คำแถลงของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
เนื่องในโอกาสการครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหารโดย คสช.
"3 ปีที่เสียของ"
3 ปีแห่งการสูญเสียของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร
วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
================================================
1. เสียสิทธิและเสรีภาพ
นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา พลเมืองไทยตกอยู่ใต้การปกครองที่ทหารเป็นใหญ่เหนือองค์กรอื่นๆ ผู้นำประเทศใช้ทหารเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานร่วม ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการแทรกแซง กดดัน และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในส่วนของการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล คสช. รวมถึงกองทัพ ดังกรณีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ที่มีทั้งการขัดขวางการเดินทางและตั้งข้อหากับประชาชน กรณีประชามติ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าว กระทั่งทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นจำเลย มิพักต้องเอ่ยถึงการนำคดีของพลเรือนเหล่านั้นขึ้นสู่การพิจารณาโดยศาลทหาร
นอกจากนี้ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏในการอภิปรายทางวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งทำให้การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์และสันติถูกจำกัดวงอย่างมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็ถูกแทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังกรณีการเชิญนายโจชัว หว่อง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกง มาอภิปรายเรื่องการเมืองของคนรุ่นใหม่เนื่องในวาระ 40 เหตุการณ์ 6 ตุลาคา 2519 แต่นายหว่องกลับถูกกักตัวและส่งกลับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัวให้กับนิสิต นักศึกษา และอาจารย์ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้เข้าไปแสดงตัวถึงในมหาวิทยาลัยในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการ
ในส่วนของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ก็ยังพบว่ามีการจำกัดสิทธิตลอดจนการคุกคามการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบและสันติอยู่ ล่าสุดดังการรำลึกเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ห้ามจุดเทียนรำลึกในบริเวณที่มีการปะทะและสลายการชุมนุม ญาติของผู้เสียชีวิตจะแสดงการรำลึกก็ถูกควบคุมตัว
การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏชัดขึ้นผ่านความพยายามควบคุมสื่อทางสังคม (social media) เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค และอื่นๆ ถึงในระดับของบทสนทนา ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่ามีคดีทางการเมืองและ 112 จำนวนมากพุ่งเป้าไปที่บทสนทนาส่วนตัวในสื่อทางสังคม ขณะที่ประชาชนก็อยู่ในความหวาดกลัวเพราะไม่รู้ว่าจะตกเป็นเป้าเมื่อใด รวมทั้งวิตกกังวลว่ารัฐบาลจะปิดสื่อทางสังคมหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะมีการตรากฎหมายควบคุมสื่อทางสังคมในที่สุด
สามปีที่ผ่านมาจึงเป็นสามปีที่ประชาชนคนไทยเสียสิทธิและเสรีภาพอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ไม่สามารถอภิปรายถกเถียงประเด็นสาธารณะบนฐานของหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติและอย่างมีอารยะ
2. เสียเวลา เสียอนาคต
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารและ คสช. “กล่าวอ้าง” มาตลอดว่า มีเจตนารมณ์ที่จะสร้าง “ความปรองดองสมานฉันท์ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องแตกแยก แบ่งฝ่าย ยึดหลักนิติรัฐควบคู่กับหลักรัฐศาสตร์ ในการบริหารจัดการความขัดแย้ง ความเท่าเทียมและเป็นธรรม จะต้องไม่มีการละเลยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม”
หากแต่ในความเป็นจริงรัฐบาลทหารและ คสช. กลับใช้อำนาจเถื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการอาศัยมาตรา 44 ในการข่มขู่คุกคามและจับกุมคุมขังนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชน ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากตน อีกทั้งยังละเมิดหลักการ ขั้นตอน และกระบวนการยุติธรรม/กฎหมายปกติ และในหลายกรณีกลับอาศัยกลไกของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนอีกด้วย
พฤติการณ์ของรัฐบาลทหารและ คสช. ดังกล่าวไม่เพียงก่อให้เกิดการ “เสียเวลา” ในการพัฒนาสังคมการเมืองไทยให้ไปสู่สังคมที่เคารพและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากแต่ยังทำให้ประเทศชาติและประชาชนจำนวนมาก “เสียอนาคต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “คนหนุ่มสาว” ที่มีความฝันและจิตวิญญาณเสรี ในร่วมสร้างสังคมการเมืองไทยให้เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
3. เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารและ คสช. ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ในช่วง พ.ศ. 2541-2556 เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่ช่วง พ.ศ. 2557-2559 การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2-3 ต่อปี เช่นเดียวกับในส่วนของการส่งออกที่ในช่วง พ.ศ. 2550-2556 เคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ทว่าในช่วง พ.ศ. 2556-2559 กลับกลายเป็นติดลบเฉลี่ยร้อยละ -2 ต่อปี
นอกจากนี้ การลงทุนภายในประเทศของเอกชนที่เคยเติบโตร้อยละ 11.8 ใน พ.ศ. 2556 กลับกลายเป็นลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -0.8 ใน พ.ศ. 2557 และลดลงอีกร้อยละ -2.2 ใน พ.ศ. 2558 ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเพียงร้อยละ 1.8 ใน พ.ศ. 2559 เช่นเดียวกับในส่วนของเงินทุนระหว่างประเทศ ก่อน พ.ศ. 2556 เคยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ทว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมากลายเป็นเงินทุนไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2557 ไหลออกสุทธิ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน พ.ศ. 2558 ไหลออก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และใน พ.ศ. 2559 ไหลออก 2.6 หมื่นล้าน
ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เคยสูงสุด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ใน พ.ศ. 2556 ลดลงเหลือ 2,553 ล้านดอลลาร์ใน พ.ศ. 2559 โดยภายในกลุ่มอาเซียน ถึง พ.ศ. 2556 ประเทศไทยรับเงินลงทุนต่างชาติจากนอกอาเซียนสูงเป็นอันดับสอง รองจากสิงคโปร์ แต่ถึง พ.ศ. 2558 ประเทศไทยตกเป็นอันดับห้า รองจากสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (รองจากไทยคือ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน)
นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง เช่น
- การขอใบอนุญาตพื้นที่ก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ. 2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -4.7 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงร้อยละ -1.0 ใน พ.ศ. 2558 และลดลงอีกร้อยละ -8.7 ใน พ.ศ. 2559
- ดัชนีวัสดุก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ. 2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -1.7 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงร้อยละ -2.4 ใน พ.ศ. 2558 และลดลงร้อยละ -2.0 ใน พ.ศ. 2559
เช่นเดียวกับรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง จากลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -5.6 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงอีกร้อยละ -10 ใน พ.ศ. 2558 และเพิ่มเพียงร้อยละ 1.3 ใน พ.ศ. 2559 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ใน พ.ศ. 2556 ก็ชะลอลงเป็นร้อยละ 11 ใน พ.ศ. 2559
นอกจากนี้ การใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนของประชาชนลดลง (ติดลบ) ทุกปี จากลดลงร้อยละ -15.3 ใน พ.ศ. 2557 เป็นร้อยละ -6.7 ใน พ.ศ. 2558 และร้อยละ -1.2 ใน พ.ศ. 2559 สะท้อนความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและมาตรฐานการครองชีพที่ไม่กระเตื้องขึ้น ประเทศจึงเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร
4. เสียการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร
ก่อนหน้ารัฐประหาร พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ในหลายมาตรา ทว่าเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจก็ได้ยกเลิกฉันทามติการอยู่ร่วมกันในสังคมและหันมาใช้อำนาจเฉพาะกิจ อาทิ การออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2559 ฉบับที่ 4/2559 และฉบับที่ 9/2559 ปลดล็อคโรงไฟฟ้าขยะให้ตั้งในพื้นที่ใดก็ได้ และหากมีกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ก็ไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งผลให้มีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นประมาณ 50 แห่งเพียงแค่ในช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันหากมีการจัดกิจกรรมรับฟังสาธารณะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเทียบเรือ เหมืองถ่านหิน เหมืองทอง เหมืองโปแตช ชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบก็มักถูกควบคุมและกีดกันออกจากการประชุมโดยกำลังทหาร รวมทั้งยังมีการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม แกนนำการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในต่างจังหวัด ชนบทห่างไกล หรือเขตทุรกันดาร หากแต่ยังเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย ดังกรณีโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจากคนกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่มีคำถามถึงประโยชน์และผลกระทบที่คลุมเครือ เพราะไม่มีรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน แต่รัฐบาล คสช. ก็เดินหน้าอนุมัติดำเนินการต่อ เป็นต้น
