Skip to main content

 ศ.ดร. ฏอริก  รอมฎอน  เขียน   อิมรอน  โสะสัน  แปล/เรียบเรียง

 

          ...บทความนี้เป็นการกล่าวถึงการสนทนาระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง “มุสลิม” “อิสลาม” กับ “โลกตะวันตก” ซึ่งจะเห็นได้ว่าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการรับรู้ถึง “อิสลาม” ในประชาคมมุสลิมเอง ผู้เลื่อมใสในศาสนาอื่น หรือแม้ผู้ที่ไม่ได้เชื่อในศาสนาใดๆกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น...

                                                                                 muslims-in-the-west

                                                                                        (ภาพอ้างอิงจาก http://khutbahbank.org.uk/v2/?p=2739)

จากผู้อพยพรุ่นแรกเข้าสู่โลกตะวันตกในอดีต ปัจจุบันมุสลิมกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมตะวันตกอย่างสมบูรณ์ (fully-entitled contributor) และจะแสดงบทบาทนี้ไปในอนาคตด้วยเช่นกัน ในวันนี้ “อิสลาม” จะไม่ใช่ศาสนาแปลกปลอมหรือศาสนาที่มาจากโลกภายนอก (foreign religion) สำหรับตะวันตกอีกต่อไป วาทกรรมที่เกี่ยวกับอิสลามก็ไม่ควรจะผูกโยงเฉพาะเรื่องผู้อพยพเพียงเรื่องเดียว ซึ่งดูประหนึ่งว่า มุสลิมคือคนแปลกหน้าหาใช่คนท้องถิ่นหรือพลเมืองของสังคมตะวันตกแต่อย่างใด  

ข้าพเจ้าขอนำเสนอแนวทางที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้านั่นหมายถึง เราต้องละทิ้งสิ่งที่เรียกว่า “การสนทนาที่ล้าสมัยของความเป็น “พวกเขา” “พวกเรา” (timeworn dialogue of them and us) ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความท้าทายนานัปการ และหันมามองและยอมรับต่อความหลากหลายในฐานะ “สินทรัพย์” (as an asset) ของสังคม และร่วมกันพิจารณาถึงอนาคต ความรับผิดชอบร่วมที่จะแบ่งปันให้กันและกัน สิ่งนี้จะนำสังคมของเราไปสู่สิ่งใหม่ที่เรียกว่า “ความเป็นเราในความหมายใหม่” (The New We)

พลเมืองโลกตะวันตกหลายล้านคน คือชาวมุสลิม นับตั้งแต่วันนี้และอนาคต อิสลามคือศาสนาของโลกตะวันตก (Western religion) อิสลามได้กลายเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์โลกตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย (an irrefutable part of Western identity) นี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะต้องยอมรับมัน เนื่องจากบทสนทนาที่เรื้อรังเกี่ยวมุสลิมในฐานะ “ผู้อพยพ”หรือ ในฐานะ“พลเมืองที่เคยเป็นผู้อพยพมาก่อน”ก็ตาม ประเด็นนี้ได้สร้างให้เกิดความแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างชัดเจน มันคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่งถึงสถานการณ์ปัจจุบันของมุสลิมในสังคมตะวันตก ความเป็นจริง ในหลายประเทศตะวันตก มุสลิมได้อาศัยมานานหลายทศวรรษมาแล้ว ปัจจุบันพวกเขาคือพลเมืองมุสลิมในรุ่นที่สี่ ที่ห้า เป็นมุสลิมที่เกิดที่นั่น ในประเทศเหล่านั้น

     

                                                                                               (ภาพอ้างอิงจาก https://www.factsandlogic.org/ad_157/)

สังคมตะวันตกได้เผชิญกับความท้าทายอยู่สองรูปแบบที่สนับสนุน “การอยู่ร่วมกัน” และ “เปิดช่องทาง” ให้กลุ่มต่างๆในสังคมสามารถช่วยเหลือกันในการสร้างอนาคตที่ดีและผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ร่วมของทุกกลุ่มในสังคม” หรือ common narrative

