยมความรุนแรงที่ดีที่สุด

 

 

       คาร์บอมบ์ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในปัตตานีเป็นเหตุสะเทือนความรู้สึกมากที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 13 ปีก่อน  ที่สำคัญเป็นเพราะว่าการปฏิบัติการครั้งนี้จงใจที่จะกระทำต่อพลเรือนโดยไม่เลือกเพศ อายุและศาสนาและพวกเขาไม่ได้มีบทบาทโดยตรงต่อความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ตามสถิติของทางการ มีผู้บาดเจ็บ 61 คน ในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง 36 คน  เด็กและเยาวชน 11 คน  เจ้าของรถกระบะที่ถูกนำไปทำเป็นคาร์บอมบ์ซึ่งเป็นคนพุทธถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด

เมื่อเช็ดคราบเลือด คราบน้ำตา จับกุมผู้คนที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้และก่นด่าสาปแช่งผู้ก่อเหตุแล้ว  เราต่างก็รู้ว่าชีวิตของผู้คนที่อยู่ในภาคใต้จะยังเหมือนเดิมและไม่มีหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยแต่อย่างใด  รัฐบาลย่อมทราบแก่ใจดีว่าการปราบปรามด้วยความรุนแรงไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพในภาคใต้ได้  กำลังทหารจำนวนมากในพื้นที่ทำได้แค่เฝ้าระวังเหตุซึ่งย่อมเห็นอยู่ว่าไม่สามารถยับยั้งปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีได้แต่อย่างใด  ในขณะที่ต้องสูญเสียงบประมาณอย่างมหาศาลในแต่ละปี   แม้เหตุการณ์นี้คงจะไม่มีใครออกมาประกาศความรับผิดชอบเช่นเคย  แต่หากดูลักษณะการก่อเหตุแล้วจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับครั้งที่ผ่านๆ มาซึ่งเชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มบีอาร์เอ็น

ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะพูดในสถานการณ์นี้ก็คือกระบวนการสันติภาพที่ความหมายจะเป็นเกราะป้องกันผู้นิยมความรุนแรงที่ดีที่สุดในระยะยาว   เพราะจะเป็นเวทีที่คู่ขัดแย้งเข้ามาเจรจาต่อรองทางการเมือง ซึ่งรวมถึง การหยุดยิง ในระหว่างที่การเจรจาในประเด็นทางการเมืองกำลังดำเนินอยู่  หากรัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหาในระยะยาวจำเป็นจะต้องทำให้กลุ่มติดอาวุธเข้ามาอยู่ร่วมในการพูดคุยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งจะเป็นการโดดเดี่ยวปีกที่นิยมความรุนแรง (hardliners) และจะทำให้พวกเขาอ่อนแอและไร้ความหมายไปในที่สุด 

คำถามคือ “การพูดคุยสันติสุข”  ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้นเป็นกระบวนการสันติภาพที่มีความหมายแล้วหรือไม่    คำถามใหญ่ตอนนี้คือกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีกองกำลังที่เข้มแข็งมากที่สุดในภาคใต้ในปัจจุบันได้เข้าร่วมการพูดคุยในกรอบที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับมาราปาตานีในขณะนี้หรือยัง  ทางมาราปาตานีได้พูดชัดเจนว่าคนของบีอาร์เอ็นที่เข้ามาร่วมนั้นเป็นความริเริ่มส่วนตัว ไม่ได้มีฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำ ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการออกแถลงการณ์ในนามฝ่ายข้อมูลข่าวสารของกลุ่มบีอาร์เอ็น  โดยข้อเรียกร้องสำคัญคือการขอให้ประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในฐานะผู้สังเกตการณ์   (พวกเขาได้ฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำหรือไม่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป)    โดยนายกรัฐมนตรีตอบข้อเรียกร้องนี้ด้วยการบอกว่าให้เข้าไปร่วมในกรอบการพูดคุยที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว  ซึ่งโดยนัยแล้วก็คือการปฏิเสธข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ดังกล่าว

ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นนั้นเจาะลงไปที่ใจกลางประเด็นที่รัฐบาลไทยหวาดกลัวมากที่สุดและเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้การพูดคุยสันติภาพไม่ก้าวหน้า  รัฐไทยพยายามยืนยันว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องภายใน”  (internal affair) และพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้องค์กรหรือรัฐบาลใดๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา  เพราะเกรงว่าการเข้ามาขององค์กรภายนอกจะเปิดทางไปสู่ “การแบ่งแยกดินแดน”  การเกิดขึ้นของการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการและการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียนั้นเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเชื่อได้ว่าทั้งสองอย่างนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลที่อิงกับฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลทหารในขณะนี้ก็ตาม   แต่เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลทหารไม่คว่ำการพูดคุยนี้อาจจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงการยอมรับว่ากองทัพไม่สามารถจะยุติความรุนแรงนี้ได้ด้วยการปราบปรามและการเอามาเป็นพวกด้วยการให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ

ความหวาดกลัวต่อ “การยกระดับ” นั้นมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับเพียงใดยังเป็นสิ่งที่น่ากังขาเช่นกัน รัฐไทยมักยกเรื่องของติมอร์ตะวันออกว่าการที่รัฐบาลอินโดนีเซียอนุญาตให้สหประชาชาติเข้ามาเป็นจุดที่นำไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราชของติมอร์ตะวันออก    แต่ว่ามีตัวอย่างความขัดแย้งด้วยอาวุธที่เกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชในหลายแห่งทั่วโลกที่การเข้ามาของประชาคมนานาชาติช่วยนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพโดยไม่ได้นำไปสู่การแยกตัวเป็นรัฐใหม่แต่อย่างใด   ตัวอย่างใกล้ๆ บ้านเราก็เช่นความขัดแย้งในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียและมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์   การเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกและมีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนในหลากหลายบทบาทหน้าที่ซึ่งเป็นเครือข่ายใหญ่โตที่หนุนเสริมการเจรจาระหว่างปาร์ตี้ A และ B (ดูเพิ่มเติมได้ที่ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร?: เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์และไทย”)  ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงสันติภาพในปี 2555 และยังคงอยู่ในช่วงการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง  โดยหัวใจหลักของข้อตกลงก็คือการยินยอมให้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษบังซาโมโร

ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นล่าสุดนั้นจึงอยู่ในวิสัยที่รัฐไทยพึงจะพิจารณาได้  หากเปิดใจกว้างและเลิกหวาดกลัวต่อมายาคติที่อาจจะสร้างขึ้นให้น่ากลัวกว่าความเป็นจริง

หากกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ  พวกเขาเองย่อมจะต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับการโจมตีพลเรือน/ผู้ไม่ถืออาวุธซึ่งแม้ในสถานการณ์สงครามก็ไม่สามารถกระทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL)  ในแถลงการณ์ล่าสุด บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ “ตามหลักปฏิบัติสากล” ฉะนั้น ขบวนการปลดปล่อยปาตานีเองก็จะต้องถูกตรวจสอบตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน  มีตัวอย่างที่ผู้นำกลุ่มกบฏได้ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศมาแล้ว  ผู้นำของ “กองทัพต่อต้านของพระเจ้า”  (The Lord’s Resistance Army) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏคริสเตียนในประเทศอูกันดาเป็นกลุ่มติดอาวุธกลุ่มแรกที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาเกี่ยวกับ “อาชญากรรมสงคราม” (war crimes) และ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crimes against humanity)

การรับฟังเงื่อนไขที่จะเปิดทางให้บีอาร์เอ็นเข้ามาอยู่ในกระบวนการสันติภาพจึงไม่ใช่การยอมอ่อนข้อต่อการใช้ความรุนแรงมากดดันรัฐไทย  แต่เป็นการดึงให้ใจกลางของสนามการต่อสู้มาอยู่บนโต๊ะเจรจาและสู้กันด้วยสันติวิธี  ไม่ใช่การปฏิบัติการทางการทหารหน้าห้างสรรพสินค้าที่คลาคล่ำไปด้วยแม่และเด็ก

-------------------------------------------------------

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Australian National University

เผยแพร่ครั้งแรกที่ มติชนออนไลน์, 12 พฤษภาคม 2560