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คสช. ไม่เคยนำข้อมูลและความเห็นของประชาชนกลับมาทบทวนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในแง่ของการศึกษาผลกระทบ การปฏิบัติการ รวมถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ จึงเป็นช่วงเวลา 3 ปีที่สังคมเสียโอกาสการมีส่วนร่วมและอำนาจในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร
5. เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ตลอดสามปีที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. ใช้คำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามประชาชนโดยเฉพาะคนระดับล่างหรือคนยากจนตลอดเวลา นับตั้งแต่การกล่าวหาว่าพวกเขายากจนเพราะฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้จักพอเพียง เช่น “บอกให้พวกเขาสอนลูกหลานให้รู้จักฐานะตนเอง ลูกต้องไม่รบกวนพ่อแม่จนเกินไป จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน...ไปหลงติดการพนัน สุรา ยาเสพติด ใช้ของราคาแพงเกิน” และครั้นจะให้ความช่วยเหลือ นอกจากจะเน้นในด้านการสงเคราะห์แทนจะเป็นการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนสถานะประชาชนผู้ทรงสิทธิให้เป็นคนอนาถา หัวหน้า คสช. ยังมักถือโอกาสตำหนิและทวงบุญประชาชนคุณเสมอมา ดังที่ว่า “ผู้มีรายได้น้อย ต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิด เพิ่มความขยันขันแข็ง...อย่าเกียจคร้าน รอรัฐบาลช่วยเหลือตลอดเวลา”
นอกจากนี้ หัวหน้า คสช. ยังมักแสดงทัศนะเชิงเหยียดเพศหญิงอยู่เสมอ เช่น “ผู้หญิงเปรียบเสมือนทอฟฟี่หรือขนมหวานที่ต้องมีห่อ หากเราเอาขนมมาขายแล้วเปิดห่อทั้งหมดก็คงไม่มีใครอยากกิน มันต้องอยู่ในห่อแล้วจะน่าสนใจ พอเห็นแล้วน่ากินจึงค่อยเปิดดู ส่วนที่เปิดหมดแล้วมันก็ไม่น่าสนใจ ส่วนคนที่ไม่เปิดก็โชคดีไป” ไม่นับรวมข้อที่เขาไม่เชื่อว่า “คนจน” จะมีความรู้ความเข้าใจในประชาธิปไตย ดังที่ว่า “ไอ้คนตัดหญ้าเนี่ยมันรู้เรื่องไหม ชาวนามันรู้เรื่องกี่คน ถามว่ารู้เรื่องประชาธิปไตยไหม”
สามปีที่ผ่านมาจึงเป็นสามปีที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนคนไทยได้ถูกกระทำย่ำยี ประชาชนถูกกล่าวหา ตีตรา และต้องแบกรับภาระในการแก้ปัญหา ทั้งที่สาเหตุมาจากโครงสร้าง กฎเกณฑ์ และกติกา ที่รัฐบาลและ คสช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
6. เสียสวัสดิการและคุณภาพชีวิต
ห้วงเวลา 3 ปีของรัฐบาล คสช. เป็นห้วงเวลาที่ประชาชนต้องจับตากับการเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาพยาบาลและการศึกษา
ระบบสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้าในประเทศไทยได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 จนกระทั่งครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมดของประเทศ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษา โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลงได้มาก พร้อมกันกับการประกาศคุณภาพการบริการพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่รัฐบาล คสช. กลับมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าไปเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม ด้วยความพยายามในการตัดสิทธิของประชาชนในการศึกษา 12 ปี (จนถึง ม.6 หรือ ปวช.) ตามรัฐธรรมนูญ ลงเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับ แล้วไปเพิ่มกองทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์แทน
เช่นเดียวกับเรื่องการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลพยายามจะจำกัดงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ รวมถึงพยายามจะเปลี่ยนแนวคิดและถ้อยคำที่มีการรับรองสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพทัดเทียมกันออกไปจากรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ สิทธิในการจัดการศึกษาด้วยตนเองของประชาชนและชุมชนก็ได้ถูกยกออกไปจากรัฐธรรมนูญด้วย
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในช่วงเวลา 3 ปีของรัฐบาล คสช. ประชาชนได้เสียสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งของตนให้กลายเป็นผู้รับบริการของภาครัฐไปแล้ว แม้การจับตาอย่างใกล้ชิดของภาคประชาชนจะมีผลให้รัฐบาล คสช. จำเป็นต้องกลับการตัดสินใจหลายครั้ง เช่น การออกประกาศ คสช. โดยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อขยายการให้สวัสดิการเรียนฟรีจนถึงชั้น ม.6 หรือ ปวช. และการบรรจุพยาบาล เป็นต้น
7. เสียโอกาสการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้
