อิควานฯ: ครูตัวเล็กๆ ในกาตาร์
......... กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้อนรับสมาชิกอิควานฯ ซึ่งอาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ฉันท์มิตรพี่น้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากบรรดาสมาชิก ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ถ้าพิเคราะห์กันถึงอดีต “กาตาร์” ได้ค้นพบน้ำมันดิบในช่วงทศวรรรษที่ 1930 และสามารถผลิตส่งออกในช่วงทศวรรษที่ 1940 จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจตามมา ด้วยเหตุนี้ กาตาร์จึงมีความพยายามที่จะสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกนัยหนึ่ง คือ มีความต้องการทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ เช่นเดียวกับประเทศอาหรับอื่นๆ ในกรณีเช่นนี้ กาตาร์จึงต้องการปัญญาชน ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาหรับอื่นๆ ที่พัฒนามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอียิปต์ จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้สมาชิกอิควานฯ หลั่งไหลเข้ามาและมีบทบาทอย่างมากในการศึกษาทุกระดับ
.... อย่างไรก็ตาม 60 ปี ก่อน ย้อนไปสู่ Abdul-Badi Saqr อิสลามิสต์ชาวอียิปต์ ที่พยายามผลักดันสถาบันการศึกษา ประกอบกับ ทางการกาตาร์เปิดรับสมัครครูสอนจากอียิปต์ กล่าวได้ว่า ผู้อำนวยการด้านการศึกษาคนแรกก็เป็นสมาชิกอิควานฯ ที่มาจากอียิปต์ และผู้ที่มีตำแหน่งเดียวกันนั้น หลังจากนั้นก็เป็นสมาชิกอิควานฯ ซึ่งได้ทำงานยาวนานถึง 15 ปี จากปี 1964-1979
..... ในทำนองเดียวกัน เชค ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฏอวีย์ หนึ่งในผู้รู้คนสำคัญปัจจุบันที่มีอิทธิพลไม่เพียงเฉพาะแต่อิควานฯ แต่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดผู้รู้อื่นๆ ทั่วโลก และเป็นผู้วางแนวทางการวินิจฉัยปัญหาร่วมสมัยต่างๆ แต่เดิมนั้น ท่านได้ลี้ภัยเข้าสู่กาตาร์ ในปี 1961 ที่ซึ่งได้ก่อร่างและทำงานผลักดันสถาบันทางศาสนาขึ้นมา รวมถึงการเป็นผู้อำนวยการสถาบันทางศาสนา ก่อนที่จะมาเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งวิทยาลัยชารีอะฮฺและอิสลามในมหาวิทยาลัยกาตาร์ ทั้งนี้ ในศตวรรษที่ 21 ปัจจุบัน กาตาร์ก็ยังคงมอบโอกาสให้กับสมาชิกอิควานฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เฉพาะแต่ในกาตาร์เท่านั้น แต่ยังสนับสนุนในพื้นที่ต่างๆ ในโลกอาหรับ
..... และเมื่อกล่าวถึงระบบการศึกษาในกาตาร์ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการถกเถียงและมีความเห็นที่ต่างกัน แต่ “Education City” หรือ “เมืองแห่งการศึกษา” สถานที่ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลักและให้บริการวิชาการโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มาจากตะวันตก เช่น Georgetown University, Cornell University ฯลฯ ก็เป็นภาพสะท้อนได้ดีในการบ่งบอกทิศทางการปฏิรูปของกาตาร์
..... ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ กระแสอิสลามศึกษาในกาตาร์ เป็นกระแสที่ควรน่าติดตาม และถือว่าเป็นกระแสที่โดดเด่นในโลกปัจจุบัน ซึ่งเน้นทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านปรัชญา คุณค่าจริยศาสตร์ กระแสความรู้เหล่านี้มีความจำเป็นในประเทศไทยซึ่งปรับความคิดผู้คนให้มีกระบวนการที่ถูกต้องและตกผลึกมากขึ้น รวมถึงมีการก่อตั้ง ศูนย์วิจัย ที่มีชื่อว่า "The Research Center for Islamic Legislation and Ethics (CILE)" ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เชื่อมโยงและผลิตงานทางความคิดอิสลามทั้งที่เป็นมรดกอิสลามในอดีตและประเด็นร่วมสมัย โดยไม่ทิ้งศาสตร์สมัยใหม่ทั้งตะวันตกและตะวันออก โดยมี Prof. Dr. Tariq Ramadan เป็นผู้อำนวยการบริหาร
.... อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาในกาตาร์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มาจากความเสียสละของชาวกาตาร์และพี่น้องต่างแดนที่เข้ามาหล่อหลอมให้เกิดภาพจริงของกาตาร์ปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยชาวอาหรับ อินเดีย ปากี และอิหร่าน ฯลฯ และมีคุณครูผู้สอนบางส่วนที่มาจากอียิปต์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสมาชิกอิควานฯ นั้นเอง
ที่มา
1. หนังสือ Turkey and Qatar in the Tangled Geopolitics of the Middle East by Birol Başkan
2. http://www.thenational.ae/world/qatar/inside-doha-at-the-heart-of-a-gcc-dispute