Skip to main content

 

ทางออกความขัดแย้ง "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา" ในมุมคิดของ อ.หุดดีน อุสมา

นักวิชาการท้องถิ่น ผู้น่าเคารพนับถือ และตรงไปตรงมาในความคิด

 

 

ผมได้เรียบเรียงความคิดของ อาจารย์หุดดีนจากการสนทนากันของกลุ่มสื่อสารหนึ่งในโลกออนไลน์ จึงคิดว่าน่าจะนำมาเผยแพร่ ขยายความให้พวกเรา หรือพี่น้องทั่วไปได้ต่อยอดความคิดต่อเรื่องนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่แทบจะไร้ทางไป ส่วนราชการเองก็ถูกบีบบังคับทางนโยบาย บริษัทที่ปรึกษาโครงการก็จ้องแต่จะเดินหน้าโดยไม่สนใจสภาพของข้อเท็จจริง ส่วนผู้ที่เล็งเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า ก็เดินหน้าสนับสนุนอย่างไม่สนใจสิ่งใด

ผมคิดว่าอาจารย์หุดดีนพยายามทำหน้าที่ในฐานะของคนในพื้นที่ ที่ไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ นัยหนึ่งคงต้องการต้องการสื่อสารทางออกต่อเรื่องนี้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วย ดังเนื้อความดังนี้...

เราไม่ได้ห่วงว่า จะมีท่าเรือน้ำลึกหรือไม่มี มีอุตสาหกรรมหรือไม่มี เส้นทางแลนด์บริดจ์ หรือถนน 16 เลน จะมีหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับเราก็คือ

1. ทิศทางการพัฒนาควรเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งถ้าโฟกัสลงไปภาคใต้เราต้องการให้เป็นฐานของการท่องเที่ยวใช่หรือไม่ แต่ถ้าจะเอาอุตสาหกรรมลงจะไป ก็จะต้องมาดูว่าขัดกัน หรือไปด้วยกันได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นแล้วอุตสาหกรรมที่เข้ามาแบบไม่ได้แยกแยะก็จะมาทำลายการท่องเที่ยวไปในที่สุด เพราะอุตสาหกรรมจะสร้างรายได้มากมายแค่ไหนก็ตาม แต่พิสูจน์แล้วว่าประเทศที่เคยเดินหน้าเรื่องอุตสาหกรรมทั้งหลายเขากำลังถอย และย้ายฐานออกไปจากบ้านเมืองเขาเกือบทั้งหมดแล้ว เพราะเห็นถึงความหายนะที่เกิดขึ้นสภาพแวดล้อมและผู้คนในประเทศของเขา ซึ่งในขณะนี้ประเทศเหล่านั้นได้เปิดประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น และเขาก็เรียนรู้และมีบทเรียนถึงความหายนะเหล่านี้ก่อนเรา ในขณะที่เราคิดแค่ให้ได้เงินเยอะๆ สุดท้ายเงินช่วยอะไรไม่ได้ เมื่อคนเป็นมะเร็ง ล้มตายเป็นจำนวนมาก

การพัฒนาประเทศของเรา ไม่ได้ใช้ฐานความรู้จริงๆ(วิจัย) นโยบายก็คิดกันแบบฉาบฉวย และหวังเป้าหมายเพียงผลประโยชน์เฉพาะตนและกลุ่มพวกพ้องเป็นที่ตั้ง คิดเพียงลวกๆ เร็วๆ ไม่รับผิดชอบต่อผลระยะยาวรัฐบาลที่ผ่านคิดสร้างนโยบายในลักษณะนี้ทั้งสิ้น และยังขาดความรับผิดชอบ(unaccountability) ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมาตลอด ไม่คำนึงถึงผลกระทบในอนาคต

2 กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในนาม ค.1 หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นกระบวนการไม่โปร่งใส อยุติธรรม คดโกง เอาเปรียบ จัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยโดยใช้ระบบอำนาจเป็นตัวตั้ง แม้แต่กระบวนการทางกฏหมายเอง ก็ยังไร้มาตรฐานอยู่ ประเด็นจึงไม่ใช่อยู่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่ หรืออุตสาหกรรม แต่ที่สำคัญคือ

1. ความโปร่งใส (ไม่อยู่ในมือของทุนสามานย์)

2.ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

3.กระบวนการพัฒนาที่วางพื้นฐานอยู่บนข้อมูล ความรู้และบทเรียน

4.ความยุติธรรม

5. กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

อาจารย์ยังทิ้งท้ายข้อเสนอที่น่าสนใจในบทสนทนานั้นว่า ท่านเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง หากจะมีการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้มีการพูดคุยต่อทางออกในเรื่องนี้ของทุกฝ่าย ผมยังคิดว่านี้แหละคือหน้าที่ของของผู้มีอำนาจทีควรจะกระทำ หรือหากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลจะเลือกสร้างทางออกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ก็ลองพิจารณากันดูนะครับ

 

(เรียบเรียงจากความคิดของ อ.หุดดีน อุสนา โดย สมบูรณ์ คำแหง)

3 มิถุนายน 2560

เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ค Somboon Khamhang