Skip to main content

วิเคราะห์สถานการณ์อิควานโฟเบียในตะวันออกกลางและในสายตามหาอำนาจ

 

สรุปจากบทความ The gulf crisis โดย ซัลมาน รอฟีอ์

นักเขียนอิสระ นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ชาวปากีสถาน ใน Asiatimes

............................

วิกฤติคาบสมุทรอาหรับเป็นผลเนื่องมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในโลกมุสลิม และการปะทะของสองอำนาจในภูมิภาค ระหว่างราชวงศ์ซาอุดีที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชและกาตาร์ที่มีลักษณะสายกลางยืดหยุ่น รวมถึงการที่กาตาร์สนับสนุนกลุ่มอิสลาม เช่น อิควานมุสลิมีน ทำให้เกิดความความตึงเครียดทวีความรุนแรงและเพิ่มความโกรธเคืองให้แก่ซาอุดีมากยิ่งขึ้น

การที่กาตาร์สนับสนุนกลุ่มอิสลามสายปฏิรูปนั้น เป็นเพราะกาตาร์ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนในฐานะรัฐสายกลางยืดหยุ่น หรืออาจเป็นเพราะการสืบทอดนโยบายเดิมที่เลือกสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วงในสถานการณ์อาหรับสปริง -ตามความเห็นของนักวิเคราะห์บางคน - ทำให้ฝ่ายต่างๆในภูมิภาคนี้เกิดความคลางแคลงเกี่ยวกับแรงผลักดันนโยบายทางการเมืองของกาตาร์

ณ จุดนี้เอง กลุ่มอิควานมุสลิมีนจึงกลายเป็นศูนย์กลางของวิกฤติการณ์ในภูมิภาค โดยที่ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำในการทำสงครามกับกลุ่ม เพราะเล็งเห็นว่ากลุ่มอิควานเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงเพียงกลุ่มเดียวที่มีศักยภาพในการนำเสนอสิ่งที่จะมาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในคาบสมุทรอาหรับที่กำลังร่วงโรยลงทุกขณะ แม้ว่ากลุ่มอิควานจะมีข้อด้อยมากมายในเรื่องความแตกแยกภายในกลุ่ม และความผิดพลาดต่างๆ

ในขณะที่ตุรกีเองก็ใช้นโยบายอิสลามสายกลางๆก็ไม่เข้าข้างฝ่ายซาอุดี ในทางตรงกันข้ามกลับเลือกส่งทหารเข้าไปในกาตาร์

สิ่งนี้เป็นสิ่งยืนยันอย่างเด็ดขาดอย่างที่ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้อีกว่า ณ เวลานี้ ท่ามกลางความเป็นมหาอำนาจของซาอุดีในตอนนี้ การเมืองในคาบสมุทรอาหรับได้เปลี่ยนไปสู่รูปแบบใหม่แล้ว

ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า กลุ่มอิควานมุสลิมีนประสบความสำเร็จในการสถาปนาพันมิตรโลกมุสลิมสุนหนี่ ทั้งในด้านแนวคิดอุดมการณ์และการทหาร อันเป็นการเปิดช่องให้ตุรกีและอิหร่านสามารถฉกฉวยโอกาสดำเนินนโยบายเพื่อเสริมสร้างสถานภาพของตนในภูมิภาคนี้ได้

ด้วยประการฉะนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงยื่นคำขาดว่า หากกาตาร์ต้องการฟื้นคืนสัมพันธภาพ กาตาร์จะต้องเลิกให้การสนับสนุนกลุ่มอิควานมุสลิมีนและกลุ่มฮามาส

ในขณะเดียวกัน กลุ่มอิควานมุสลิมีนปฏิเสธข้อกล่าวหาของซาอุดีที่ว่ากลุ่มมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และยังแถลงตอบโต้ว่า การที่ซาอุดียังคงยืนกรานสนับสนุนรัฐบาลซีซีทั้งในด้านการเมืองและการเงิน รวมถึงโจมตีต่อต้านและการใส่ความกลุ่มอิสลามสายกลางๆว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย จะทำให้ความน่าเชื่อถือของซาอุดีอยู่ในภาวะหายนะ

