องค์การยูนิเซฟร่วมมือ ศอ.บต. ช่วยเหลือเด็กสามจังหวัดชายแดนใต้
ปัตตานี
ในวันพุธ (24 พฤษภาคม 2560) นี้ เจ้าหน้าที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะพูดคุยกัน ในเรื่องความร่วมมือระหว่างกัน ในการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในห้วงเวลาสิบสามปีที่ผ่านมามีเด็กเสียชีวิต 90 ราย บาดเจ็บ 491 ราย
นายแกรี่ ริสเซอร์ (Mr. Gary Risser) หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก และนายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เดินทาง เข้าพบพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. โดยมีนายสนั่น สนธิเมือง ผู้อำนวยการ สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศอ.บต. นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. และผู้แทนจากสำนักส่วน ศอ.บต. ร่วมพูดคุย
พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า การพบปะกับทางคณะองค์การยูนิเซฟครั้งนี้ มีการพูดคุยในบทบาทหน้าที่ขององค์การยูนิเซฟในการให้การคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือดูแลเด็ก รวมถึงโครงการในระยะ 5 ปี ของยูนิเซฟที่เริ่มต้นในปีนี้ ในการวางกรอบการดูแลเด็ก ทั้งในเรื่องการศึกษา เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงเด็กที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ
พลเรือตรีสมเกียรติ กล่าวถึงการดูแลเด็กว่า ศอ.บต. ให้การดูแลเด็กตามช่วงอายุ กลุ่มที่ 1 คือ การดูและเด็กเล็กปฐมวัย อายุประมาณ 3-5 ขวบ ได้ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย การศึกษา และพัฒนาการทางสมองของเด็ก การดูแลเด็กชั้นประถม อายุ 6 -11 ขวบ และเด็กอายุระหว่าง 11- 14 ปี ทั้งนี้ ศอ.บต. ยังให้การดูแล สนับสนุนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
กลุ่มที่ 2 คือ เด็กที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ซึ่ง ศอ.บต. ให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมทุกด้าน เช่น เด็กถูกทอดทิ้งที่เป็นเด็กกำพร้า เด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เด็กที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ ศอ.บต. ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษและเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ในสังคม
และกลุ่มที่ 3 คือการดูแลเด็กไม่ให้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความมั่นคง ทั้งนี้ เนื่องจากเคยมีข้อมูลเมื่อประมาณหกปีก่อนที่ปรากฏว่า ศอ.บต. ใช้แรงงานเด็กเป็น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ซึ่งทำให้ต้องยืนยันว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาพดังกล่าวไม่มีปรากฎอีกแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในอดีต เป็นเพียงที่เด็กติดตามพ่อแม่ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยปัจจุบันมีกฎระเบียบออกมาอย่างชัดเจนและไม่มีปรากฎในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
"ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ถูกหยิบยกเรื่องเด็กกับความมั่นคง ในต่างประเทศก็ถูกหยิบยกเช่นเดียวกัน สำหรับกรณีความเข้าใจผิดดังกล่าว ต้องมีหลักฐานช่วยยืนยันว่า ศอ.บต. ไม่มีกฎรับเด็กเป็น ชรบ. ซึ่งทางองค์การยูนิเซฟมีความยินดีจะแก้ไขเรื่องดังกล่าว" นายแกรี่ ริสเซอร์ กล่าวตอบรับถึงเรื่องดังกล่าว
พลเรือตรีสมเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ในอนาคต ศอ.บต. จะมีการประสานงานร่วมกัน เพื่อให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น โดยองค์การยูนิเซฟจะช่วยประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนกิจกรรมดีๆ ที่ ศอ.บต.ดำเนินการ รวมถึงการวางแผนร่วมกันในการช่วยเหลือเด็ก การเติมเต็มให้เด็กผ่านการทำโครงการร่วมกัน และการจัดสัมมนาวงเล็ก ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับ ศอ.บต. และองค์กรระหว่างประเทศในการดูแลด้วย
“เราเชื่อว่า เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการดูแลที่อาจจะดีกว่าเด็กในภูมิภาคอื่นด้วยซ้ำ นี่คือ สิ่งที่ยูนิเซฟคิดไม่ถึง เพราะด้วยบ้านเรายังมีเหตุการณ์อยู่ แต่ในความเป็นจริง เรามีการดูแลตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งก็มีหลายภาคส่วนเข้ามาสนับสนุนด้วย”พลเรือตรีสมเกียรติ กล่าว
นายแกรี่ ริสเซอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำงานขององค์การยูนิเซฟนั้น ยังให้ความสำคัญกับประเด็นทางอัตลักษณ์สังคมของเด็กด้วย โดยล่าสุด มีการช่วยเหลือเยียวยาทางจิตสังคมให้กับเด็กที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องเยียวยาทางจิตสังคมอาจจะมีการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในอนาคต ซึ่งก็สอดคล้องกับงานด้านเยียวยาของ ศอ.บต.ที่มีการจัด ค่ายครอบครัวอบอุ่น ให้กับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย
"องค์การยูนิเซฟจะมีการวางแผนการทำงานร่วมกัน และการจัดโครงการเยียวยาเด็กร่วมกับ ศอ.บต. ในอนาคตด้วย" นายแกรี่ ริสเซอร์กล่าว
น.ส.อัญชนา หีมมีน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า จากสถิติตั้งแต่ ปี 2547-2560 ในภาพรวมพบว่าจำนวนเด็กที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 581 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 90 ราย และได้รับบาดเจ็บ 491 ราย นอกจากนั้น ยังมีเด็กกำพร้าบิดามารดาอีกกว่าหกพันราย
Mr. Gary Risser หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (ซ้ายมือ) และพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. (ขวามือ) แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็ก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์)
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-deepsouth-unicef-05242017151345.html