Skip to main content

 

กงสุลใหญ่กำหนดตรวจดีเอ็นเอเด็กไทยไร้สัญชาติในมาเลเซีย กลางกรกฎาคมนี้

 

มารียัม อัฮหมัด 
ปัตตานี
 
 
TH-consul-SBPAC-620
นายไพฑูรย์ สงค์แก้ว กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย (คนซ้ายมือ) หารือกับรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนกลาง) ที่สำนักงาน ศอ.บต. ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 29 มิถุนายน 2560
เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันพุธ (28 มิถุนายน พ.ศ. 2560) นี้ กงสุลใหญ่ไทย ประจำเมืองโกตาบารู ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่องความคืบหน้าการตรวจดีเอ็นเอเด็กไทยไร้สัญชาติ ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ก่อนมอบสัญชาติไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2560 ณ สถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู โดยมีเด็กลงทะเบียนเพื่อเตรียมตรวจดีเอ็นเอกว่า 50 ราย

โดยในวันนี้ นายไพฑูรย์ สงค์แก้ว กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้เข้าพบนายประสิทธิ์ ชูเมือง รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่กองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. ที่สำนักงาน ศอ.บต. เพื่อประชุมร่วมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการตรวจดีเอ็นเอเด็กไทยที่พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย ก่อนมอบสัญชาติไทยให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต.ได้ทำการจัดเตรียมและสนับสนุนงบประมาณโครงการตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอให้แก่สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย เพื่อช่วยเหลือเด็กไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งยังไม่ได้รับสัญชาติไทย

“เราได้หารือและเตรียมการในการดำเนินโครงการตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ โดยทางสถานกงสุลใหญ่ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก ศอ.บต. ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้การช่วยเหลือแก่บุคคลที่เกิดหรือพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย และที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย รวมถึงยังไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันได้ว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับครอบครัวของคนไทย” นายธีรุตม์กล่าว

ขณะนี้ การรับลงทะเบียนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จะทำการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองผู้เข้าร่วม จากนั้น คณะแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะทำการเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจเทียบสารพันธุกรรมดีเอ็นเอบุคคลที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 50 ราย ก่อนที่จะทำการตรวจจริงในวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2560 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู

นายธีรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รับดำเนินการตามข้อสังเกตของ ศอ.บต.โดยได้ทำการติดต่อทางการประเทศมาเลเซีย ให้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มาลงทะเบียน ก่อนมอบสัญชาติไทยให้ ทั้งนี้ ผลการดำเนินการของโครงการดังกล่าวจะถูกถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีภายในช่วงเดือนกันยายนของปีนี้

“ก่อนที่จะมอบสัญชาติไทยให้นั้น ศอ.บต.ได้ให้ทางสถานกงสุลใหญ่ฯ ติดต่อประสานไปยังทางการมาเลเซียให้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มาลงทะเบียน เพื่อไม่ให้เกิดการขอสัญชาติซ้ำซ้อน และ ศอ.บต. ยังเห็นควรให้นำผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ถวายรายงานสมเด็จพระเทพฯ ที่จะเสด็จเยือน ศอ.บต. ในห้วงเดือนกันยายน 2560 นี้ด้วย” นายธีรุตม์ระบุ

ในขณะเดียวกัน นายไพฑูรย์ สงค์แก้ว กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูเปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทาง ศอ.บต. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และที่ว่าการอำเภอตากใบ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2560 แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1. การลงทะเบียนรายชื่อ  2. การสัมภาษณ์เพื่อคัดกรอง 3. การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเทียบสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) และ 4. การประกาศผลการตรวจ

นายไพฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการโครงการตรวจดีเอ็นเอให้แก่บุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียให้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อความสุขของประชาชนชาวไทย

“เราพร้อมจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อความสุขของพี่น้องชาวไทยของเรา” นายไพฑูรย์กล่าว

ศอ.บต. ร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู จัดทำโครงการตรวจดีเอ็นเอให้แก่เด็กไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียนี้ขึ้นมา ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อ ศอ.บต. ภายหลังการทำโครงการกงสุลสัมพันธ์ ที่ให้บริการด้านสุขภาพเคลื่อนที่แก่คนไทยในมาเลเซีย แต่กลับพบว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่กล้าขึ้นทะเบียนขอรับบริการ เนื่องจากเป็นบุคคลไร้สัญชาติ จึงกลัวว่าหากเข้ารับการรักษา อาจถูกจับตัวได้อีก ทั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 นายมะแอ สะอะ หรือหะยี สะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโลเก่า ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีเด็กไทยที่เกิดในประเทศมาเลเซียจำนวนหลายร้อยราย ที่พ่อแม่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ได้จัดการเรื่องทะเบียนราษฎร์ให้ถูกต้อง จนกลายเป็นคนไร้สัญชาติ

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-stateless-DNA-06282017142021.html