จังหวัดยะลาเปิดตัวโครงการ "โรงเรียนผู้สูงอายุ"
ยะลา
จังหวัดยะลา ได้ทำพิธีเปิดตัวโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ “ยุโปรวมพลังใจสร้างสุข” เพื่อให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพ และสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของผู้สูงวัยในพื้นที่ ในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ ไปเมื่อในพฤหัสบดี (8 มิถุนายน 2560 ) ที่ผ่านมานี้ โดยมีอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยมาให้ความรู้ ด้านวิชาชีวิต วิชาชีพ และวิชาการ
นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เป็นประธานเปิดโรงเรียนยุโปรวมพลังใจสร้างสุข และเปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายของการเปิดตัวโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ความรู้ทั้งการใช้ชีวิต และสุขภาพ แม้ต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ
“ปัจจุบัน แนวโน้มสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จังหวัดยะลาจึงให้ส่วนราชการท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลผู้สูงอายุทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการรองรับผู้สูงอายุในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุทั้งไทยพุทธ และมุสลิมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เห็นได้อย่างชัดเจนว่าประชาชนในสมัยก่อนเขาอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้อย่างดี” นายราชิตกล่าว
จากการสำรวจสัมมโนประชากร ปี 2557 สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สามจังหวัดชายแดนใต้ (ไม่นับรวมสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา) มีประชากรรวมกัน 1,606,282 คน มีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไป 219,847 คน
นักเรียนสูงอายุ แสดงการรำมโนราห์ ในระหว่างการเปิดตัว โรงเรียนยุโปรวมพลังใจสร้างสุข เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 (เบนาร์นิวส์)
โรงเรียนยุโปรวมพลังใจสร้างสุข จะใช้ห้องประชุม ในอาคารเอนกประสงค์ สำนักงานเทศบาลตำบลยุโป อ.เมือง จ.ยะลา เป็นที่จัดการเรียนการสอน โดยโรงเรียนนี้จัดตั้งขึ้นโดยงบประมาณของจังหวัดยะลา เชิญอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้สอน
นายพูดม ป.ปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนยุโปรวมพลังใจสร้างสุข กล่าวว่า โรงเรียนกำหนดจัดการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 08.00 – 12.00 น. โดยสอนในวันพฤหัสบดี และจะเริ่มเปิดสอนในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 นี้ โดยมีการสอบวัดความรู้ และความพึงพอใจของผู้เรียนเพื่อจบการศึกษาด้วย
“การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มวิชา มี หนึ่ง วิชาชีวิตหมายถึง ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ในการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข สอง วิชาชีพหมายถึง แนวทางการส่งเสริมความรู้ ทักษะด้านอาชีพที่เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือถนัดในอาชีพนั้นๆ อยู่แล้ว พร้อมที่จะสืบทอดให้คนอื่นต่อไป และ สาม วิชาการหมายถึง การสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น” นายพูดมกล่าว
“การจัดตั้งโรงเรียนยุโปรวมพลังใจสร้างสุข เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ ได้พัฒนาตนเองควบคู่กับการดูแล คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้สุงอายุ พร้อมสร้างสุขภาพที่ดีด้านร่างกายและจิตใจ มีความคิดสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชน สังคม เห็นคุณค่าภูมิปัญญาเป็นที่ประจักษ์ของสังคม และส่งเสริมภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบต่อไป” นายพูดมกล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันนายไพบูลย์ ชัยเชื้อ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ กล่าวว่า โรงเรียนผู้สูงอายุ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในชุมชน โดยโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ จะเปิดเรียนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ต่อ 1 เทอม สัปดาห์ละ 1 วัน รวมแล้ว 48 ชั่วโมง ตอนนี้มีนักเรียนทั้งหมด 25 คน โดยในอนาคตโรงเรียนผู้สูงอายุยุโปอาจสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้
“การเรียนจะเน้นทางด้านการฝึกทักษะปฏิบัติและทักษะชีวิต เช่น การนวดแผนไทยจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นันทนาการสร้างสรรค์ และการถ่ายทอดภูมิปัญญาของแต่ละท่าน จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนผู้สูงอายุค่อนข้างน้อยมาก เช่น จังหวัดสตูล และเทศบาลตำบลท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา” นายไพบูลย์กล่าว
“โรงเรียนผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลท่าสาปนั้น จึงเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในการจัดตั้งโรงเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้ง จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส ได้มาดูและศึกษาเป็นต้นแบบได้ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีบุคคลอายุยืนมากที่สุด แทบเป็นเปอร์เซ็นร้อยละต้นๆ ของประเทศไทย ถ้าคิดเป็นจำนวนนั้น จ.ยะลา รองจาก จ.นครศรีธรรมราช” นายไพบูลย์กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายดอรอแม เจะมูดอ ผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลยุโป เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องดี และถือเป็นที่พบปะของคนในวัยเดียวกัน
“ถือเป็นเรืองดีที่เรามีโรงเรียนของเรา ได้ทำประโยชน์ จะได้มีเพื่อน มีพื้นที่ในการพบปะเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน” นายดอรอแมกล่าว
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-deepsouth-elderly-06092017160616.html