Skip to main content

 

 

                เด็กหญิง ลักษิกา สอนนอก หรือ “น้องครีม” เป็นสาวน้อยจากจังหวัดกำแพงเพชรแต่ได้มาเติบโตและเล่าเรียนอยู่ในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา น้องครีมจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านยะหา ปัจจุบันเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง โรงเรียนยะหาศิรยานุกูล เธอเป็นหนึ่งในเยาวชนในโครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม จังหวัดยะลา ซึ่งโครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม จังหวัด ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเหล่าคุณครูของโรงเรียนยะหาศิรยานุกูล ชาวบ้านในตำบลยะหา และ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ในการดำเนินโครงการในชุมชนด้วยกัน ซึ่งในปีนี้กลุ่มเยาวชนในโครงการฯ ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำในอำเภอยะหา ภายใต้ชื่อโครงการว่า “โครงการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำฝายแก่งนางรำ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา” โดยมีครูในโรงเรียนเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการทั้งในห้องเรียนและในการลงชุมชน  

                      น้องครีมเล่าว่า เธอได้ย้ายตามคุณพ่อและคุณแม่ซึ่งทำงานด้านการก่อสร้างมายังอำเภอยะหา ทำให้เธอได้มีโอกาสมาศึกษาในพื้นที่แห่งนี้ อีกทั้งยังได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนๆทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม ซึ่งน้องครีมคิดว่า “ไม่ว่าอย่างไรทุกคนก็คือเพื่อนกัน สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อมีปัญหาโดยไม่ได้เกียงว่าใครจะมีพื้นฐานครอบครัวเป็นอย่างไร นับถือศาสนาอะไร เมื่อเป็นเพื่อนกันแล้วเราก็สามารถที่จะช่วยเหลือกัน เอื้อเฟื้อ แบ่งปันกันได้”

ความสัมพันธ์และมิตรภาพของเพื่อนที่มาจากทั้งสองศาสนายิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์นั้นให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อทุกคนได้ดำเนินโครงการพัฒนา “อนุรักษ์แหล่งต้นน้ำฝายแก่งนางรำ” ร่วมกันซึ่งเธอและเพื่อนๆในกลุ่มร่วมกันลงมือปฎิบัติตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มตั้งแต่การร่างโครงการ การฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะต่างๆในการดำเนินโครงการ ตลอดจนการลงชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลและสำรวจฝายแก่งนางรำเพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

               น้องครีมได้เล่าต่ออีกว่า การทำโครงการลักษณะนี้ทำให้เธอได้พูดคุยกับเพื่อนๆในกลุ่มมากยิ่งขึ้นซึ่งเพื่อนๆที่ทำโครงการด้วยกันมีจำนวนมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 30 คน มีความหลากหลายทางเพศและศาสนา แต่นั้นก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะกิจกรรมของโครงการเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนไอเดียเพื่อให้มีจุดร่วมในการดำเนินโครงการไปด้วยกันได้ ซึ่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ส่งผลให้เธอมีความกล้าแสดงออก กล้าในการตัดสินใจ รับผิดชอบมากขึ้น รอบคอบในการแก้ปัญหาเฉพาะและเธอมีความสุขทุกครั้งที่ได้ลงชุมชนเพราะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านและสามารถนำทักษะต่างๆที่ได้จากปราชญ์ชาวบ้านมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ซึ่งในการที่ลงชุมชนนั้นปราชญ์ชาวบ้านไม่ใช่แค่เพียงเล่าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวแต่ท่านจะฝากข้อคิดการใช้ชีวิตในวัยเรียนต่างๆให้กับเธอและเพื่อนๆทำให้รู้สึกว่า พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพและหวังดีกับพวกเธออย่างแท้จริงในฐานะที่พวกเธอเป็นลูกหลานของชุมชนยะหา