Skip to main content

 

           

 

วันศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรม อาสาจัดการขยะเพื่อบ้านเรา ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ไม่มีหน่วยงาน หรือ กลุ่มหลักในการดำเนินกิจกรรม แต่เป็นการรวมตัวจิตอาสาผ่านการประชาสัมพันธ์ทาง สื่อต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ

                 กิจกรรม อาสาจัดการขยะเพื่อบ้านเรา ได้ดำเนินการในสามจังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี พิกัดอยู่ที่ มัสยิดกรือเซะ  สวนสมเด็จ  จังหวัดยะลาพิกัดอยู่ที่ สนามช้างเผือก และ สวนขวัญเมือง สำหรับ จังหวัดนราธิวาส พิกัดอยู่ที่ หาดนราทัศน์  ซึ่งสถานที่ที่เลือกนั้น เราได้ปรึกษากับจิตอาสาที่เป็นทีมประสาน ว่าเราต้องการให้มีความแตกต่างของพื้นที่ในแต่ละจังหวัดโดยเน้นสถานที่ท่องเที่ยว หรือ สถานที่พักผ่อนของคนในพื้นที่ สามจังหวัด

               เป้าหมายหลักแล้ว กิจกรรม “อาสาจัดการขยะ เพื่อบ้านเรา” ไม่ได้ต้องการที่จะตั้งหน้าตั้งตาเก็บขยะเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการที่จะให้มีวงแลกเปลี่ยน เพื่อพูดคุยหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน และต่อยอดไปสู่กิจกรรมอย่างต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่  

          หลังจาก “จัดการขยะสิ้นสุดก็จะต่อด้วย วงพูดคุยในแต่ละประเด็นเพื่อให้จิตอาสาที่เข้ามาร่วมพร้อมสะท้อนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาและรังสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งระหว่างการจัดการขยะ ย่อมเกิดมิตรภาพซึ่งกันและกัน หรือย่อมเกิดมิตรภาพระหว่างกันและกันเริ่มแรกจากการส่งรอยยิ้มให้แก่กันโดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายเป็นคนยิ้มก่อน ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่วิเศษมากเลยนะเมื่อคนสองคน สามคน สี่คน ห้าคน ตลอดจนถึงเป็นร้อยๆคนมาพบกันในงานที่ไม่ได้นัดกันมาก่อน ฉันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอุ่นๆภายในใจ และฉันก็เชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมในวันนั้นรู้สึกอบอุ่นเช่นเดียวกับฉัน

          รอยยิ้มที่เกิดในกิจกรรมอาสา สำหรับฉัน ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง เพราะเมื่อทุกคนเริ่มรู้จักกันแล้ว เริ่มมีไมตรีจิตที่ดีกันแล้ว เมื่อมีวงแลกเปลี่ยน ย่อมได้รับสิ่งดีๆ จากความหวังดีที่พร้อมจะนำเสนอให้มีการพัฒนาพื้นที่ตามเจตนารมณ์ของจิตอาสา

ข้อมูลจากวงแลกเปลี่ยน

          เริ่มจากจังหวัดยะลาได้มีการถอดบทเรียนปัญหาของการเกิดขยะ ? ว่าเกิดอะไร ทำไมสิ่งเหล่านี้เกิดง่ายมากและถาโถมจนเป็นกองขยะที่ปลิวว่อนลงไปในน้ำบ้าง ในท่อระบายบ้าง จึงได้บทสรุปจากวงคุยว่า

เกิดจากปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายในเกี่ยวกับ พฤติกรรม การกระทำ ความคิดของผู้คนที่มักจะละเลย และไม่ใส่ใจจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากกองขยะ

ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ถังขยะไม่เพียงพอ กฎหมายด้านขยะยังไม่เอื้อให้เป็นจริง

                สำหรับแนวทางแก้ไข การรณรงค์การลดขยะโดยเชิญชวนพ่อค้า แม่ค้า  เยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ด้วยตนเอง ซึ่งการเชิญชวนลักษณะนี้จะเป็นการสร้างจุดประกายเล็กๆ เพื่อสู่ต่อแรงกระเพื่อมไปยังพื้นที่อื่นๆอีกด้วย

- การลดปริมาณขวดน้ำ และแก้วพลาสติกต่างๆ ที่จะสามารถลดปริมาณลงได้ อาจจะเริ่มจากโรงเรียนในการเพิ่มตู้น้ำดื่ม และ ต่อยอดไปสู่การเสนอให้กับหน่วยงานที่สามารถอำนวยความสะดวกตู้น้ำดื่มตั้งในสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อลดจำนวนขวดน้ำดื่ม

- ประสานงานกับ อีหม่ามในแต่ละพื้นที่ให้มีการสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดตามสถานที่ สาธารณะต่างๆ

- ประสานกับหน่วยงานที่ดูแลในสถานที่ท่องเที่ยวให้ประกาศเสียงตามสายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด

 - หนุนเสริมกิจกรรมในโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อสอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะผ่านกิจกรรมของแต่ละโรงเรียนที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว

 - ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆให้ออกคำสั่งในการดูแลความสะอาดและอาจจะมีมาตรการอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เกิดการปฎิบัติและฝึกการสำนึกร่วมในการรับผิดชอบความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ

- ติดตั้งไวนิลภาพขนาดใหญ่ (ภาพก่อนทำความสะอาด และ ภาพหลังทำความสะอาดตามบริเวณที่เป็นจุดสังเกต )

- นำเสนอเยาวชน หรือ บุคคลต้นแบบของการรักษาความสะอาดในสถานที่สาธารณะ เพื่อส่งต่อพลังงานดีๆให้กับอีกหลายคนที่ต้องการอุทิศเวลาทำงานอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมอย่างแท้จริง

          ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเสียงเล็กๆจากวงพูดคุยของ#อาสาจัดการขยะเพื่อบ้านเรา #ทีมยะลา ภายในวงคุยประกอบด้วยไปเยาวชนจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง๒ , เยาวชนจากโรงเรียนอาลาวียะห์ ,โรงเรียนพัฒนาวิทยา จังหวัดยะลา ,นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา , ครูฝึกสอนจาก สถาบันพละและมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ,ครูจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ, กลุ่มมุสลิมรักษ์สะอาด และ กลุ่มมนุษยธรรม  ซึ่งกิจกรรมที่ถูกเสนอออกมา ทุกคนพร้อมที่จะลงมือทำด้วยกัน และ พร้อมเปิดรับจิตอาสาที่ต้องการจัดการขยะเพื่อบ้านเราในกิจกรรมต่อๆไป     (อินชาอัลลอฮ์ เราจะไปเดินไปด้วยกัน)

(ติดตามตอนที่ 2 ได้เร็วๆนี้ )

ภาพถ่ายจาก นางสาว อิลฮัม หะยียามา