แม้หัวหน้า คสช. ประกาศจะ “ขจัดความเลวร้ายต่างๆ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายใน 6 เดือน อีกทั้งยังได้แต่งตั้ง ครม. ส่วนหน้าเป็นตัวแทนพิเศษของรัฐบาลมาแก้ปัญหา แต่สถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาชายแดนใต้ก็ไม่ได้คลี่คลายลง เนื่องภายใต้ระบอบ คสช. แนวทาง “การทหาร” ถูกนำมาใช้เหนือแนวทาง “การเมือง” โดยปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและสิทธิพลเมือง มีการเหวี่ยงแห เหมารวม และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (ดังกรณีการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) ขณะที่ปฏิบัติการทางการเมืองก็ยังมีข้อกังขาว่าไม่มีความจริงใจ เป็นเพียงการสร้างภาพ (เช่น ภาพนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปรับคนเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน การนำผู้ต้องสงสัยเข้าอบรมจริยธรรมทางศาสนาในค่ายทหาร) อีกทั้งยังปล่อยให้มีปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าว (IO) โจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและมีการขู่จะใช้มาตรการทางกฎหมายกับนักสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยเรื่องการซ้อมทรมานด้วยในกระบวนการรีดข้อมูลด้วย
นอกจากนี้ ในยุค คสช. อุดมการณ์ชาตินิยมแบบแข็งตัวถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น แม้ คสช.จะสานต่อการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ดำเนินการได้จำกัดอย่างมากเนื่องจากวางอยู่บนฐานคิดแบบชาตินิยม ส่งผลทำให้รัฐไทยกลายเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเจรจาแต่เพียงฝ่ายเดียว บนฐานของความหวาดกลัวและหวาดระแวงต่อองค์กรและกฎกติการะหว่างประเทศ จึงไม่สามารถรวมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกระบวนการเจรจาได้อย่างเต็มใจ
ในด้านการมีส่วนร่วม ทหารได้เข้ามาสังเกตการณ์และจับตากิจกรรมขององค์กรในภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดมากขึ้น มีความพยายามเรียกพบผู้ปฏิบัติงานเพื่ออบรมสั่งสอนให้มีความคิดและการทำงานภายใต้กรอบที่รัฐบาลทหารกำหนด รวมทั้งได้เข้ามาตรวจสอบแหล่งทุนของภาคประชาสังคมด้วย
ประการสำคัญ ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร การส่งเสริมความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และการศึกษาได้ลดน้อยลงไปมาก มีการคุกคามการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ (ดังกรณีการจัดการกับกลุ่มนักศึกษาที่แสดงป้าย “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า ‘คนปาตานี’ ” ในขบวนพาเหรดกีฬา) รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดด้านการด้านงบประมาณแผ่นดินประจำปีเพื่อช่วงชิงนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มาเรียนในโรงเรียนรัฐ
ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชายแดนใต้ คสช. เน้นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่มักส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมองและพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของวัฒนธรรมและศาสนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านี้ก็มักเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมากกว่าชาวบ้านทั่วไปหรือผู้ประสบปัญหาหรือว่าผู้มีความต้องการช่วยเหลือ
8. เสียระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ
คสช. ใช้งบประมาณจำนวนมากโดยที่สังคมมีข้อกังขาว่าไม่โปร่งใส ไม่จำเป็นและไม่คุ้มประโยชน์ เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนสามลำรวม 36,000 ล้านบาท ที่จะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ในอ่าวไทยที่มีความลึกเฉลี่ยเพียง 44 เมตร ขณะที่ความลึกที่เหมาะสมสำหรับเรือดำน้ำรุ่นนี้คือ 60 เมตร หากจะมีเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนการอ้างว่า สามารถใช้สำรวจทรัพยากรทางทะเลได้ ก็ไม่จริง เพราะลักษณะการใช้งานและการติดอุปกรณ์เป็นคนละประเภท หากจะมีเรือเพื่อสำรวจทรัพยากรก็ควรซื้อเรือสำรวจทรัพยากรใต้น้ำแทน และราคาถูกกว่าด้วย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีบทเรียนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ซื้อเครื่องตรวจจับระเบิด GT 200 ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท ต่อมาศาลประเทศอังกฤษได้ลงโทษบริษัทผู้ขายโทษฐานหลอกลวง เพราะเครื่องดังกล่าวมีต้นทุนเพียง 600 บาท สูญงบประมาณ 660 ล้านบาท หรือกรณีเรือเหาะตรวจการณ์ใน พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถใช้งานได้
สามปีที่ผ่านมาจึงเป็นสามปีที่กองทัพใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างขาดความโปร่งใสและไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากกลไกในการตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง กองทัพจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบการใช้งบประมาณเช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่นๆ
