Skip to main content

 

ประเทศไทยเล็งเพิ่มภาคีในการพูดคุยเพื่อสันติสุข

 

ภิมุข รักขนาม 
กรุงเทพฯ
 
TH-peacetalk-1000
พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวที่ศาลาว่าการกลาโหม ในกรุงเทพฯ วันที่ 28 มิถุนายน 2560
 ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเทศไทยกำลังพิจารณาในการเชิญทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพื่อยุติการก่อความไม่สงบที่มีมายาวนานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทยกล่าว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทั้งกล่าวเป็นครั้งแรกว่า เราอาจมีคู่เจรจาที่ไม่ตรงตัวนัก หลังจากการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างไม่เป็นทางการนับร่วมสองปี

พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันพุธ (28 มิถุนายน 2560) นี้ ว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ปรึกษากับผู้อำนวยความสะดวก มาเลเซีย ให้เชิญผู้เห็นต่างทุกกลุ่มเข้าร่วมการพูดคุยให้ครอบคลุมทั้งหมด

พล.อ.อุดมเดช ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพูดคุยเพื่อสันติสุข หลังจากที่คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยและมาราปาตานี พบปะกันครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ โดยมีข้อตกลงที่จะจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อทดสอบความไว้วางใจระหว่างกัน ซึ่งตามแผนการเดิม เฟสแรกของการสำรวจและระบุพื้นที่ปลอดภัย ควรเสร็จสิ้นในเวลาสามเดือน

“ขณะนี้ ก็ยังมีการดำเนินการอยู่ เราเคยพูดกันว่า ตรงตัวไม่ตรงตัวอย่างไรหรือไม่ อันนี้ผมก็ทราบว่าท่านพลเอกอักษรา ก็รับนโยบายจากท่านนายกฯ ด้วยอยู่แล้วโดยตรง และก็ท่านรองนายกฯ พลเอกประวิตรได้ฝากเพิ่มเติมไปว่า ให้ลองดูด้วยนะครับว่า หากยังมีความคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน ให้ทางผู้อำนวยความสะดวก คือทางมาเลเซียให้สอบถามเพิ่มเติมผู้ที่มาพูดคุยกับเรานี่ได้ครบถ้วนลงตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้” พล.อ.อุดมเดช กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ให้ทรรศนะว่า การเจรจาควรทำในทางลับ เพราะว่า เมื่อมีการเผยแพร่การเจรจาทุกครั้ง จะมีความรุนแรงตามมาเสมอ

“ยืนยันคำเดิมว่าไม่ควรเจรจาบนโต๊ะ ให้มีการเจรจาทางลับดีที่สุด เพราะทุกครั้งที่มีการเจรจา เหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นทันที แสดงว่าเจรจาไม่ถูกเป้าหมาย” ผศ.ดร. สมบัติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“เพราะยังมีคนที่ไม่เห็นด้วย ยังมีคนที่คุยแล้วไม่ตรงเป้าหมาย ต้องพยายามให้คุยตรงเป้าหมาย แล้วเหตุการณ์จะดีขึ้น เพราะตอนนี้ เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้น ผมเห็นด้วยกับการเจรจา แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ทำอยู่ตอนนี้” ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้ แผนกสารนิเทศบีอาร์เอ็น กลับเผยแพร่วีดีโอคลิปทางยูทิวป์ โดยมีเนื้อหาว่า รัฐบาลไทยควรจะเจรจากับกลุ่มที่ได้รับฉันทานุมัติจากกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม แต่ไม่ได้ระบุชื่อของมาราปาตานีโดยตรงว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับฉันทานุมัติ ซึ่งในมาราปาตานีเองมีบุคคลที่รับทราบว่าเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นอยู่สามรายก็ตาม

บีอาร์เอ็น เชื่อว่าการยุติสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถยุติได้ด้วยการเจรจา และต้องการมีส่วนร่วมโดยตรงโดยต้องมีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์และพยาน

ด้าน นายกัสตูรี มาห์โกตา หัวหน้ากลุ่มพูโล (องค์การปลดปล่อยแห่งสหประชาชาติปัตตานี) ซึ่งเป็นอีกกลุ่มสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มหนึ่ง ในมาราปาตานี กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์ในวันพุธว่า

"การรวมให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทุกกลุ่มที่มีส่วนได้และส่วนเสียทั้งหมดควรมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ และผมไม่คิดว่า มาราปาตานีมีปัญหาอะไร"

เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอความเห็นจาก อาบู ฮาฟิซ อัลฮาคิม โฆษกขององค์กรมาราปาตานี ในวันพุธได้

นับตั้งแต่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มปฏิบัติการใช้ความรุนแรงด้วยการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา และได้ก่อความรุนแรงอย่างไม่แยกแยะ จนถึงปัจจุบันนี้ จากสถิติการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตแล้วกว่า 7000 ราย

ความคืบหน้าในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่าง ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งเขต โดยในชั้นนี้ ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ ซึ่งจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่ ในขั้นสุดท้ายอีกครั้ง

ในเรื่องการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและทดสอบความไว้วางใจระหว่างกันนั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ได้คืบหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ผมทราบว่า ขณะนี้การดำเนินการพิจารณาพื้นที่ปลอดภัย ก็ยังมีอยู่นะครับ และก็ต่อไปก็คงจะเป็นการกำหนดสถานที่สำหรับการเป็นที่ประสานสานงานต่างๆ เหล่านั้น นอกจากนั้นแล้วก็จะมีเรื่องของการจัดตั้งคณะทำงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น สำหรับการพูดคุยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย” พล.อ.อุดมเดช กล่าว

“อาจจะเป็นขั้นตอนที่ผมไม่ได้ให้รายละเอียดมาก เพราะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป... มันมีความคืบหน้าของเรื่องราวไปโดยลำดับ” พล.อ.อุดมเดชกล่าวเพิ่มเติม

ในการให้สัมภาษณ์ต่อเบนาร์นิวส์ นางสาวปาตีเมาะ เปาะติแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า การพูดคุยมีความคืบหน้าพอสมควร แต่อยากจะเห็น ความชัดเจนในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ซึ่งประชาชนตั้งตารอคอย

“ก็เห็นด้วยที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ เพราะตอนนี้เราก็จะต้องประเมินสถานการณ์เรื่อยๆ ดิฉันมองว่าทั้งสองฝ่าย ยังมองท่าที มองหาความจริงใจของกันและกัน การเลือกอำเภอนำร่อง ถือว่าเป็นการวัดใจทั้งสองฝ่าย” นางสาวปาตีเมาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นางสาวปาตีเมาะ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การพูดคุยยังขาดพื้นที่ของผู้หญิง ในขณะที่ถือได้ว่า ผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากบทบาทหน้าที่ผู้เป็นแม่และผู้เป็นภรรยา

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และ ฮาตา วาฮารี ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-peace-06282017164628.html