ศ.ดร. ฏอริก รอมฎอน เขียน อิมรอน โสะสัน แปล/เรียบเรียง
(ภาพอ้างอิงจาก http://www.jewishworldreview.com/0705/west072205.php3)
ตะวันตก : ความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม
วาทกรรมว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และการผสมผสานในโลกตะวันตกได้ก่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า ตะวันตกกำลังเผชิญกับ “วิกฤติอัตลักษณ์”อย่างรุนแรง หมายถึง คำถามที่มีต่อตัวเอง “เรากำลังจะเป็นอะไรในอนาคต” (Who are we going to be?) บางคนอาจรับรู้ได้ว่า โลกกลมๆใบใหม่ (the new global world) ได้กัดกร่อนจิตสำนึกส่วนตัวของเราในฐานะสมาชิกของชาติลงไป ความจงรักภักดีในฐานะพลเมืองต่อชาติก็ดูเหมือนกระจัดกระจายตามไปด้วย บรรดาผู้อพยพเองก็ดูราวกับว่าพวกเขาเริ่มมีตัวตนเด่นชัดในสังคมมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า การมีตัวตนใหม่ของผู้อพยพ (new visibility) โดยส่วนใหญ่ก็คือชาวมุสลิมที่มีบรรพบุรุษอพยพจากประเทศต่างๆแถวซีกโลกใต้ (Southern hemisphere) พวกเขาเหล่านี้ได้รบกวน “สาระหลักในการรับรู้” ของสังคมที่มีต่อพวกเขาในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น การแสดงตัวตนเชิงศาสนาและวัฒนธรรมอย่างโจ่งแจ้งในลักษณะนี้สร้างความท้าทายอย่างยิ่งต่อความเป็น “อัตลักษณ์เดียว” (homogenous identity) ที่เคยมีมาครั้นอดีตในสังคมตะวันตก
“ปรากฏการณ์ผู้อพยพ”ในสังคมตะวันตกค่อยๆพัฒนาเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวโยงถึงปัญหาเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ (socioeconomic problems) ที่พวกเรากำลังต่อสู้อย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน ในทำนองเดียวกัน ประเด็นผู้อพยพก็ถูกนำมาเป็นคำอธิบายชุดเดียวให้กับปัญหาอื่นๆของสังคมตะวันตกอีกด้วย
ระบบการศึกษาในสังคมของเราเริ่มถึงทางตัน อีกทั้งปัญหามากมายเหลือเกินที่น่าเป็นห่วง เช่น ความยุติธรรมทางสังคม ความยากจน ปัญหาว่างงาน ปัญหาคนชายขอบที่ขาดการดูแล ปัญหาการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง และปัญหาอาชญกรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้สามารถนำมาเกี่ยวโยงได้เป็นอย่างดีกับประเด็นผู้อพยพ และการรับรู้พวกเขาในฐานะ “ความเป็นอื่น” (other) ซึ่งสามารถสร้างตัวตนให้แก่นักประชานิยมสายพันธุ์ใหม่ (populist) ใช้เป็นวาทกรรมทำลายล้าง (unconstructive discourse) ได้เป็นอย่างดี
(ภาพอ้างอิงจาก https://charterforcompassion.org/igb-islamophobia/fourteen-ways-you-can-...)
ประชานิยมสายพันธุ์ใหม่
ในที่นี้ “ประชานิยม” มีลักษณะเฉพาะตัว อาทิ ประชานิยมสนับสนุนคำตอบแบบ หยาบๆ (simplistic answers)ต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อน (complex problems)โดยพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นเรื่อง “ผิดพลาด” ที่เกิดขึ้นในสังคม ข้าพเจ้าขอยกเหตุการณ์ในบ้านเกิดของข้าพเจ้าประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อความเข้าใจต่อประเด็นนี้ให้มากขึ้น ในอดีต สิ่งที่สังคมบ้านข้าพเจ้ามักจะกล่าวหาชาวสเปน ชาวอิตาลี ชาวโปรตุเกสว่าพวกเขาคือเจ้าปัญหา แต่ปัจจุบันสิ่งนี้กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความผิดพลาดที่ตะวันตกคิดถึงได้รวมศูนย์ไปสู่ “ชาวมุสลิม” เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
ลักษณะประชานิยมประการต่อมา คือ ประชานิยมมักปลูกฝังความกลัว (fear) และ ความหวาดวิตก (phobia)โดยมักกล่าวลอยๆเสมอว่า “ประเทศของเราตกอยู่ภายใต้การปิดล้อมของคนอื่น” และมักปลุกปั่นให้สังคมเกิดความกังวลถึงภัยที่จะเข้ามาบั่นทอนอัตลักษณ์ของชาติ ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังแนะนำว่า “คนอื่นกำลังล่าพวกเราเป็นอาณานิคมของเขาโดยที่เราไม่รู้ตัว” (others are silently colonizing us)
