ศาลแพ่งอ่านคำอุทธรณ์ยกฟ้องคืนที่ดินโรงเรียนอิสลามบูรพา
ปัตตานี
นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ทนายความคดีโรงเรียนอิสลามบูรพา เปิดเผยว่า ในวันพฤหัส (6 กรกฎาคม 2560) นี้ ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง โดยศาลชั้นต้น ได้มีคำสั่งให้ยึดที่ดินของโรงเรียนอิสลามบูรพา จังหวัดนราธิวาส ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเชื่อว่าได้มีการใช้พื้นที่ของโรงเรียนใช้ในการสนับสนุนก่อการร้ายแบ่งดินแดนไปเมื่อวันที่เดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา
"คดีโรงเรียนอิสลามบูรพา วันนี้ ศาลมีคำสั่งให้คืนที่ดิน 2 แปลง พร้อมทรัพย์สิน คือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 27227 และ 27228 อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอิสลามบูรพา ระหว่างนี้รออีก 30 วัน เพื่อดูว่า ผู้ร้องจะยื่นฎีกาหรือไม่" นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ทนายความดูแลคดีโรงเรียนอิสลามบูรพา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า โรงเรียนปอเนาะสะปอม ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เคยถูกสั่งปิดครั้งแรกในปี 2550 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถจับกุมนายมะนาเซ ยา ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิด ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบพร้อมพวก 6 คน ในบ้านร้างใกล้เขตโรงเรียน โดยจากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ยังพบของกลางเป็นวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก
การจับกุมบุคคลดังกล่าว พร้อมของกลางในครั้งนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าโรงเรียนอิสลามบูรพา เป็นศูนย์กลางผลิตระเบิดแสวงเครื่อง เพื่อส่งกระจายไปก่อเหตุในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งถอนใบอนุญาตมูลนิธิอัดดีรอซาต อัลอิสลามียะห์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนอิสลามบูรพา
ต่อมาในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง
"วันนี้ ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีและยกคืนที่ดินให้โรงเรียนอิสลามบูรพา รู้สึกดีใจมาก การต่อสู้ตรงนี้ไม่ได้ต้องการชนะ แค่ต้องการความเป็นธรรม วันนี้ ถือว่าได้รับความเป็นธรรมแล้ว แต่ก็ต้องลุ้นว่าจะมีฎีกาอีกหรือเปล่า" นางซูใบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้านนายพงศ์จรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นของบิดาของนายมูฮัมมัดฮูเซ็ง มะซอ ต่อมา บิดาของนายมูฮัมมัดฮูเซ็งได้แบ่งที่ดินออกเป็น 4 แปลง โดย 2 แปลงแรก เป็นที่ตั้งของโรงเรียน แปลงที่ 3 มอบให้กับนายมูฮัมมัดฮูเซ็ง มะซอ และแปลงที่ 4 เป็นที่ตั้งของมัสยิด สำหรับความผิดทางอาญาของคดีนี้ ศาลอาญาเคยตัดสินยกฟ้องจำเลยมาแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยระบุว่าผู้บริหารของโรงเรียนอิสลามบูรพา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย สืบเนื่องจากการที่มีการจับกุมนายมะนาเซ ยา และพวก ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุรุนแรง โดยถูกจับได้ภายในบ้านร้างซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนอิสลามบูรพา
ปัจจุบัน โรงเรียนอิสลามบูรพา ยังเปิดดำเนินการเรียนการสอนอยู่ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ 1 ถึง 6 มีนักเรียน 346 คน ครู 50 คน
ด้านนางสาวบุษบา ฉิมพลิกานนท์ ทนายความประจำเครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก กล่าวว่า ผลตัดสินจากศาลแพ่งในวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดีในระดับหนึ่งสำหรับเด็กๆ และบุคคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนอิสลามบูรพา แม้จะต้องรอดูว่าผู้ร้องจะยื่นฎีกาอีกหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เชื่อว่ารัฐจะมีมิติที่ดีในการตัดสินใจ
"ทุกวันนี้ โรงเรียนอิสลามบูรพาก็เปิดสอนตามปกติ มีเด็กๆ ในพื้นที่มาเรียน จะยึดหรือไม่ยึดก็มีค่าเท่ากัน เรื่องนี้คล้ายๆ กับเรื่องของโรงเรียนปอเนาะญิฮาด แต่โรงเรียนปอเนาะญิฮาดไม่มีการฎีกา" นางสาวบุษบา กล่าว
สำหรับคดีโรงเรียนญิฮาดวิทยานั้น เมื่อปลายปี 2558 ศาลแพ่งในจังหวัดปัตตานี ได้สั่งยึดโรงเรียนญิฮาดวิทยาเป็นของรัฐ เพราะถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งทางทายาทเจ้าของโรงเรียนไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ให้ทันเวลาในตอนต้นปี 2559
แต่ในเวลาต่อมาทางรัฐบาลและชุมชน ได้มีแนวทางปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้ให้สามารถใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้องได้ แต่การยึดโรงเรียนได้ทำให้มีการเร่งก่อเหตุรุนแรงอยู่ช่วงหนึ่ง ตามคำกล่าวของรองแม่ทัพภาคที่สี่ในขณะนั้น
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-school-court-07062017143236.html