ยุทธการคว่ำบาตรกาตาร์
....................................
ตอน ปมความขัดแย้ง: กระแสการปฏิวัติเปลี่ยนผ่าน VS ระบอบเผด็จการโลกอาหรับ
#ปมสาเหตุแห่งความขัดแย้ง
#กระแสปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเผด็จการ
#อิสรภาพของประชาชน
-------------------------------
การรณรงค์บอยคอยอันไม่เป็นธรรมที่กระทำต่อกาตาร์ มีลำดับเวลาและกระทำอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างเหตุผลที่ชอบธรรมทั้งหลายขึ้นมานั้น ได้เปิดเผยให้เห็นแนวคิดต่างๆ มากมายที่มีต่อสถานการณ์ในโลกอาหรับ และที่มีต่อพัฒนาการของอาหรับสปริง ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010
การสร้างเหตุผลเพื่อบอยคอตได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและถูกประกาศออกมาว่าเป็น “การสนับสนุนการก่อการร้าย” (ของกาตาร์) ข้อกล่าวหานี้ถูกจัดเตรียมเป็นขั้นตอนผ่านสถานทูตสหรัฐอาหรับอิเมเรตในวอชิงตันเมื่อหลายปีมาแล้ว และมันถูกยอมรับอย่างเปิดเผยในที่ประชุมสุดยอดที่ริยาฎ ซึ่งได้ถูกจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การต่อต้านการก่อการร้าย” (เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้) ดังนั้น ก่อนที่จะมีการบอยคอตกาตาร์ มันได้มีการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งสื่อของสาอุดีย์และของอิมิเรต ในการต่อต้านกาตาร์ผ่านสงครามสื่อ ซึ่งสอดคล้องกับสโลแกน(อาหรับ)ที่ว่า “ไม่มีโทนเสียงใดดังยิ่งไปกว่าโทนเสียงแบบสงคราม” เพื่อทำให้กาตาร์กลายเป็นปีศาจร้าย และจะได้ระดมพลเพื่อต่อต้าน
กาตาร์เป็นประเทศที่สนับสนุนเสียงเรียกร้องการปฏิวัติของประชาชนในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในตูนีเซีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย และซีเรีย อีกทั้งยังก่อตั้งสำนักข่าว Al Jazeera เพื่อเป็นกระบอกเสียงอีกเส้นทางหนึ่งที่คอยให้การพึ่งพาช่วยเหลือเสียงเรียกร้องของประชาชน สำนักข่าว Al Jazeera จึงสร้างพื้นที่ร่วมไว้คอยแบ่งสรรปันส่วนและเผยแพร่การรายงานข่าวคราวของประชาชนที่ทำการเรียกร้องในทุกพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนอีกด้านหนึ่งด้วยแนวคิดของสื่อที่ต้องเคารพ “การแสดงออกทางความเห็นที่หลากหลาย” แม้ว่าสถานีโทรทัศน์ในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์การปฏิวัติของประชาชนจะมองว่า ประชาชนที่ออกมารวมตัวเหล่านี้ได้ใช้อุบายที่สร้างภัยอันตรายต่อประเทศชาติ หรือสถานีโทรทัศน์บางแห่งก็ให้เหตุผลในทำนองเดียวกันว่า การต่อสู้ของประชาชนเหล่านี้ทำไปเพื่อสนองรสนิยมทางการเมืองของพวกเขาเพียงเท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเผด็จการของประชาชนนั้นเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและซับซ้อนเป็นอย่างมาก เช่นในประเทศอียิปต์ เกิดการก่อรัฐประหารขึ้นจากกองทัพที่สนับสนุนโดยประเทศซาอุฯและอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศเยเมน หลังจากที่ภารกิจการปฏิวัติของซาอุดิอาระเบียล้มเหลวไม่เป็นท่า เยเมนก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มชีอะฮฺ Houthis ซึ่งได้ขยายอาณาบริเวณออกไปในวงกว้าง ในซีเรีย การบัญชาการกองกำลังเคลื่อนไหวต่าง ๆ ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เกิดการจัดตั้งกองกำลังเคลื่อนไหวในนามอิสลามมากมาย อีกทั้งยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายโดยแต่ละฝ่ายต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากทั้งในและนอกกลุ่มประเทศอ่าว ประเทศลิเบียเองก็เกิดการต่อสู้ระหว่างกันและเกิดการแบ่งพื้นที่ปกครอง แน่นอนว่าทุกฝ่ายต่างได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มาจากประเทศเหล่านี้เช่นกัน ส่วนประเทศตูนิเซียเป็นประเทศเดียวที่เกือบจะรอดพ้นจากเส้นทางแห่งการต่อต้านการปฏิวัติเผด็จการในครั้งนี้ แต่สุดท้ายกระแสปฏิวัติของประชาชนก็ถูกยุติลงด้วยการแทรกแซงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ …
การต่อสู้ในพื้นที่แห่งนี้เปิดฉากขึ้นระหว่างสองขั้วอำนาจหลัก นั่นคือขั้วที่ “สนับสนุนการปฏิวัติเผด็จการ” กับขั้วที่ “ต่อต้านการปฏิวัติ” จนเกิดการแตกแยกกันทางความคิด ทั้งในระหว่างกลุ่มมุสลิมเอง และระหว่างกลุ่มมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม กลุ่มที่ “ต่อต้านการปฏิวัติเปลี่ยนผ่าน” เริ่มทำการรัฐประหาร อีกทั้งยังพยายามที่จะรื้อถอนและปลุกเร้าให้เกิดสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้ปะทะกันอย่างรุนแรง กลุ่มปฏิวัติที่เป็นกุญแจหลักสำคัญ ซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่ม “ต่อต้านการปฏิวัติ” ในการดำเนินการครั้งนี้ก็คือกลุ่ม “อิสลามิสต์”
สำหรับการสนับสนุนการปฏิวัติของประชาชนในซีเรียของซาอุดิอาระเบียนั้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะต่อกรกับอิหร่านเท่านั้น ซึ่งพวกเขาให้ความเห็นว่าการสนับสนุนกองกำลังเคลื่อนไหวหัวรุนแรงของสุนนีย์ในซีเรียเป็นเพียงเพื่อเผชิญหน้ากับกองกำลังที่มีแนวคิดหัวรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของชีอะฮฺ หากมองจากตรงนี้แล้ว สงครามที่อุบัติขึ้น ณ เวลานี้ในประเทศซีเรียแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “สงครามแห่งการสนับสนุนทางการเงินให้กับลัทธิก่อการร้าย” นั่นคือสงครามระหว่างฝ่าย “ปฏิวัติ” ของประชาชนกับฝ่าย “ต่อต้านการปฏิวัติ” นั่นเอง
สำหรับกลุ่มที่ “ต่อต้านการปฏิวัติเปลี่ยนผ่าน” เราจะพบเห็นได้ในเขตอิทธิพลของ Donald Trump ที่ปิดกั้นทุกช่องทางในการแสดงความเห็นต่างในพื้นที่การแสดงออกของประชาชน อีกทั้งยังปิดช่องสถานี Al Jazeera ซึ่งเป็นช่องสถานีที่ยอมเปิดเวทีให้กับ “กลุ่มปฏิวัติเปลี่ยนผ่าน” ของประชาชนได้แสดงออกซึ่งความต้องการและความเห็นของพวกเขา โดยเฉพาะในประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ซึ่งพวกเขาให้การรับรองว่าจะนำประชาชนกลับคืนสู่กระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง
การปฏิวัติและอิสรภาพนั้นเป็นความต้องการของประชาชนที่ตื่นขึ้นมาผ่านปรากฏการณ์ต่าง ๆ และด้วยพัฒนาการทางเครื่องมือที่ต้องการนำไปสู่การมีรัฐแบบสมัยใหม่ ไม่ว่าจะด้วยแนวทางประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การลงประชามติ การมีอิสรภาพอันมั่นคงที่นำมาซึ่งการปฏิวัติต่าง ๆ หรือในด้านการเคลื่อนไหวที่จัดตั้งขบวนประท้วงอย่างเป็นระบบ ด้วยการเรียกร้องการดำเนินทางการเมืองที่มีความโปร่งใส ควบคู่กับการเปิดพื้นที่สาธารณะต่อความขัดแย้งของนักการเมืองและความคิดเห็นของพวกเขา และสิ่งสำคัญที่สุดจากทั้งหมดนี้คือการนำกลับมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาชนชาวอาหรับ และพวกเขาจะต้องวาดมันออกมาให้เห็นต่างจาก “ความเป็นตะวันตก”
แน่นอนว่าบรรดาพันธมิตรที่ “ต่อต้านกระแสการปฏิวัติ” ของประชาชนที่รวมตัวกันภายใต้การนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นยอมให้ความร่วมมือเพื่อรักษาผลประโยชน์ ตลอดจนทั้งพวกเขาต้องการพันธมิตรร่วมในการรักษาระบบการเมืองแบบ “นายกับบ่าว” กลับคืนสู่ภูมิภาคของตนเอง โดยใช้วิธีสนับสนุนผ่านการพูดคุยด้วยแง่มุมทางศาสนาไปพร้อม ๆ กับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ Twitter ได้กลายมาเป็นช่องทางการพูดคุยและแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่อง “การเชื่อฟังผู้ปกครอง” ด้วยเนื้อหาที่เรียกร้องสู่ความดี ความจำเริญ และการสนับสนุน เหมือนดังที่ Shaykh Aaidh al-Qarni ; Shaykh Mohamad al-ʿArefe ; และท่านอื่น ๆ ได้กระทำ หรือจะเป็นการคัดค้านประเด็น “การโค่นล้มผู้นำ” จากผู้รู้ที่มี่ชื่อเสียงท่านอื่น ๆ ได้กระทำเช่นเดียวกัน พวกเขามีวิธีการสรรหาตัวบทหะดีษและอายะฮฺอัลกุรอานเพื่อสนับสนุนการคว่ำบาตรกาตาร์ว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังแถลงการณ์ของอัล- อัซฮัร และสภาฟัตวาแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้รับการลงนามผ่านทั้งจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้ร่างขึ้นมาและนำมันมาเผยแพร่ในนามของศาสนา
กลิ่นอายแห่งจิตวิญญาณในแบบอิสลามได้จางหายไปหลังคิลาฟะฮฺถูกโค่นล้มในปี 1924 และความเป็นเอกภาพของประชาชาติอิสลามก็ล่มสลายเลือนลางตามไปด้วย หลังจากนั้นโลกมุสลิมก็ได้ตื่นขึ้นและเติบโตมาในแบบ “รัฐชาติ” อันเป็นมรดกตกทอดจาก “การล่าอาณานิคม” ภายใต้แผนการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐต่าง ๆ ผ่าน “สนธิสัญญา Sykes-Picot” ที่ก่อเกิด “ความเป็นชาติ” ขึ้นมาตามดินแดนเหล่านี้ เป็นการยุติในความหมายของคำว่า “อุมมะฮฺ” ที่ถูกแบ่งออกเป็นชาติต่าง ๆ จนเติบโตขึ้นมากลายเป็นรัฐ
การดำรงอยู่ในแบบ “อุมมะฮฺ” นั้นถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ด้วยเส้นพรมแดนของความเป็น “รัฐ” ซึ่งหลังจากนั้นได้ก็สร้างอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ที่ปูทางไปสู่การทำรัฐประหาร อีกทั้งมันยังปูทางไปสู่การมีเสถียรภาพของการปกครองแบบเผด็จการจนก่อให้เกิดระบบอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้นมา ซึ่งค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นชาตินิยมที่เติบโตขึ้นมาเป็น “ชาติอาหรับ” ตามข้อตกลงที่ได้ระบุไว้ เพราะการมีอยู่ของ “รัฐชาติ” นั้น จำเป็นต้องอาศัยพรมแดนและอำนาจปกครองจึงจะสามารถกลายมาเป็นรัฐได้ โดยมันจะผันเปลี่ยนตามความขัดแย้งทางการเมืองอันนำไปสู่การทรยศหักหลังกันในนามของรัฐชาติ นี่คือรัฐที่เติบโตขึ้นมาบนกองเลือด โดยมีเส้นพรมแดนแบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ ที่มีการจัดระบบขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์และอำนาจทางการทหาร
ดังนั้น มันจึงไม่ได้มีรัฐ(เดาละฮฺ) และไม่ได้มีประชาชาติ(อุมมะฮฺ) เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงล้มเหลวในการสร้างสายสัมพันธ์ในแบบ “ความเป็นชาติ” ขึ้นมา เช่นเดียวกับมันได้ล้มเหลวลงไปในการป้องกันขอบเขตดินแดนของมัน และล้มเหลวในการบังคับใช้อำนาจภายใต้พรมแดนของ “ความเป็นชาติ” จนก่อให้เกิดการทำสงครามของกองกำลังเคลื่อนไหวที่มีอิหร่าน ซึ่งมีพันธมิตรในประเทศซีเรีย อีรัก เยเมน เลบานอน และรวมไปถึงกลุ่มสุนนีย์หัวรุนแรง ได้ขึ้นมาขับเคลื่อนเพื่อเป็นแกนนำในสงครามครั้งนี้ โดยมีความพยายามที่จะครองอำนาจจากการลุกฮือต่อต้านการยึดครองของอเมริกา จากแผนการของอิหร่าน และจากการแทรกแซงของประเทศอ่าวที่เปิดพื้นที่ให้มีการปะทะกันจนกลายเป็นสงครามที่หลั่งเลือดกันอย่างดุเดือดที่ถูกถักทอขึ้นมาในฉากสุดท้ายของหน้าประวัติศาสตร์ของความเป็นเผด็จการ ดังที่ Elias Khoury นักประพันธ์ชาวเลบานอนท่านหนึ่ง ที่ได้ให้คำนิยามต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น “การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของรัฐเผด็จการทหารที่ถูกห่อหุ้มไปด้วยวาทกรรมแบบชาตินิยมที่ปลุกปั่นความแตกแยก” ซึ่งเป็นการแสวงหาของระบบเผด็จการที่ดิ้นรนเพื่อให้ระบอบการปกครองนี้ดำรงอยู่ต่อไป และนี่คือจุดจบสุดท้ายที่แทบจะคล้ายกับยุคสมัยของอาณาจักรออตโตมานในช่วงที่อ่อนแอ ซึ่งจบลงด้วยการที่คิลาฟะฮฺถูกโค่นล้มพร้อมกับอุมมะฮฺได้ถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ...
--------------------------------
:: เขียนโดย :: ดร. มุอฺตัซ อัล เคาะฎีบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิธีวิทยาและจริยศาสตร์แห่งศูนย์วิจัยเพื่อบทบัญญัติและจริยศาสตร์อิสลาม (CILE : Research Center for Islamic Legislation & Ethics -Markaz dirāsah al-Tashree'a al-Islami wa al-Akhlaq- ) ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
:: ถอดความและเรียบเรียงโดย :: สำนักวิชาการและสื่อเผยแพร่ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ Young Muslim Association of Thailand - YMAT