สิ่งแรก เราควรเข้าใจความจริงที่สังคมตะวันตกกำลังเผชิญ และยอมรับให้ได้ว่า สังคมตะวันตกกำลังขับเคี่ยวกับวิกฤติต่างๆมากมาย และจะเห็นว่าบ่อยครั้งที่ “อิสลาม” ถูกใช้เป็นเครื่องมือเบี่ยงเบนความสนใจจากรากปัญหาแท้จริงของสังคมตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น วิกฤติอัตลักษณ์ (identity crisis) ในสังคมตะวันตก  เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความไม่ลงรอยกันระหว่างความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (economic needs) กับการต่อต้านทางวัฒนธรรม (cultural resistance)

ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลบหลีกได้คือ “ผู้อพยพ” คือผู้รังสรรค์ส่วนสำคัญของกระบวนการใช้แรงงานในสังคมตะวันตก พวกเขาคือความจำเป็นที่ตะวันตกขาดไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็มี “วาทกรรมภายใน” ที่บ่งชี้ถึงความตึงเครียดระหว่างอัตลักษณ์แห่งชาติ (national identity) กับการเข้ามาของผู้อพยพรุ่นใหม่ๆในสังคมตะวันตก นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่า โลกตะวันตกก็ดูอ่อนเปลี้ยลงไปไม่น้อย พวกเราสูญเสียความมั่นใจ (confidence) และวิสัยทัศน์ (vision) สำหรับการกำหนดทิศทางอนาคตของพวกเขา แน่นอนย่อมมีผลมาจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งมิติเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง

ถึงกระนั้นก็ตาม ปัญหาความท้าทายทั้งหลายที่ตะวันตกกำลังประสบนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาสู่การแก้ตัว (justification) สำหรับมุสลิมที่จะเพิกเฉยต่อความท้าทายภายในกลุ่มมุสลิมด้วยกันเอง มุสลิมถูกมองว่ามีความต่างกันอยู่ภายใน อันเนื่องจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประเทศชาติและวัฒนธรรมของมุสลิมที่ติดตัว ทำให้อิสลามกลายเป็นศาสนาหนึ่งที่มีส่วนผสมไม่เป็นเนื้อเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

ในการนี้ มุสลิมย่อมมีความรับผิดชอบสูงสุดในการศรัทธาต่อหลักการของศาสนาอย่างเคร่งครัดและต้องมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมตะวันตกในฐานะ “บ้าน” ในทางเดียวกัน ต้องมีความมั่นใจว่า ความคล่องตัว (flexibility) ของหลักการทางกฎหมายอิสลาม และ ความอิสระในการคิดหรือการปฏิบัติทางกฎหมายของสังคมตะวันตกสามารถทำงานร่วมกัน (compatible)ในทิศทางเดียวกันได้

                           

                                                              (ภาพอ้างอิงจาก http://www.ynetnews.com/articles/0,7340,L-4730418,00.html)

การที่มุสลิมจะได้ชื่อว่าเป็น “พลเมือง” ที่มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ได้นั้น มุสลิมจำเป็นต้องปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของ (belonging) ความผูกพัน (attachment) ความภูมิใจ (pride) ความซื่อสัตย์ (loyalty) ในประเทศของตน และมีความรู้สึกว่า ประเทศนี้คือ “บ้านของฉัน” (my home) สังคมนี้คือ “อนาคต” ของลูกหลานของฉัน (my children’s future) ด้วยเช่นกัน และด้วยความสับสน การตีความอิสลามที่ผิดพลาดทั้งทางตรงและทางอ้อมปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงถือเป็นภาระหน้าที่ที่เราจะต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อย่างจริงจังต่อไป 

(ติดตามตอนต่อไปครับ)

 

***หมายเหตุ แปลและเรียบเรียงจากบทความชื่อ The Future of the New “We”: Muslims in the West to Western Muslims, BY TARIQ RAMADAN, August 20, 2013, http://hir.harvard.edu/article/?a=10378