ถือศีลอดแบบอิสลาม (IF) เพิ่มภูมิต้านทานโรค
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ในทางการแพทย์ มองการถือศีลอดแบบอิสลามในเดือนรอมฎอน (Islamic Fasting) ว่าเป็นการอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittent Fasting เรียกย่อว่า IF) เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการกินอาหารและการนอนหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ร่างกายยังคงได้รับอาหารเท่าเดิมเพียงเปลี่ยนมื้ออาหารเท่านั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ว่านี้หากไม่บริโภคมากเกินไปหลังการถือศีลอด งานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นทั่วโลกพบว่าให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ
งานวิจัยจาก ดร.แอกซุนกา (FB Aksungar) แห่งมหาวิทยาลัยอาซิบาเด็ม (Acibadem University) ประเทศตุรกี ตีพิมพ์ในวารสาร J Nutr Health Aging วอลุ่ม 21 ค.ศ.2017 ทำการศึกษาผลของ IF เปรียบเทียบกับการอดอาหารแบบเข้มงวดสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนเพื่อลดอาหารให้พลังงานที่ร่างกายได้รับหรือ Caloric Restriction (CR) โดยศึกษาหญิงอ้วนกลุ่ม CR 23 คนอดอาหาร 12 เดือนเทียบกับหญิงที่ถือศีลอดแบบอิสลาม IF หนึ่งเดือน ได้ผลสรุปที่น่าสนใจ
คนอ้วนที่อดอาหารแบบ CR เมื่อลดน้ำหนักได้ย่อมก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ขณะที่ IF น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยน มีผลดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกันหรือมากกว่านั่นคือภูมิต้านทานต่อโรคดีขึ้น ทั้งสุขภาพโดยรวมดีขึ้น งานวิจัยสรุปว่า IF ซึ่งไม่มีการลดพลังงานจากอาหารแต่ปรับเปลี่ยนกระบวนการกินและการนอน ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยร่างกายมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น โดยดีกว่าผู้ที่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้ร่างกายไม่ถูกกระตุ้นทางเมแทบอลิซึม จึงไม่สร้างประโยชน์ต่อสุขภาพ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
อดอาหารแบบอิสลาม (Islamic Fasting) ช่วยพัฒนาเซลล์สมองและยืดอายุ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ถือศีลอดไม่สร้างปัญหาต่อวงจรการนอน โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน