สนทนากับ ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ อัล ก็อรฎอวียฺ
ในรายการของช่อง อัลญะซีเราะฮฺ
อัล-ญะซีเราะฮฺ : ท่านระบุว่ากลุ่มกระแสสายกลาง เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมและการยอมรับมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จากบรรดามุสลิมโดยทั่วไป คำถามก็คือว่า อะไรคือลักษณะพิเศษของกระแสอันนี้? แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้มันได้รับความนิยมมากกว่ากระแสอื่น ?
ชัยคฺ ยุซูฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ: ข้าพเจ้าคิดว่ากระแสสายกลางอิสลามเป็นกระแสที่เกิดขึ้นผ่านสาระความแท้จริงของคำสอนอิสลาม กระแสนี้ได้สร้างความหวังและความความ
ใฝ่ฝันให้แก่อุมมะฮฺ(ประชาชาติอิสลาม) กระแสนี้มีระยะเวลาที่เก่ากว่าและความยาวนานกว่ากระแสอื่นๆ กระแสนี้มีความมั่นคงมากกว่ากระแสอื่นๆ มันจึงมีความกว้างขวางที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้นกระแสสายกลางของอิสลามจึงได้ก่อเกิดเครือข่ายอันยิ่งใหญ่ที่ครอบคลุมโลกอิสลาม พวกเขาได้แก่ ขบวนการภราดรภาพมุสลิม ในอิยิปต์และโลกมุสลิม, ญะมะอะฮฺ อิสลามียะฮฺ แห่งปากิสตาน อินเดีย และบังคลาเทศ(คือองค์กรที่ก่อตั้งโดยอบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดียฺ) ,พรรครอฟะฮฺ แห่งตุรกี(ปัจจุบันพรรคนี้ถูกแบน และก่อตั้งในชื่อใหม่ว่า พรรคยุติธรรมและความก้าวหน้า ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของตุรกีเมื่อเร็วๆนี้) ,พรรคอิศลาฮฺ วัต-ตัจญฺดีด ในโมร็อคโค, พรรคอัล-นะฮฺเฎาะฮฺ ในแอลญิเรีย และยังมีกลุ่มต่างๆอีกจำนวนมากที่อยู่ในกระแสสายกลางอันนี้
อีกทั้งตำรับตำราของกลุ่มที่อยู่ในกระแสนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จากการที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับพี่น้องมุสลิมในการเดินทางของข้าพเจ้าในประเทศอิสลามต่างๆ ข้าพเจ้าพบว่ากระแสสายกลางเป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด
จริงอยู่ว่าในช่วงเริ่มต้นของทศวรรษ 70(ปีคศ.1970-1980) ซึ่งเป็นระยะที่กระแสต่างๆของการฟื้นฟูอิสลามได้เริ่มต้นขึ้นนั้น ปรากฏว่ากระแสที่สุดโต่งได้ครอบงำเหนือคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยตอนนั้นฉันได้เห็นถึงความเลยเถิดและความสุดโต่งปรากฏในคนหนุ่มสาวเหล่านั้นแต่จากการจัดการพบปะที่จัดขึ้นโดยข้าพเจ้าเอง และชัยคฺ มุฮัมมัด อัล-เฆาะซาลียฺ, ชัยคฺ สัยยิด ซาบิก และนักทำงานอิสลามที่นิยมทางสายกลางท่านอื่นๆกับบรรดาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ แนวทางสายกลางก็เริ่มปรากฏในตัวพวกเขาด้วยเหตุนี้เองที่ต่อมากระแสสายกลาง จึงได้รับความนิยมมากที่สุด
อัล-ญะซีเราะฮฺ : ชัยคฺครับ แล้วอะไรคือลักษณะพิเศษของกระแสสายกลางนี้รวมทั้งแนวความคิดหลักๆของมันครับ?
ชัยคฺ ยุซูฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ: กระแสสายกลางเป็นลักษณะพิเศษของอุมมะฮฺ อิสลามียะฮฺ ดังที่ปรากฎในอัล-กุรอานที่ว่า “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย” (1)
อุมมะฮฺนี้คือ อุมมะฮฺสายกลาง อุมมะฮฺนี้ไม่ใช่อุมมะฮฺที่หย่อนยาน อุมมะฮฺนี้ไม่ใช่อุมมะฮฺที่สุดโต่ง ท่านเราะซูล ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า "พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว พวกสุดโต่งได้พินาศแล้ว” (2)
นอกจากนี้ อิบนุ อับบาส ได้รายงานว่าท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า "พวกท่านจงระวังความเลยเถิด แท้จริงผู้คนก่อนหน้าพวกเท่าได้พินาศไปแล้ว เนื่องจากความเลยเถิดในเรื่องศาสนา” (3)
คำว่า ความเลยเถิดและความสุดโต่ง เป็นสองสิ่งที่ถูกปฏิเสธในอิสลาม เช่นเดียวกันคำว่า ความหย่อนยานและความหละหลวม ก็เป็นสองคำที่ถูกปฏิเสธเช่นกัน
เราต้องการให้มีมาตรฐานสายกลางเกิดขึ้น ดังที่ท่านอลี บิน อบี ฏอลิบ ได้กล่าวว่า "พวกท่านจงยึดทางสายกลาง ผู้ที่อยู่หลัง(หย่อนยาน)ต้องยึดมัน ส่วนผู้ที่เลยไปแล้วต้องหวนกลับ”
กระแสสายกลางอันนี้มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นการรวมกันระหว่างแนวคิดสลาฟียะฮฺ(การหันกลับไปยึดแนวทางของคนยุคแรกหรือชาวสลัฟ)และแนวคิดตัจญดีด (การฟื้นฟูประชาคมมุสลิม) นั่นคือการกลับไปสู่วิถีทางของคนยุคแรก เป็นแนวทางจากสิ่งที่บรรดาเศาะฮาบะฮฺ ตะบีอีน(ศิษย์ของเศาะฮาบะฮฺ)เป็นอยู่ในเรื่องของอีหม่าน ความเข้าใจศาสนา ความเรียบง่ายเนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มชนรุ่นแรกที่มีความเข้าใจอิสลามดีที่สุด เป็นกลุ่มชนที่มีจิตวิญญานแบบอิสลาม มีความเรียบง่าย มีหลักอะกีดะฮฺ และชะรีอะฮฺอิสลาม
สำหรับแนวคิดอีกด้านหนึ่งก็คือแนวคิดตัจญฺดีดนั้นไม่ได้ขัดแย้งกับแนวทางสลาฟียะฮฺแต่ประการใด บางคนเชื่อว่ามันไปกันไม่ได้ เปล่าเลย แนวคิดสลาฟียะฮฺนั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยเว้นแต่ต้องประกอบด้วยแนวคิดตัจญฺดีด และแนวคิดตัจญฺดีดก็เกิดขึ้นไม่ได้เว้นแต่ต้องประกอบด้วยแนวคิดสลาฟียะฮฺ
เนื่องจากคนยุคแรก(ชาวสลัฟ)นั้นเป็นกลุ่มชนที่เข้าใจอิสลามดีที่สุด ดังนั้น พวกเราต้องการกลับไปสู่อิสลามแบบยุคของเศาะฮาบะฮฺ โดยปราศจากเรื่องสุดโต่งและเลยเถิด เราพบว่าสำนักต่างๆที่ได้เรียกร้องผู้คนในการฟื้นฟู(ตัจญดีด)อย่างยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ฟิกฮฺอิสลามคือสำนักสลาฟียะฮฺ ได้แก่สำนักของอิบนุ ตัยมียะฮฺ และอิบนุ กอยยิม ซึ่งพวกเขาเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูและได้ทำการอิจญติฮาด(วินิจฉัยประเด็นร่วมสมัยต่างๆ) เรายังพบอีกว่านักฟื้นฟู(ทำการตัจญดีดฺ)ในยุคของเราได้แก่ชัยคฺ เราะชีด ริฎอ ซึ่งเป็นผู้นำสำนักสลาฟียะฮฺไปในเวลาเดียวกันด้วย
นอกจาก “ดุลยภาพ” ระหว่างแนวคิดสลาฟียะฮฺและแนวคิดตัจญดีดเป็นลักษณพิเศษอย่างแรกของกระแสสายกลางแล้วยังมีดุลยภาพระหว่างพลังที่มั่นคง(ของชะรีอะฮฺ)และศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง(ตามยุคสมัย) หรือความมั่นคงในเรื่องของชะรีอะฮฺและศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย นั่นคือเราจะรวมเอาระหว่างความเด็ดขาดของชะรีอะฮฺเข้ากับความจำเป็นต่างๆของยุคสมัยเข้าด้วยกันอย่างไร นั่นคือเราไม่สามารถแยกตัวเราเองออกจากมรดกที่ได้รับมาหรือจากอดีตได้
ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถแยกตัวเราเองออกจากปัจจุบันและอนาคตได้เช่นกัน หมายความว่าเราต้องอยู่ในปัจจุบันโดยต้องอาศัยแรงบันดาลใจจากอดีต โดยยังต้องทอดสายตาไปสู่อนาคตอีกด้วย อีกทั้งยังต้องออกห่างจากกระแสต่างๆ ที่พยายามทำให้อิสลามเกิดการแข็งตัว หรือทำให้อิสลามอ่อนตัวและถูกหลอมละลายไป สรุปว่าเราต้องอยู่ระหว่างสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ดุลยภาพระหว่างความจำเป็นแห่งยุคสมัยกับพลังอันมั่นคงของชะรีอะฮฺเป็นลักษณะพิเศษของอิสลามอย่างหนึ่งหากว่าเราได้มองดูอิสลามด้วยสายตาที่ไม่บกพร่องและมีความสมดุลก็จะพบว่าคำสอนอิสลามห่างไกลมากจากทั้งความแข็งทื่อความอ่อนปวกเปียก หรือการถูกแบ่งแยกเป็นส่วนๆ
แต่ก็ยังมีคนที่พยายามทำการแบ่งแยกอิสลาม โดยฉีกมันออกเป็นชิ้นๆ บางคนมองอิสลามเพียงในด้านจริยธรรม บ้างก็มองเพียงในด้านหลักความเชื่อ บ้างก็มองเพียงในด้านญิฮาด บ้างก็มองในด้านการเมือง โดยที่พวกเขาได้ทอดทิ้งด้านอื่นๆไปเสีย จริงๆแล้วก็เป็นเรื่องปกติที่คนๆหนึ่งต้องปฏิบัติงานอยู่ในด้านหนึ่งด้านใดดังที่กล่าวมา แต่เขาต้องไม่ออกมาปะทะกับด้านอื่นๆ หรือทอดทิ้งด้านอื่นๆที่คนอื่นปฏิบัติงานอยู่
ดังนั้น ข้าพเจ้าไม่พบอุปสรรคใดๆเลยจากที่มีญะมาอะฮฺ(กลุ่มทำงานต่างๆ)อยู่จำนวนมาก เพราะญะมาอะฮฺทั้งหมดต่างก็ทำงานอยู่ในด้านใดด้านหนึ่งบางกลุ่มก็ให้ให้ความสนใจกับการทำงานในด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดตั้งธนาคารอิสลามบางกลุ่มก็ทำงานในด้านการศึกษาและการสร้างโรงเรียน บางกลุ่มก็ทำงานด้านชะรีอะฮฺ อะกีดะฮฺ และต่อสู้กับชิรกฺต่างๆและความหลงผิดอยู่ บางกลุ่มก็ลุยสู่สนามต่อสู้ทางการเมือง และต้องปะทะกับพวกเซ็คคิวลาร์และพวกต่อต้านศาสนาอัลลอฮฺจะตอบแทนความดีให้แก่พวกเขาทั้งหมด แต่สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือการสร้างความร่วมมือและการช่วยเหลือระหว่างกันและกัน ต้องมีระดับในการเข้าร่วม(พบปะกัน)และมีจุดยืนของเป้าหมายที่อยู่ในแถวเดียวกัน
---------------------------------
seed ikwan นำเสนอ
อบู ชุเราะหฺบีล แปลและเรียบเรียง
---------------------------------
เชิงอรรถโดยผู้แปล
(1)อัลบะกอเราะฮฺ :143
(2)รายงานโดยมุสลิม, อบู ดาวูด, อะหฺมัด
(3)รายงานโดยนะซะอียฺ, อิบนุ มาญะฮฺ, อะหฺมัด