ศ.ดร. ฏอริก รอมฎอน เขียน อิมรอน โสะสัน แปล/เรียบเรียง
(ภาพประกอบจาก http://pluralism.org/religions/islam/issues-for-muslims-in-america/unity...)
อิสลาม : ความท้าทายจากภายใน
ประชาคมมุสลิมเองกำลังเผชิญกับปัญหาภายในกลุ่ม (internally) ของตนไม่น้อยไปกว่ากลุ่มประชาคมอื่นๆ ข้าพเจ้าได้สรุปสิ่งนี้ไว้ในหนังสือของข้าพเจ้า (What I believe – สิงที่ข้าพเจ้ายึดมั่น) ไว้ว่า...ในวันนี้เรากำลังเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติเงียบภายในอิสลาม” (silent revolution within Islam)
ในช่วงแรกๆของการอพยพตั้งถิ่นฐานในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและประเทศออสเตรเลียถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหลือเกินสำหรับมุสลิม พวกเขาต้องต่อสู้กับสภาวการณ์ความตึงเครียด (tension) ระหว่างวัฒนธรรมบ้านเกิด (cultures of origin) กับหลักการอิสลาม (Islamic principles) ซึ่งดูประหนึ่งว่า ทั้งสองอย่างคือสิ่งเดียวกัน และเป็นการยากยิ่งที่จะแยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน ด้วยเหตุนี้ เราต้องยอมรับให้ได้ว่า “....ศาสนา และ วัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ไม่มีศาสนาหากไร้ซึ่งวัฒนธรรม และไม่มีวัฒนธรรมหากปราศจากคำสอนของศาสนา แต่ทว่า...ศาสนาไม่ใช่วัฒนธรรม...”
อิสลามได้วางกรอบศาสนาบัญญัติไว้ให้ยึดถือปฏิบัติอย่างชัดเจน หลักการทางศาสนาไม่มีการเปลี่ยนแปลง (immutable) เช่น หลักศรัทธา 6 ประการ หลักการปฏิบัติ 5 ประการ หรือสิ่งที่ถูกกำหนดห้ามในอิสลาม เป็นต้น เหล่านี้คือสิ่งที่มุสลิมต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน สามารถปรับให้เข้ากับสถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมไม่ใช่ศาสนา ดังนั้น เมื่อมุสลิมต้องตั้งถิ่นฐานในวัฒนธรรมใหม่ พวกเขาจำเป็นต้องกลับไปทบทวนคำสอนของอิสลามอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทางสังคม ความสัมพันธ์/บทบาทหญิงชาย
“วัฒนธรรมใหม่” เปิดโอกาสให้มุสลิมได้หันไปทบทวนประวัติศาสตร์และความเข้าใจใหม่ต่อคำสอนอิสลามอีกครั้งว่า การปฏิบัติบางอย่างในสังคมมุสลิมที่ยึดถือกันมาเป็นเพียงวัฒนธรรมไม่ใช่หลักการทางศาสนาบัญญัติดังที่เราเข้าใจ
ขอกล่าวในที่นี้ว่า มันมีความจำเป็นสำหรับมุสลิมที่จะยอมรับว่า สิ่งนี้คือ การฉายภาพอันโดดเด่นทางวัฒนธรรม (cultural projection) พวกเขาสามารถเป็นผู้ศรัทธาในหลักการอิสลามได้ ในเวลาเดียวกัน ก็สามารถปรับตัวทางวัฒนธรรมที่ไม่ขัดกับหลักการอิสลามได้เช่นกัน
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นขั้นตอนของมุสลิมอพยพกลุ่มแรกๆที่ได้ผูกมัดตัวเองกับวัฒนธรรมใหม่ของพวกเขา โดยแท้จริงแล้ว จนกระทั่งวันนี้ เราก็เพียรพยายามที่จะแก้ไขประเด็นเหล่านี้ เท่าที่รับรู้ได้ มีการเสนอคำตอบใหม่ๆ วิสัยทัศน์ใหม่ๆสำหรับการดำรงอยู่ในวัฒนธรรมใหม่ของมุสลิมอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอส่วนใหญ่ยังคงมีรากของสิ่งที่เราปฏิบัติกันมา นั่นคือ ยึดมั่นศรัทธาต่อคำสอนในอัลกุรอาน แต่มีการตีความ อธิบายในบริบทใหม่ นี่คือการ “ฟื้นฟู” (renewal) ไม่ใช่แนวคิดใหม่ การฟื้นฟูคือส่วนสำคัญของพลวัตในศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เราไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวบท คำสอนในอัลกุรอาน และคำสอนของศาสนทูตของเรา แต่..แนวทางการเข้าถึงและการตีความอาจเปลี่ยนไปตามบริบทที่เกิดขึ้น “กาลเทศะ” (time and space) ได้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง นั่นคือสิ่งที่เราต้องยอมรับมัน แหละนี่คือความท้าทายประการแรกที่เกิดขึ้นภายในประชาคมมุสลิม เป็นความท้าทายที่เราต้องเรียนรู้เรื่อยไป (work in progress) ความท้าทายนี้ก่อตัวขึ้นท่ามกลางนักวิชาการและมุสลิมตะวันตก ข้าพเจ้าเรียกสิ่งนี้ว่า “การปฏิวัติเงียบ” “การปฏิวัติทางปัญญา” เป็นจุดกำเนิดของ “ความคิดใหม่” ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเราตลอดไป
(ภาพประกอบจาก http://www.elfagr.org/2318105)
ความท้าทายประการที่สอง หมายถึง การยอมรับและเคารพความหลากหลายภายในอิสลามด้วยกนเอง (diversity within Islam) ปัจจุบันมีแนวโน้มมากมายเกิดขึ้นภายในกลุ่มมุสลิมและประชาคมมุสลิมตะวันตก ความหลากหลายนี้สามารถเป็นมูลเหตุสร้างความตึงเครียดและความไม่ลงรอยกันภายในประชาคมมุสลิมได้ เช่น ความตึงเครียดทั้งในตะวันออกกลางและโลกตะวันตก ระหว่างซุนนีย์ ชีอะห์ หรือแนวโน้มอื่นๆ อาทิ กลุ่มสะละฟีย์ปลีกตัวจากสังคมรอบตัวพวกเขา กลุ่มซูฟีย์พยายามปิดตัวเงียบปฏิบัติตนในพื้นที่ตัวเอง
อย่างไรก็ตาม บรรดานักปฏิรูปทั้งหลาย (reformists) พวกเขาไม่หนีสิ่งแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ พวกเขามีความกระหายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม และมุ่งมั่นส่งเสริมการทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆเสียใหม่ พวกเขาเคร่งครัดต่อหลักคำสอน ในทางเดียวกัน ก็สามารถปรับตัวและชื่นชมบริบทเหล่านั้นด้วย
นอกจากที่กล่าวมานี้ มุสลิมเริ่มมีประสบการณ์กับความหลากหลายอีกสองประการตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายอันเกี่ยวเนื่องจากชนชั้นทางสังคมและจุดยืนทางการเมือง อันเป็นเหตุนำมาสู่ความสลับซับซ้อนของสังคมตามลำดับ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา มุสลิมแอฟริกัน-อเมริกันต้องต่อสู่กับความท้าทายภายในสังคม พวกเขาต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ในขณะที่มุสลิมอพยพบางคนสามารถตั้งถิ่นฐานและลิ้มรสความฝัน (American dream)ในแผ่นดินอเมริกาได้
มุสลิมแอฟริกัน-อเมริกันที่เกิดในสหรัฐอเมริการุ่นที่สอง สาม สี่ ได้ท้าทายต่อสิ่งที่เรียกว่า “ตำนานของแผ่นดินแห่งโอกาสและความเสมอภาค” พวกเขาบางคนยังคงตกงาน ขาดการยอมรับในสังคม พวกเขายังต้องเจอกับการเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติอย่างเลือดเย็น สิ่งนี่ไม่อาจจะเรียกว่า “ความฝันอเมริกัน” ได้อีกต่อไป มุสลิมเหล่านั้นก็ไม่ใช่ผู้อพยพ พวกเขาเป็นเหมือนคนพื้นที่และคนอเมริกันผิวขาวทั่วไปที่เกิดในแผ่นดินแม่
ชนชนทางสังคมนี้ได้แบ่งแยกการดำรงอยู่ของมุสลิมอย่างชัดเจน ในยุโรป แคนาดา และออสเตรเลียก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องจุดยืนทางการเมืองที่ผู้คนมักเรียกตัวเองว่า “กลุ่มซ้ายจัด” “กลุ่มขวาจัด” ซึ่งนำมาสู่การแบ่งแยกคนในสังคมได้อย่างดี
(ภาพประกอบจาก http://www.columbian.com/news/2015/oct/10/black-american-muslims-reflect...)
การแบ่งแยกทางชนชั้นและการเมืองที่กล่าวมานั้น ทำให้เกิดความยากต่อการวางจุดยืนทางศาสนาของมุสลิม ประเด็นนี้สามารถสนับสนุนการแบ่งแยกระหว่างประชากรมุสลิมในโลกตะวันตกให้ชัดเจนยิ่ง ประชาคมมุสลิมเองกำลังประสบกับความตึงเครียดและการแบ่งแยกเหล่านี้อย่างหนัก คงถึงเวลาที่มุสลิมด้วยกันจะยอมรับเสียทีว่า “ความหลากหลายของพวกเขาคือส่วนของความจริงที่ไม่อาจปิดกั้นได้ในสังคมตะวันตก มุสลิมควรเข้าใจต่อความจริงข้อนี้เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้าด้วยกัน”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)