Skip to main content

 

รัฐปรับเข้มมาตรการตรวจสอบอุซตาสและผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน

 

อารยา โพธ์จา และ มารียัม อัฮหมัด
กรุงเทพฯ และ จังหวัดชายแดนใต้
 
TH-bombing-1000
สภาพหน้าห้างบิ๊กซีที่โดนระเบิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โดยมีผู้ต้องสงสัยเป็นอุซตาสและผู้เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน
 เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันพุธ (17 พฤษภาคม 2560) นี้ พล.อ.อุดมเดช สีตุบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า รัฐบาลจะปรับแก้เงื่อนไขรับผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มงวด เมื่อเข้าโครงการแล้วต้องเข้าร่วมปรับทัศนคติ รวมทั้ง สร้างกระบวนการคัดกรองครูศาสนาอิสลามที่จะทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

การปรับการดำเนินการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีหลักฐานว่าผู้ร่วมโครงการฯ และครูสอนศาสนาหรืออุซตาส มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“ต้องมีความเข้มงวดในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นเมื่อรับเข้ามาแล้ว การอบรมเพื่อเป็นการปรับแนวความคิดในเรื่องอุดมการณ์ต่างๆ ที่เขาอาจจะเคยคิดผิดพลาดไป อะไรต่างๆ เหล่านี้ต้องมีความเข้มมากยิ่งขึ้น ต้องมีการตรวจสอบทัศนคติโดยต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องมีการติดตามความเป็นอยู่ พฤติกรรมต่างๆ ต้องมอบหมายให้มีความชัดเจน” พล.อ.อุดมเดช กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว หลังการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลครั้งที่ 3/2560 ในเรื่องดังกล่าว ในวันนี้ ที่กระทรวงกลาโหม

“ที่ผ่านมาก็ทำได้ดีแล้วนะ แต่เราปฎิเสธไม่ได้หรอกเพราะว่าการตรวจสอบครั้งที่ผ่านมา เรื่องของระเบิดที่บิ๊กซีก็มีผู้ที่อยู่ในโครงการ เพราะฉะนั้นต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาทบทวน ก็พยายามทำเต็มที่นะ ต้องให้ดีขึ้นให้ได้” พล.อ.อุดมเดชกล่าวเพิ่มเติม

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เกิดเหตุระเบิด 2 ครั้ง ในพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 80 ราย และยานพาหนะเสียหาย 149 คัน

เมื่อวันที่ 12 เดือนนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยรายแรก คือ นายสะมะแอ มามะ เป็นอิหม่าม จากบ้านพักในอำเภอหนองจิก ปัตตานี จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยรายที่สอง คือ นายสุไฮมิง สะมะแอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เคยเข้าร่วมโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องของประชาชนบางกลุ่มให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้าน

ในประเด็นเดียวกันนี้ พล.อ.จำลอง คุณสงค์ หนึ่งในสมาชิกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เปิดเผยว่า

ในที่ประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลครั้งที่ 3/2560 ได้มีการมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้าตั้งคณะกรรมการทบทวนโครงการพาคนกลับบ้าน หลังจากพบว่า มีผู้เคยร่วมโครงการพาคนกลับบ้านร่วมก่อเหตุระเบิดที่บิ๊กซี ปัตตานี

“ผู้ต้องหาคนนั้น แม้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน แต่ก็ไม่ได้ร่วมตลอดทั้งหลักสูตร แต่อยู่แค่ครึ่งๆ กลางๆ เป็นพวกร่วมกาย แต่ไม่ร่วมใจ เขาไม่ได้เข้ารับการอบรม การปรับทัศนคติ ทำความเข้าใจ อาจมีคนที่แอบแฝงเข้ามาร่วมโครงการ แต่เราเชื่อว่า ถ้าเขาได้ฟังการอบรม การปรับแนวคิดทัศนคติของเรา แล้วเขาจะเข้าใจ และเปลี่ยนใจ” พล.อ.จำลอง กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ด้านนายจำนัล เหมือนดำ หนึ่งใน คปต.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า คปต.ส่วนหน้า ได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และคัดเลือกครูสอนศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยรับทราบเรื่องแล้ว

“ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการตรวจสอบ แต่ก็ไม่อาจรู้แนวคิดของครูสอนศาสนาเหล่านี้ได้ แต่ต่อไป ต้องมีการกลั่นกรองมากขึ้น โดยต้องหารือร่วมกับ รร.สอนศาสนา และปอเนาะต่างๆ และคณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัด” นายจำนัลกล่าว

“โครงการพาคนกลับบ้าน” ริเริ่มครั้งแรกช่วงที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 (2553-2556) เป็นโครงการที่ให้ผู้ที่เห็นต่าง หรือผู้ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงเข้ามอบตัว หรือกลับจากการหลบหนีในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการพาคนกลับบ้านครั้งแรกช่วงเดือนกันยายน 2555 และมีการดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันรวมผู้ที่เข้ามอบตัวกว่า 4,400 คน

เมื่อเข้าสู่ยุคของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีการระบุหมายเลขโทรศัพท์พิเศษ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเข้าโครงการใช้ติดต่อ และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของโครงการนี้โดยการเดินทางไปรับตัว นายอาหะมะ ดือเระ สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนถึง บ.กูแบปูรง ม.1 ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ด้วยตนเอง ถึงขณะนี้ มียอดผู้มอบตัวแล้วเกือบสิบราย

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์-วิจารณ์ในทางลบจากประชาชนบางส่วนเช่นกัน เนื่องจากมีข้อมูลว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้บางราย กลับไปร่วมก่อเหตุสร้างความไม่สงบซ้ำอีก จนมีการตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่ที่รัฐจะดำเนินโครงการนี้ต่อ

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-deepsouth-defectors-05172017154303.html