9. เสียหน้าในประชาคมโลก
รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งหนึ่งในผลประโยชน์ของชาติคือศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ แต่รัฐบาล คสช. กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบในเวทีระหว่างประเทศตลอดสามปีที่ผ่านมา อาทิ
รัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องให้ คสช. คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็ว
สหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทย ลดระดับการฝึกซ้อมร่วมคอบร้าโกลด์ให้เหลือเพียงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ระงับการซ้อมรบร่วมทางทะเลตามโครงการ “การัต” (Carat)
สหภาพยุโรปมีมติระงับการเจรจาข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับไทย รวมทั้งการเยือนอย่างเป็นทางการจนกว่าประชาธิปไตยในไทยจะได้รับการฟื้นฟู
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สหภาพยุโรป องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น Human Rights Watch, Asian Human Rights Commission ฯลฯ ประณามการจับกุมและคุกคามนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย การใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน การใช้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 ของ คสช. และการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างกว้างขวาง
ในเดือนพฤษภาคม 2559 ประเทศไทยเผชิญกับการทำให้อับอายในที่ประชุม “การทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Periodic Reviews) ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์สพาดหัวข่าวว่า “Thailand faces "moment of shame" at UN rights council review”
ในระหว่างการประชุม สมาชิกสหประชาชาติ 97 ประเทศได้ยื่นข้อเสนอแนะ 249 ข้อเพื่อให้รัฐบาลทหารปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย อาทิ การคุกคามและจับกุมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย การใช้มาตรา 44 การใช้ศาลทหารกับพลเรือน การซ้อมทรมาน การบังคับอุ้มหายในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับใช้และการลงโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การค้ามนุษย์ ฯลฯ
นายเดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดูแลกิจการด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิควิจารณ์กรณี สนช. มีมติให้ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์กรณีจำนำข้าวและคอรัปชั่นว่า กระบวนการทางการเมืองที่ดำรงอยู่ไม่ได้เป็นตัวแทนของทุกฝ่ายในสังคม
กรณีจับกุมคุมขัง “ไผ่ ดาวดิน” (จาตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) และปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่งผลให้ Human Rights Watch ออกแถลงการณ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ไทยทบทวนมาตรา 112 ล่าสุดคณะกรรมการรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ได้มอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2560 ให้แก่ไผ่ ในฐานะผู้ต่อสู้และปกป้องประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน
เหตุการณ์ข้างต้นคือการประกาศของอารยะประเทศว่าพวกเขาไม่สามารถยอมรับและนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมอำนาจนิยมของ คสช.และพลพรรค
10. เสียความทรงจำ
ประวัติศาสตร์ชาติครอบงำความคิดของคนไทยมาเนิ่นนาน ผ่านตำราเรียนที่เขียนขึ้นโดยรัฐ และวิธีการสอนที่ไม่เอื้อให้เกิดทักษะเพื่อการคิดวิเคราะห์ บ่อยครั้งที่อดีตบางอย่างถูกรัฐขีดฆ่าและลบออกไปจากความทรงจำของสาธารณะ และในขณะเดียวกันก็มักมีประวัติศาสตร์ชุดใหม่ที่เพิ่งสร้างเข้ามาแทนที่ ดังกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 มีกลุ่มคนที่ตั้งตนเป็น “ปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475” เพื่อล้มล้างความน่าเชื่อถือของคณะราษฎร เวลาผ่านไปกว่า 8 ทศวรรษ ความพยายามล้มล้างบทบาทการปฏิวัติของคณะราษฎรก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ดี ในประเทศประชาธิปไตย การลบล้างประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะผู้กระทำการจะพบกับการต่อต้านโดยสังคม แต่ในสังคมเผด็จการ การต่อต้านการลบล้างอดีตเกิดขึ้นได้ยาก เพราะนอกจากผู้คนจำนวนมากจะหันหลังให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว รัฐบาลยังปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่างอย่างรุนแรง พร้อมกับผูกขาดประวัติศาสตร์และฉกชิงประวัติศาสตร์ให้มาอยู่ข้างตนเอง ดังกรณีการหายไปของหมุดคณะราษฎรและแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส”