Skip to main content

 

ความสะอาดในหลักศาสนาอิสลาม

 

สุวรา แก้วนุ้ย

 

ในภาพอาจจะมี พื้นหญ้า, ต้นไม้, ท้องฟ้า, สถานที่กลางแจ้ง และ ธรรมชาติ

 

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คงเป็นช่วงเวลาของความสุข ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี เนื่องจากเป็นช่วงของการเฉลิมฉลิงเทศกาลฮารีรายอ หลายคนเดินทางกลับภูมิลำเนา หลายคนออกไปพบปะเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ถามสาระทุกข์ สุขดิบกันไป และมีจำนวนไม่น้อยที่ใช้เวลาในช่วงนี้ไปพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งน้ำตก ทะเล ภูเขา

แต่หากสังเกตุอีกมุมหนึ่งของภาพความสุขที่หลายคนโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้น กลับพบว่ามีสิ่งที่ทำให้หลายคนมีระดับความสุขที่ลดลง ระดับความห่อเหี่ยวใจเพิ่มขึ้น ภาพเหล่านั้นคือ ขยะกองโตที่ทิ้งไว้ในที่ท่องเที่ยว สิ่งนี้ทำให้ฉันครุ่นคิดถึงประโยคหนึ่งของ อิมรอน ซาเหาะ ที่เคยบอกฉันว่า "ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา" ในหลักศาสนาอิสลาม แต่ภาพกับคำสอนมันดูย้อนแย้งกันอยู่บ้าง ด้วยความรู้น้อยฉันจึงใช้เวลาอยู่พอควรเพื่อลองศึกษาดู แล้วได้พบกับสาระความรู้ คำสอนที่น่าสนใจในบทความเรื่อง อัต-เฏาะฮาเราะฮฺ (การชำระทำความสะอาด) จากหนังสือ มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์ ที่แปลโดย คุณดานียา เจะสนิ และตรวจทานโดยคุณ อัสรอน นิยมเดชา รายละเอียดได้กล่าวไว้ว่า

เฏาะฮาเราะฮฺ ความหมายตามคำอธิบายศัพท์ภาษาอาหรับแปลว่า ความสะอาดและปราศจากสิ่งสกปรกทั้งที่มองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น  2 ประเภท

1. ความสะอาดภายนอก ซึ่งจะต้องทำความสะอาดโดยการทำวุฎูอ์ (อาบน้ำละหมาด)   และทำฆุสลุ(อาบน้ำชำระร่างกาย) นอกจากนี้เครื่องนุ่งห่ม ร่างกายและสถานที่ก็ต้องมีความสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกโสมมด้วย

2. ความสะอาดภายใน ซึ่งจะต้องทำความสะอาดใจให้ปลอดจากคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆเช่น การชิริก(ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ) การกุฟุร(การปฏิเสธศรัทธา) การหยิ่งถือตัว การหลงตัวเอง การอิจฉาริษยา การตลบแตลง การโอ้อวดฯลฯ และเติมเต็มหัวใจด้วยคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ต่างๆเช่นการยึดมั่นกับอัลลอฮฺองค์เดียว การศรัทธา การมีสัจจะ การบริสุทธิ์ใจ มั่นใจและการมอบตนต่ออัลลอฮฺ ฯลฯซึ่งจะกระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยการเตาบะฮฺ(ขออภัยโทษ กลับตัวกลับใจ) อิสติฆฺฟารฺ(ขอลุแก่โทษ)และการรำลึกอัลลอฮฺอยู่เสมอ

