Skip to main content

 

แม่ทัพ 4 ดึง พคท.-จคม. เก่า เป็นวิทยากร “โครงการพาคนกลับบ้าน”

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
 
170711-TH-home-620.jpg
พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 (หมวกเบเร่ต์สีดำ) บินเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัวนายอาหามะ ดือเระ สมาชิกขบวนการที่ขอมอบตัวกับทางการ ที่ตำบลกาลอ อำเภอรามัน ยะลา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
 ภาพโดย กอ.รมน. ภาค 4
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้กล่าวในวันอังคาร (11 กรกฎาคม 2560) นี้ว่า จะปรับแนวทางการปฏิบัติโครงการพาคนกลับบ้าน โดยหนึ่งในมาตรการนั้นคือการดึงเอาอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ที่ได้วางอาวุธแล้วเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย มาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้ญาติของผู้ต้องสงสัย และชุมชนได้รับฟังเพื่อจูงใจให้มีคนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้กล่าวในวันนี้ว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ทางเจ้าหน้าที่ ได้ประชุมกับทางสมาชิกผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ พร้อมพูดคุยถึงวิธีการขจัดความขัดแย้งต่อ “โครงการพาคนกลับบ้าน” ซึ่งได้มีการปรับปรุงแผนกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืน โดยมีแนวทางแก้ไข 4 หนทาง

พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้กล่าวว่า การเชิญอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์ มาเป็นวิทยากรของกองทัพภาคที่ 4 นั้น เชื่อว่าจะเป็นช่องทางที่สามารถทำให้ผู้หลงผิดกลับมาได้มากที่สุด โดยเน้นให้นำประสบการณ์ตรงมาเล่าให้ฟัง จากตอนที่เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ จนกระทั่งผันตัวมาเป็นสมาชิกผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทั้งนี้ จะเน้นกลุ่มผู้รับสารไปยัง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ญาติผู้เห็นต่าง และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่

"เชื่อว่าน่าจะเป็นช่องทางให้ผู้หลงผิดกลับมาได้มากที่สุด 4 กลุ่มเป้าหมายหลักนี้ จะเชิญผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ญาติพี่น้องของผู้เห็นต่าง และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทุกตำบลหมู่บ้าน เพื่อที่จะเอาความจริงไปเปิดเผยว่า สิ่งที่น้องๆ ผู้เห็นต่างโดนปลูกฝัง ปลุกระดม ชี้นำในสิ่งที่ไม่ดี โดยการนำเอาศาสนามาบังหน้า ก็จะเอาความจริงจากเป้าหมายต่างๆ ที่ผ่านประสบการณ์นี้ มาเล่าให้ฟัง" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้อธิบายการปรับแนวทางการดำเนินโครงการว่า จะมีการปรับเปลี่ยน 4 ประการ

“ขั้นแรกจะปรับปรุงในเรื่องของเจ้าหน้าที่ ปริมาณ คัดกรองคุณภาพและคุณสมบัติ สอง คนที่โทรศัพท์มาหา ไม่ได้มีงบประมาณ(เหมือนเมื่อก่อน) ไม่มีโครงการ ไม่มีแผน แต่จะไปรับกลับมาทันที” พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“สาม เปิดโอกาสให้มีทางเลือกของผู้ที่อยากเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย แต่กลัวว่าครอบครัวจะมีอันตราย ก็ให้กลับมาที่บ้าน แล้วให้ญาติพี่น้องโทร มาบอกเจ้าหน้าที่ แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านในลักษณะจับกุมตัว แต่จริงๆ แล้วคือการมอบตัว และสี่ ได้เชิญอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.เก่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม.เก่า แต่ปัจจุบันได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มาเล่า และเป็นวิทยากรของกองทัพภาคที่ 4” พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

โครงการพาคนกลับบ้าน

 

โครงการพาคนกลับบ้านเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เห็นต่างออกมารายงานตัวและร่วมกันพัฒนาพื้นที่ โดยริเริ่มครั้งแรกในช่วงที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 (2553-2556) โดยมีการพาคนกลับบ้านครั้งแรกช่วงเดือนกันยายน 2555 และมีการดำเนินอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันรวมผู้ที่เข้ามอบตัวกว่า 4,432 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 3,686 คน มีหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 414 คน และกลุ่มที่ไม่มีหมายใดๆ แต่หลบหนีเพราะความหวาดกลัว จำนวน 331 คน ด้วยงบประมาณกว่า 106 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี โดยมีหลักฐานว่าผู้ร่วมโครงการฯ และครูสอนศาสนาหรืออุซตาส มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดในครั้งนี้ จึงได้มีการปรับเงื่อนไขการรับผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มงวด และเมื่อเข้าสู่โครงการแล้ว ก็ต้องเข้าร่วมปรับทัศนคติ และสร้างกระบวนการคัดกรองครูศาสนาอิสลามที่จะทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

เมื่อเข้าสู่ยุคของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ได้เริ่มมีการระบุหมายเลขโทรศัพท์พิเศษ เพื่อให้ผู้เห็นต่าง หรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ที่อยากกลับตัวกลับใจมาร่วมพัฒนาชาติไทยติดต่อมาหา ทำให้มีผู้เห็นต่างโทรฯ เข้ามาเพื่อขอมอบตัว ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์-วิจารณ์ในทางลบจากประชาชนบางส่วนเช่นกัน เนื่องจากมีข้อมูลว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้บางราย กลับไปร่วมก่อเหตุสร้างความไม่สงบซ้ำอีก จนมีการตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่ที่รัฐจะดำเนินโครงการนี้ต่อ แต่ภายหลังการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำบทเรียนในอดีตที่ประสบความสำเร็จ และโมเดลเรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายามาวิเคราะห์ รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“ผู้ที่เข้าร่วมพัฒนาชาติบางคนยังมีแนวคิดทางการเมืองแบบเดิม ในพื้นที่สามจังหวัดคนต้องการแบ่งแยกแดน ต้องการท้วงแผนดินเขาคืน เอากลับมายังไงก็ยังต้องการท้วงแผนดินเขาเหมือนเดิม รัฐมีโครงการแบบนี้เยอะ อย่างโครงการพาคนกลับบ้าน คนพุทธไม่โอเค ที่รัฐให้เงิน ให้ที่อยู่ เหมือนเอาใจเกินไป เขาไม่รู้ว่าคนที่กลับมาต้องถูกดำเนินคดีหรือเปล่า รัฐชี้แจงกับประชาชนได้หรือเปล่า และสามารถทำได้จริงหรือเปล่า” นายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ก่อนหน้านี้ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และหัวหน้าคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ได้การจัดกำลังคนเพื่อการเฝ้าติดตามพฤติกรรมผู้เข้าร่วมโครงการที่ดีพอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ๆม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางภาครัฐไม่มีสถิติของคนที่เข้าร่วมโครงการแล้วแต่ยังก่อเหตุรุนแรงอีก

ด้านนายฮัสซัน (ขอสงวนนามสกุล) แนวร่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “จะรูปแบบไหนก็ไม่มีตัวจริงออกมาร่วมโครงการพาคนกลับบ้านหรอก ที่ผ่านมา ทุกคนก็รู้ว่าคนที่เบื่อข้างในแล้วต้องออกมาเพราะครอบครัว ส่วนคนที่ยังมีศักยภาพเขาไม่เชื่อคำหลอกลวงของคนพวกนี้หรอก”

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/bringing-home-07112017110631.html