ละศีลอดที่ศูนย์กลางอิสลาม คลองตัน
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1438 ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์พอดิบพอดี มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง คลองตัน เรียกกันสั้นๆว่า “ศูนย์กลางอิสลาม คลองตัน” จัดงานเลี้ยงละศีลอดซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีโดยเชิญผู้แทนสถานทูตต่างๆในประเทศไทยเข้าร่วม ผมได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในแขกวีไอพี ไม่อยากจะพลาดโอกาสอันสำคัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รู้ว่ามีกุรหม่าแพะจากร้านโซเฟียจัดเตรียมไว้
ศูนย์กลางอิสลามหรือ Islamic Center แค่ชื่อก็สร้างความสับสนกับคนที่ไม่คุ้นเคย คนจำนวนไม่น้อยจดจำสลับกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนคลองเก้า เขตหนองจอก กับมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนรามคำแหง คลองตัน ยิ่งคนต่างชาติยิ่งสับสน ความที่ศูนย์กลางอิสลาม คลองตัน มีอาคารใหญ่โต ทั้งมีชื่อเสียง แถมมีกิจกรรมใหญ่ๆจัดขึ้นบ่อย ความสับสนที่ว่านี้ก็ยิ่งมีมาก แต่ต้องให้เครดิตเนื่องจากทางศูนย์กลางอิสลามวางตนเองไว้ดี ถึงจะสับสนทว่าสร้างแต่ศรัทธาไม่เคยสร้างปัญหา
ศูนย์กลางอิสลาม คลองตัน มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ เริ่มต้นกันจริงๆต้องย้อนกลับไปถึง พ.ศ.2497 ที่เริ่มแนวคิดที่จะจัดตั้งสถานที่สักแห่งเพื่อเป็นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างมุสลิมที่ทำงานสังคม จัดหาที่ดินได้สิบไร่ หาทุนรอนกันต่อจนกระทั่งเริ่มวางศิลาฤกษ์ก็เข้า พ.ศ.2514 เข้าไปแล้วคนที่มาเป็นประธานในงานคือจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีครั้งนั้น วางศิลาฤกษ์เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคมปีเดียวกันเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า 14 ตุลา ผมเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์เวลานั้นเข้าไปร่วมเดินขบวนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไปด้วย ไม่เคยลืมจนถึงบัดนี้
วางศิลาฤกษ์แล้วยังใช้เวลาสะสมทุนและก่อสร้างอีกหลายปีจนถึง พ.ศ.2527 จึงแล้วเสร็จ จนถึงวันนี้มีประธานมูลนิธิมาแล้ว 11 คนโดยคนล่าสุดคือคุณสามารถ มะลูลีม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เขตสวนหลวงซึ่งเป็นเขตสังกัดของผมเอง ท่านเป็นคนมีเพื่อนฝูงมาก กลุ่มไลน์ของท่านมีสมาชิก 313 คน แต่ละคนขยันส่งข่าวกระทั่งทำให้ไลน์กลุ่มของท่านคับคั่งมากที่สุดเท่าที่เคยเห็น
งานเลี้ยงละศีลอดที่ศูนย์กลางอิสลาม คลองตัน ปีนี้มีเอกอัครราชทูต อัครราชทูต และผู้แทนทูตมาร่วมกันเกิน 30 ประเทศ นับว่ามากที่สุดตั้งแต่เคยจัดงานมา ผมนั่งติดกับทูตวัฒนธรรมของอิหร่านนาย Zeinali ท่านบอกว่าจะส่งนักวิทยาศาสตร์อิหร่านมาคุยกับผมเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลระหว่างประเทศไทยกับอิหร่าน ส่วนด้านซ้ายมือเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาของสหรัฐอเมริกา นาย Peter Heymond เป็นเบอร์สองรองจากเอกอัครราชทูต ท่านแต่งงานกับคุณดุษฎีสาวไทยจบอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นน้องภรรยาผมห้าปี คุณปีเตอร์พูดไทยได้คล่องแคล่วเพราะอยู่เมืองไทยมาแล้วหลายครั้ง ตามธรรมเนียมทูตอเมริกันคือแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่าอยากจะเห็นการเลือกตั้งเร็วๆ ผมได้แต่ยิ้มตามสไตล์สยาม การยิ้มนั้นดีที่สุดเสมอ
ก่อนกลับผมร่วมละหมาดตะรอเวียะฮ์ที่มัสยิดแห่งนี้เป็นการละหมาด 8 รอกะอัตแตกต่างจากมัสยิดส่วนใหญ่ที่ละหมาด 20 รอกะอัต เลิกละหมาดแล้วท่านอิหม่ามทวี นภากร อบรมจริยธรรมอีก 15 นาทีเป็นอันจบ เป็นวัฒนธรรมอิสลามที่สมควรรักษาไว้