หากพิจารณาให้ถ่องแท้ โรคความกลัวศาสนาอิสลาม (Islamophobia) มีลักษณะร่วมกันเหมือนกับลัทธิต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism) และโรคความกลัวศาสนา วัฒนธรรมชาวยิว (Judeophobia)ในอดีต ลักษณะแบบนี้อาจเรียกว่า “ความกลัวทางสังคม” (social fear) ซึ่งมี “วาทกรรมบางอย่างหล่อเลี้ยง” สู่การมุ่งเป้าหมายไปที่ “คนอื่น” หรือ “กลุ่มคนบางกลุ่มเฉพาะ” หรือ “ชนกลุ่มน้อย” ให้รับผิดชอบทุกปัญหาที่เกิดขึ้น แน่แนน สิ่งนี้ทำได้ง่ายกว่าการหาทางออกอันแท้จริงทางเศรษฐกิจและการเมืองของตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนั้น ประชานิยมได้ผลิตลักษณะเฉพาะอีกประการ นั่นคือ การหว่านเมล็ดพันธุ์ “เหยื่อทางความคิด” (victim mentality) ให้สังคม กล่าวคือ พวกเราไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังรุมเร้าสังคมของเรา เพราะ “พวกเขา” คือผู้ก่อการ (the perpetrator)ทั้งหมด แต่ “เราซิ”! เป็นเหยื่อรับเคราะห์กรรมในสิ่งที่พวกเขาก่อไว้
อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นจากลักษณะประชานิยมทั้งสามประการที่กล่าวมา ส่งผลให้เกิดทัศนคติแบบ “พวกเรา” ปะทะ “พวกเขา” (us versus them attitude) ทัศนคตินี้ได้ฝังตัวอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้าในโลกตะวันตกของพวกเรา “วาทกรรมประชานิยม” (populist discourse)และ “การเมืองแบบใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวขับ” (emotional politics) ได้ลุกลามเติบโตขึ้นบนฐานของคำตอบแบบหยาบๆ และความอ่อนแอต่อการแสวงหาคำตอบเชิงลึกให้กับปัญหาทางการเมือง สังคมเศรษฐกิจที่หมักหมมมาช้านาน
วาทกรรม “การเมืองแบบใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวขับ” ต้องการตัวตนที่ชัดเจน ชอบการโต้แย้ง ชอบอารมณ์ ปฏิกิริยาตอบสนองแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดความรู้สึกร่วมถึงความเป็นพลเมือง (civic sense of belonging)ขึ้นมาแต่อย่างใด ในทางกลับกัน มันกลับสร้างให้เกิดการปฏิเสธ (rejection)อย่างรุนแรงอีกด้วย
ชาวปากีสถาน ชาวตุรกี ชาวอียิปต์ ชาวตูนิเซีย ชาวแอลจีเรีย ชาวแอฟริกัน ชาวมาลี และกลุ่มอื่นๆที่อาศัยในโลกตะวันตก ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยถูกเรียกแบบนั้น แสดงถึงที่มาของพวกเขา แต่..ปัจจุบันพวกเขาถูก “ปีกกา” เหมารวมเรียกว่า “มุสลิม” นี่คือปรากฏการณ์ข้ามชาติ (transnational phenomena) ที่สร้างความรู้สึกหวาดระแวงขึ้นมา เราได้เห็นสิ่งนี้แล้วในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ทั่วทั้งโลกตะวันตก ชาวมุสลิมกลายเป็นเป้าทำให้เกิดความหวาดกลัวโดยปริยาย
กลุ่มคนอพยพรุ่นแรกได้เข้ามาหางานทำ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน จนกลายเป็นพลเมือง พวกเขาเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ (ตะวันตก) กระบวนการนี้ถือเป็นก้าวย่างอันสำคัญน่าชื่นชมยิ่ง แต่ปัญหาปัจจุบันกลับเป็นประเด็นที่ว่า พวกเขาถูกละเลยใน “กระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ชาติร่วม” ทั้งๆที่พวกเขาเองก็เป็นพลเมืองสมบูรณ์ในแง่ทฤษฎีและสิทธิ์ก็ได้รับเหมือนคนอื่น ใช่ ! พวกเขาคือ “พลเมืองของรัฐ” (citizens of the state) แต่ยังเป็นคน “ต่างด้าวภายในรัฐชาติ” (foreigners within the nation) ของพวกเขาเองอยู่ดี
“กระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ชาติร่วม” ในโลกตะวันตกได้ละเลยตัวตนของพวกเขา พวกเขาไม่มีที่ยืนทั้งในส่วนของอดีต ส่วนของปัจจุบัน และความจำเป็นเชิงบวกในอนาคตอย่างน่าเศร้า
ตะวันตกจำเป็นต้องเผชิญกับความจริงนี้ต่อไป ตราบเท่าที่ “วาทกรรมประชานิยม”ยังคงปลูกฝังจิตสำนึกให้ดำรงอยู่… “อิสลาม” คือ “สิ่งอื่น” ….“ชาวมุสลิมคือพวกต่างด้าว”… พวกเขาไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรม อารยธรรม ความเข้าใจต่อค่านิยมและหลักการที่พวกเรายึดถือกันมาแม้แต่นิดเดียว....
(โปรดอ่านตอนต่อไป)
(ภาพอ้างอิงจาก https://hub.wsu.edu/law-justice-realtime/2015/12/17/islamophobia-the-ste...)