บทเรียนและจริยธรรมจากการถือศีลอด
ชัยคฺ ดร. มุซัมมิล ซิดดีกียฺ ตอบคำถาม
อบุล อิซซฺ แปลและเรียบเรียง
คำถาม... อัสสะลามุอะลัยกุม การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺที่มีความสวยงาม พวกเราถูกหักห้ามจากการกิน การดื่มและตัณหา ฯลฯ นับตั้งแต่เช้ามืด จนถึงดวงอาทิตย์ตก ข้าพเจ้าคิดว่า รอมาฏอนเป็นเดือนแห่งการเรียนรู้และเดือนแห่งระเบียบวินัย ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านคงจะสามารถอธิบายให้เห็นรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับบทเรียน และจริยธรรมของการถือศีลอด ญะซากัลลอฮุคอยร็อน (ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีให้แก่ท่าน)
คำตอบ... อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่ง ตรัสไว้ ความว่า “ความเจริญสุข จงมีแด่พระผู้ซึ่งอำนาจ อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ” (อัลมุลกฺ 67: 1-2)
… พระองค์ยังตรัสอีก ความว่า “และพระองค์คือผู้ทรงบันดาล ให้มีกลางคืนและกลางวัน หมุนเวียนแทนที่กัน สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะใคร่ครวญ หรือปรารถนาจะขอบคุณ” (อัลฟุรกอน 25: 62)
… ชีวิตและความตาย การสับเปลี่ยนของกลางวัน และกลางคืน ล้วนดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย และเพี่อทดสอบตัวเรา ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาส สำหรับการแสดงความขอบคุณ และความกตัญญูต่อผู้ทรงสร้าง และผู้ทรงค้ำจุน เดือนรอมฎอนย่อมมาเยือนแล้วจากไป เราจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบตนเองในทันที และพิจารณาดูว่า เราได้เรียนรู้ และบรรลุถึงสิ่งใดบ้าง ในช่วงเดือนนี้ ผลของความสำเร็จในเดือนนี้ วางอยู่บนผลสะท้อนที่เกิดกับตัวเรา อันได้แก่
1. การมีวินัย
… ในเดือนนี้ เราได้เรียนรู้การสร้างวินัยให้กับตนเองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต่ออัลลอฮฺ เมื่อเราปฏิบัติตามตารางเวลาของการกิน และดื่มทั้งยามเช้าและในเวลาเย็น เรามีความตระหนักอยู่เสมอ แม้ในกิจกรรมทางโลก เช่นการกินหรือการดื่ม โดยการที่เรายืนหยัด อยู่กับบัญชาที่มาจากฟากฟ้า เราเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันของเรา เพราะเราเรียนรู้ว่า เรามิได้เป็นทาสของพฤติกรรม แต่เราคือทาสของอัลลอฮฺ ภายหลังจากเดือนรอมฎอน เราจะต้องรักษาจิตวิญญาณ แห่งระเบียบวินัยนี้ ให้เกิดขึ้นในกิจการอื่นๆ ของชีวิต และยังคงเชื่อฟังคำบัญของอัลลออฺอย่างต่อเนื่อง
2. ฟื้นฟูชีวิตแห่งการอุทิศตน
… รอมฎอนได้ฟื้นฟูความศรัทธาที่แรงกล้าในการเคารพภักดี และอุทิศตนต่ออัลลอฮฺ ในเดือนนี้ เราได้เพิ่มความเอาใจใส่ ในการละหมาดประจำวัน และละหมาดพิเศษ ในยามค่ำคืน ไม่มีศาสนา หากไม่มีการละหมาด และเรามุสลิมเรียนรู้ในเดือนนี้ว่า จะสร้างความเข้มแข็ง และความลึกซึ้งของชีวิตในทางศาสนาได้อย่างไร
3. ฟื้นฟูการปฏิสัมพันธ์กับอัลกุรอาน
…รอมฎอนและอัลกุรอานต่างเชื่อมโยงด้วยกัน นับตั้งแต่เริ่มแรก ในเดือนนี้เอง ที่วะฮฺยูได้รับการเปิดเผย ให้แก่นบีมุฮัมมัด (ศ็อลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม) เราได้รับการบอกกล่าวว่า นบีถือศีลอด ขณะที่รับวะฮฺยูแรก การถือศีลอดเป็นการตระเตรียมหัวใจของผู้ศรัทธาให้พร้อมที่จะรับดำรัสของอัลลอฮฺ การถือศีลอด จึงเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับการสื่อสารในแง่จิตวิญญาณและความคิดของเรากับอัลกุรอาน ประชาชาติมุสลิมต่างเพ่งความสนใจต่ออัลกุรอานมากยิ่งขึ้น ในเดือนนี้ การฟื้นฟูปฏิสัมพันธ์กับอัลกุรอานขึ้นมาใหม่ จะช่วยเราในการปฏิบัติตามสาสน์ที่มีอยู่ในอัลกุรอาน
4. ฟื้นฟูการเป็นส่วนหนึ่งของอุมมะฮฺ
… รอมฎอนมิได้เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัว แต่ยังเป็นประสบการณ์ร่วมกันของชุมชน และอุมมะฮฺมุสลิมทั้งหมดต่างถือศีลอดในเดือนเดียวกัน เราได้แสดงตัวตนพร้อมกับผู้อื่นในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมเคียงกันและเป็นการโยงสายสัมพันธ์ระหว่างกัน รอมาฎอนสอนเราว่า อุมมะฮฺ (ประชาชาติ) มุสลิม เป็นประชาชาติแห่งความยำเกรง และอุทิศตนต่ออัลลอฮฺและสมาชิกของประชาชาตินี้ ได้รับความเข้มแข็งจากกันและกันในด้านความยำเกรงและคุณธรรม สายสัมพันธฺที่วางอยู่บนความยำเกรง และคุณธรรมเป็นเป็นสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดและสายสัมพันธ์นี้เองที่พิสูจน์ความดีในตัวมนุษย์ ความเข้มแข็งของประชาชาติมุสลิมวางอยู่บนการปฏิบัติความดี การมีจริยธรรมและความยำเกรง รอมาฎอนได้ทิ้งร่องรอย ประทับคุณค่าความดีทั้งหมดเหล่านี้ในประชาชาติมุสลิม
5. ความกระตือรือร้น ในความเป็นห่วงเป็นใยและเห็นใจผู้อื่น
… การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจะช่วยเราให้เข้าใจความทุกข์ยากและความเจ็บปวดของคนยากจน และคนขัดสนจากความหิวและความกระหาย จะทำให้เราตระหนักถึงความรู้สึกของการขาดหาย สิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต รอมาฎอนจึงถูกเรียกว่า เดือนแห่งการบริจาคและความเห็นอกเห็นใจ เราเรียนรู้ที่จะเพิ่มความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในเดือนนี้ มุสลิมจำนวนมากจึงมักจะจ่ายซะกาตของพวกเขาในเดือนนี้
6. ญิฮาดหรือการต่อสู้ดิ้นรน
… การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและการญิฮาด ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานในปีเดียวกัน นั่นคือ ปีที่สองของการฮิจญเราะฮฺ (อพยพ) ไปยังมะดีนะฮฺ การถือศีลอดเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับความยากลำบากและการเสียสละ นี่คือสองสิ่งที่สำคัญ ซึ่งถ้าหากปราศจากทั้งสองแล้ว การญิฮาดย่อมเป็นไปได้ยาก มุสลิมเรียนรู้ในเดือนรอมฎอนถึงวิธีการต่อสู้กับพลังอันชั่วร้ายในตัวตนของเขา และในสังคมโดยรอบ รวมถึงพลังความชั่วร้ายที่มีในโลกนี้
7. ตักวา(ความยำเกรง)
… เพื่อเป็นการสรุปรวบยอดถึงจริยธรรมและของขวัญทางจิตวิญญาณของรอมาฎอน เราสามารถกล่าวว่า รอมาฎอนได้มอบของขวัญอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ “ตักวา” นับเป็นบทสรุปของชีวิตแบบอิสลาม เป็นคุณธรรมสูงสุดที่ประสานสิ่งต่างๆ ในแบบอิสลามเข้าด้วยกัน อันหมายถึง การตระหนักนึกในอัลลอฮฺ ความถ่อมตน ความยำเกรง และความหวั่นกลัวต่ออัลลอฮฺ และยังหมายถึงการเชื่อฟัง อย่างสุดจิตสุดใจ ต่อพระองค์ เป็นการปรารถนาว่า จะทำทุกอย่างที่เป็นความดีและปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นความชั่วร้ายและเป็นบาป