Skip to main content

 

 

#ควรเข้าใจซาอุให้มากกว่านี้

#ความเห็นแย้งจากมิตรสหาย

 

แอดมินขออนุญาตเก็บความเห็นของพี่น้องท่านหนึ่งมาเผยแพร่ เห็นแล้วว่าแม้จะชื่นชอบซาอุฯ แต่ก็แสดงความเห็นได้สร้างสรรค์ เป็นการสะท้อนมุมมองอีกด้านหนึ่งต่อบทความ "ภาพข้างหลัง" ขอปรับสำนวนหลายๆ ตอนให้นุ่มลงสักนิด จัดแบ่งประเด็นใหม่ อ่านแล้วก็คิดต่อได้อีกหลายแง่มุม ตามข้างล่างนี้

.........................................................................

.........................................................................

.........................................................................

ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับซาอุดิอาระเบีย ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนโยบายอะไรต่างๆ ที่ออกมาจากซาอุดิอาระเบีย และอาจไม่เห็นด้วยเลยในหลายๆ ประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้จะยาวเกินไปที่จะคุยเรื่องนี้ จึงไม่ขอพูด แต่จะขอให้แสดงความคิดกับบทความ “ภาพข้างหลัง” ที่เพิมเติมออกไปต่อประเทศที่ชื่อว่าซาอุดิอาระเบียสัก 2 ประเด็น

1) ซาอุดิอาระเบียเป็นรัฐชาติที่มีความพิเศษมาก คนที่มองรัฐชาติสมัยใหม่ที่อิงกับตะวันตกยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ชัด ลองนึกความจริงง่ายๆ ก่อนก็ได้ว่า ซาอุอาระเบียมาจากรัฐที่เคยล้มมาแล้วสองครั้ง และฟื้นขึ้นมาได้ในพื้นที่เดิมทุกครั้ง ก่อตั้งขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ล้มลงไปในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยถูกอุษมานียะฮฺกวาดล้างจนไม่เหลือ แต่ก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ในอีกไม่กี่ปี อยู่มาได้เกือบศตวรรษ ก็ล้มลงไปอีกในตอนปลายศตวรษ ถูกโค่นล้มโดยอีกเผ่าหนึ่ง แต่ก็ฟื้นขึ้นมาได้ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยอะมีรอับดุลอะซีซ

การล้มไปจนไม่เหลือดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว แล้วสามารถฟื้นขึ้นมาใหม่ได้หลายครั้ง นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยครับ มีกี่รัฐในโลกนี้ที่ทำอย่างนี้ได้บ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อธิบายได้ง่ายๆว่า มันมาจากพลังการฟื้นฟูศาสนาของเชค มุฮัมมัด บิน อับดุล วะฮฮาบ ผู้ที่ต้นกำเนิดตัวจริงของซาอุดิอาระเบีย มิใช่ตระกูลซาอูด ปรากฏการณ์แบบนี้อาจไม่เคยพบเห็นในหลายศตวรรษที่ผ่านมา พลังทางศาสนาสามารถเข้าไปสอดแทรกในรัฐได้ และฟื้นตัวด้วยอุดมการณ์แบบเดียวกันนี้มาได้หลายครั้ง อุดมการณ์ลักษณะแบบนี้มีความเฉพาะมาก พบเห็นได้ไม่ง่าย คนอาจจะไม่ชอบตระกูลซาอูดเป็นเรื่องธรรมดา อาจไม่ชอบนโยบายในบางยุคบางสมัยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องยอมรับความจริงว่า รัฐชาติแบบซาอุ เป็นรัฐที่มากกว่ารัฐของราชาธิปไตย มากกว่าการเป็นแค่ราชวงศ์หนึ่ง ตรงนี้น่าสนใจต่อพลังทางศาสนามากกว่าการด่าทอต่อระบบการปกครองของซาอุ เราน่าจะสนใจตรงนี้กันมากกว่า สำหรับบางคนแล้วถือว่าเป็นรัฐที่เดินตามแนวทางสลัฟได้ดีที่สุดในรอบพันปี

2) การด่าทอซาอุด้วยอารมณ์ อาจหลงลืมความจริงว่า การกำเนิดขึ้นมาของซาอุควรจะเรียกว่าเป็นผลประโยชน์มหาศาลของโลกมุสลิม ต้องย้อนอ่านประวัติศาสตร์ให้มากขึ้นว่า ดินแดนแถบอ่าวเปอร์เซียเมื่อสองร้อยหรือสามร้อยปีก่อน มันเป็นพื้นที่ทะเลทรายที่ย่ำแย่ ศาสนาถูกละเลย จุดสนใจของอำนาจมันไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ไปที่อิสตันบูล ไปที่ไคโร อ่าวเปอร์เซียเป็นที่สิงสถิตของกลุ่มบิดเบือนจำนวนมาก แม้แต่ปัจจุบันอย่างชีอะฮฺ (อันเป็นคนส่วนใหญ่ของบะหเรน) พวกอิบาดียฺ (อันเป็นคนส่วนใหญ่ของโอมาน) ประเทศคูเวต กาตาร์ เอมิเรต เองก็มีชาวชีอะฮฺเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีปริมาณมาก แต่การขึ้นมาของรัฐของตระกูลซาอูดทำให้อำนาจเหล่านี้ถูกจำกัดตัว และมีการขยายตัวของผู้คนที่นิยมในแนวทางแบบฮัมบะลีย์ (ของเชค มุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮฮาบ) ซึ่งยังคงอยู่ในแนวสุนนี่

เมื่อเกิดการค้นพบน้ำมัน แหล่งพลังงานทีส่งผลกระทบต่อโลกมากนี้ก็ถูกจัดการโดยรัฐที่นิยมศาสนาในแนวทางของมุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮฮาบเป็นส่วนใหญ่ เราคงไม่ได้คาดหวังอะไรทุกอย่างจากรัฐซาอุฯ แต่ถ้าลองชั่งน้ำหนักทบทวนดู จะเห็นถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการปรากฏขึ้นมาของรัฐซาอุ เราได้เห็นการเล่าเรียนศาสนาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกภายใต้การสนับสนุนจากซาอุ เราได้เห็นการค้ำจุนกิจกรรมศาสนามากมายจากซาอุ เราได้เห็นการเผยแพร่เตาฮีดไปทั่วทุกมุมโลก ถ้ามองย้อนไปยังประวัติศาสตร์แถบนี้ก็จะเข้าใจมากขึ้น

บทความ “ภาพข้างหลัง” พูดถูกว่า น่าเห็นใจต่อสถานะของซาอุ แต่ก็มองซาอุในแง่ลบมากเกินไป

สุดท้าย เขียนมายาว ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกอย่างที่ซาอุกระทำ ไม่เห็นด้วยกับการอวยซาอุแบบสุดตัว แต่ถ้าคิดดูให้ดีนี่เป็นรัฐที่หาได้ยากในรอบหลายศตวรรษที่ผ่านมา เรื่องนี้อยากพิจารณาให้เป็นธรรมมากขึ้น เราจะได้เข้าใจซาอุมากขึ้น

ไม่ใช่ติ่งซาอุแต่รักซาอุ

#บทความเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน_ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของแอดมิน

ปล. ภาพประกอบ คิงสัลมานกำลังมอบรางวัลคิงไฟซอลอะวอร์ด ให้กับดาอีย์ชื่อดัง ดร.ซากิร ไนค์

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติแห่งความน่าเห็นใจ

ความเห็นแย้งจากมิตรสหาย กรณีข้อเขียนเรื่องวิกฤติแห่งความน่าเห็นใจ

 

ที่มา Ghurabaa' - The Strangers