ยิ่งไปกว่านั้น อุปสรรคใหญ่ของซาอุดีคือประเทศพันธมิตรทั้งหมดไม่จัดให้กลุ่มอิควานมุสลิมีนเป็นกลุ่มก่อการร้าย แม้กระทั่งชาติตะวันตกก็ไม่ทำ ดังที่ปรากฏในปี 2014 นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษสั่งการให้สืบสวนเบื้องหลังของกลุ่มอิควานมุสลิมีน ผลการสอบสวนออกมาว่า ถึงแม้อังกฤษจะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มอิควานมุสลิมีน แต่ก็ไม่อาจขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายได้

ดังนั้น ปัญหาจริงๆ ของกลุ่มอิควานมุสลิมีนสำหรับซาอุดีและอิมิเรต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย แต่อยู่ที่กลุ่มอิควานมุสลิมีนเป็นเพียงกลุ่มเดียวในโลกอาหรับที่สามารถขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจและเอาชนะอำนาจปัจจุบันได้ นี่คือที่มาว่าทำไมประเทศทั้งสองจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อกลุ่มอย่างเฉียบขาดไร้ปรานี อันเนื่องจากกระแสนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชนนั่นเอง

ในส่วนของอเมริกา จึงแม้ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มอิควานมุสลิมีน แต่ก็จะไม่มีวันประกาศตัวเป็นศัตรูกับกาตาร์ ไม่ใช่เป็นเพราะอเมริกามีฐานทัพอยู่ในกาตาร์เท่านั้น แต่วิกฤติครั้งนี้อาจกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง ดังนั้น จึงไม่มีทางที่รัฐบาลอเมริกาจะนำจุดยืนของทรัมป์ที่ต่อต้านกาตาร์ไปขยายผลแปรเป็นนโยบายให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

จุดเสี่ยงที่จะกระทบผลประโยชน์ของอเมริกาอยู่ที่ความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้รัสเซียและอิหร่านมีโอกาสเข้ามาแทรกตัวในตะวันออกกลางได้มากขึ้น

ดังนั้น แม้ว่าทรัมป์จะโจมตีกาตาร์ว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสัญญาซื้อขายอาวุธกับกาตาร์ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้เชื่อว่า อเมริกาต้องการเล่นบทคนกลางมากกว่า จากการที่สังเกตได้ว่า อเมริกาไม่แสดงจุดยืนที่ไม่อาจเปลี่ยนใจได้อีก

ด้วยท่าทีเฉกนี้ จะทำให้อเมริกาพาตัวเองพ้นจากสนามการขับเคี่ยวและความขัดแย้งทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

อเมริกาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะรักษาความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง เพราะยังได้ประโยชน์จากกษัตราธิราชที่มีอำนาจปกครองอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์แนวคิดอุดมการณ์ที่ส่งผลต่อการคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐในภูมิภาคนี้

ดังนั้น ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ณ นาทีนี้ นอกเหนือไปจากกลุ่มอิควานมุสลิมีนแล้ว เราจะได้เห็นการสถาปนาพันธมิตรใหม่ๆทางการทหารกับราชวงศ์ซาอุดีและอิมิเรตฝ่ายหนึ่ง กับพันธมิตรกลุ่มอิสลาม อันประกอบด้วยตุรกี กาตาร์และตูนีเซียอีกฝ่ายหนึ่ง และอาจมีประเทศอื่นๆเข้ามาร่วมอีกในอนาคต อย่างเช่น อิหร่าน

ซึ่งกลุ่มความร่วมมือใหม่นี้จะกำหนดท่าทีต่อกรณีต่างๆ ที่สำคัญคือ ความท้าทายของกลุ่มอิควานต่อรัฐบาลกาตาร์และอิหร่านในระยะยาวต่อไปในอนาคต