กาตาร์ปฏิเสธข้อเรียกร้องจากชาติอาหรับ
เชค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลราห์มาน อัล ธานี รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์แถลงว่า ไม่สามารถยอมรับเงื่อนไข 13 ข้อ ที่สี่ชาติอาหรับเรียกร้องให้กาตาร์ปฏิบัติตาม เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรได้ เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่มีความสมเหตุสมผลและไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ก่อนหน้านี้ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และบาห์เรน ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อแก่กาตาร์ ซึ่งรวมถึงการให้ปิดสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราที่รัฐบาลกาตาร์สนับสนุนทางการเงิน ให้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน และให้ปิดฐานทัพตุรกีในประเทศ โดยให้เวลาดำเนินการตามข้อเรียกร้องภายใน 10 วัน นับแต่วันศุกร์ที่ 23 มิ.ย.เป็นต้นมา
- 4 ชาติอาหรับยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อ แลกยกเลิกคว่ำบาตรกาตาร์
- วิกฤตกาตาร์ : อัลจาซีราจะอยู่รอดหรือไม่?
- ทำไมซาอุฯ กับอียิปต์ ร่วมมือชาติอื่นตัดสัมพันธ์
แม้ทางโฆษกรัฐบาลกาตาร์ระบุว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาเงื่อนไขทั้ง 13 ข้ออยู่ แต่รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ชี้ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ตรงตามข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ขอให้สี่ชาติอาหรับเสนอข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
"ข้อเรียกร้อง 13 ข้อนี้เป็นหลักฐานชี้ว่า การคว่ำบาตรกาตาร์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายตามที่เคยกล่าวอ้าง แต่เป็นความต้องการที่จะจำกัดอธิปไตยของกาตาร์ และแทรกแซงนโยบายต่างประเทศของเรา" รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์กล่าว
ด้านนายอันวาร์ การ์กาช รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่า หากกาตาร์ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อ ก็จะเหลือทางออกเพียงทางเดียวคือ ตัดขาดความสัมพันธ์ที่มีกับกาตาร์ลงทั้งหมด ทั้งยังย้ำว่าที่ดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาจะโค่นล้มรัฐบาลกาตาร์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ สี่ชาติอาหรับได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรกาตาร์ โดยปิดเส้นทางการนำเข้าสินค้าและการจราจรทางอากาศมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่กาตาร์ยังคงสามารถนำเข้าอาหารและสินค้าจำเป็นจากอิหร่านและตุรกีได้ รัฐบาลกาตาร์ยังปฏิเสธว่าไม่ได้สนับสนุนการก่อการร้ายและพยายามทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคตามที่ถูกกล่าวหา
ด้านสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราแถลงยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวอย่างมืออาชีพ โดยไม่ยอมก้มหัวให้กับแรงกดดันจากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจคนใด แต่สี่ชาติอาหรับต้องการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อมวลชน
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/international-40395991