การเตรียมพร้อมของบ่าวคนหนึ่งในขณะที่จะแสดงการเคารพสักการะพระผู้เป็นเจ้าของเขา

เมื่อมนุษย์ผู้หนึ่งมีความสะอาดภายนอกหลังจากการชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆด้วยน้ำและมีความสะอาดภายในด้วยการยึดมั่นในอัลลอฮฺองค์เดียวและมีศรัทธาแล้วจิตวิญญานของเขาก็จะมีความบริสุทธ์ผุดผ่อง จิตใจของเขาจะสงบ หัวใจของเขาจะตื่นตัวมีพลัง มีความพร้อมที่จะแสดงการเคารพสักการะพระผู้เป็นเจ้าของเขาในสภาพที่ดีที่สุด ทั้งนี้ด้วยใจที่สะอาด ร่างกายที่สะอาด เครื่องนุ่งห่มที่สะอาดและสถานที่ที่สะอาด นี่คือมรรยาทที่สูงส่ง คือการแสดงถึงการเทิดทูน การน้อมรับถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งย่อมดีกว่าการที่เขาจะไปทำอิบาดะฮฺในสภาพที่ตรงกันข้ามกันกับสิ่งที่กล่าวมา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความสะอาดจะถือเป็นครึ่งหนึ่งของความศรัทธา

1-อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะโปรดผู้ที่สำนึกตัวและชอบผู้ที่รักษาความสะอาด” [อัลบะเกาะเราะฮฺ :222]

2- มีรายงานจากท่านมาลิก อัลอัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

الطُّهُورُ شَطْرُ الْإِيمَانِ وَالْحَمْدُ لِلَّهِ تَمْلَأُ الْمِيزَانَ

ความว่า “แท้จริงความสะอาดนั้นเป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธาและการกล่าว อัลหัมดุลิลลาฮฺนั้นเป็นสิ่งที่จะเติมเต็มตาชั่ง” [รายงานโดยมุสลิม  : 223]

มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ

อัลลอฮฺได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยองค์ประกอบสองส่วนคือร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งในส่วนของร่างกายนั้นอาจเป็นที่สะสมของความสกปรกได้จากสองทางคือมาจากภายในร่างกายเอง เช่น เหงื่อ หรือมาจากภายนอก เช่นฝุ่นละอองต่างๆ ดังนั้นเพื่อรักษาสุขภาพของร่างกายให้ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องล้างชำระร่างกายจากสิ่งสกปรกต่างๆให้เป็นประจำ ส่วนจิตวิญญานนั้นอาจได้รับผลกระทบมาจากสองทางเช่นกันคือมาจากโรคที่มีภายในจิตวิญญานเอง เช่น การอิจฉาริษยา การหยิ่งยโส และมาจากการแสวงหาของมนุษย์ในสิ่งที่เป็นบาปต่างๆจากภายนอก เช่นการก่อกรรมทำเข็ญ การผิดประเวณี ดังนั้นเพื่อรักษาสุขภาพของจิตวิญญานให้ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขออภัยโทษ ขอลุแก่โทษ จากบาปต่างๆให้มากที่สุด

หากพิจารณาแล้ว ความสะอาด จึงถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความประเสริฐของอิสลามอย่างหนึ่ง #ฉะนั้นอย่าให้ความปล่อยปะละเลยทำให้เกิดภาพเช่นนี้อีกเลย

#สร้างสำนึกรักให้บ้านด้วยการรักษาความสะอาดกันเถอะคะ

ในอีกมุมหนึ่งฉันเห็นภาพเหล่านี้เช่นกันเมื่อมีงานหรือเทศกาลสำคัญของพี่น้องพุทธ (คนไทยทั่วไป) ไม่อยากให้มีภาพเช่นนี้เลย และไม่อยากให้บ้านเราเป็นแบบนี้เลย คงต้องช่วยกันต่อไป #สิ่งที่เราจะช่วยสังคมได้คือการไม่เพิ่มขยะให้กับสังคมนี้ด้วยมือของเรา

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, พื้นหญ้า, ฝูงชน, สถานที่กลางแจ้ง และ ธรรมชาติ

ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนกำลังยืน และ สถานที่กลางแจ้ง

 

อ้างอิง

1.ภาพหาดนราทัศน์จากเฟสบุ๊ก Robiyah Cheloh

2. ภาพมัสยิดกรือเซะจากเฟสบุ๊ก @อัจญีเจ๊ะเลา๊ะ ซอลีอีน (อ้างไว้ในเฟสบุ๊ก Rohimah Hehmat)

3. บทความเรื่อง อัต-เฏาะฮาเราะฮฺ (การชำระทำความสะอาด) จากหนังสือ มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์ ที่แปลโดย คุณดานียา เจะสนิ และตรวจทานโดยคุณ อัสรอน นิยมเดชา