เมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้มีโอกาสไปเยือนศรีลังกาเพื่อร่วมการประชุมวิชาการเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในเอเชีย (Peacebuilding in Asia)[1] และไปศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและกลุ่ม LTTE (The Liberation Tigers of Tamil Eelam) ซึ่งในขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วง "หลังความขัดแย้ง" (post-conflict) มีบทเรียนหลายอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าในเรื่องภาคใต้ เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง
กลุ่ม LTTE ได้ต่อสู้ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกของศรีลังกาซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อชาติ Tamil ชาว Tamil ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศศรีลังกาเป็นเชื้อชาติ Sinhalese โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ชาว Tamil มีความรู้สึกถูกกดขี่ทั้งทางด้านภาษา การศึกษา การจ้างงานและเรื่องที่ดิน ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของกลุ่มติดอาวุธ นับตั้งแต่ปี 1983 ถึง 2009 กลุ่ม LTTE ได้ต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อตั้งประเทศใหม่ทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ[2] ที่นั่นเคยมีกระบวนการสันติภาพในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในสมัยของประธานาธิบดีหญิง Chakdrika Kumaratunga โดยมีประเทศนอรเวย์เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลของ Mahinda Rajapaksa ในปี 2005 ประธานาธิบดีคนใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือมาใช้การทหารปราบพวก LTTE จนราบคาบ การต่อสู้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ทางการทหารของกลุ่ม LTTE รัฐบาลศรีลังกาถููกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอย่างรุนแรงว่าคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย จนมีการกล่าวหาว่า Rajapaksa นั้นเป็น "อาชญากรสงคราม" (war criminals) หลังการสู้รบจบใหม่ๆ การเข้าไปยังพื้นที่ที่ถูกปราบปราบนั้นแทบจะกระทำมิได้
อนุสรณ์สถานที่สร้างโดยคนใน
เก้าปีหลังสงครามจบลง ศรีลังกายังคงแสวงหาหนทางจะ “ปรองดอง” และจัดการกับอดีต มีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งในช่วงต้นปี 2015 โดย Rajapaksa พ่ายแพ้การเลือกตั้ง Maithripala Sirisena ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน รัฐบาลภายใต้การนำของ Sirisena มีท่าทีที่ประนีประนอมและรับฟังต่อเสียงเรียกร้องในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประชาคมนานาชาติมากกว่า รัฐบาลศรีลังกามีโครงการหลายๆ อย่างที่ดูเหมือนเป็นความพยายามจะจัดการกับผลของสงครามที่ยังไม่จบ เช่น การตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง หน่วยงานดูแลด้านผู้สูญหายและการเยียวยา กลไกทางกฎหมายในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice แต่ข้อสงสัยของผู้เขียนก็คือเราจะสามารถใช้กลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหลังการจบลงของความขัดแย้งด้วยการปราบปรามทางการทหารได้หรือไม่ ในภาวะที่ฝ่ายที่เรียกว่า “กบฏ”ยังถูกคุมขังและไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี รัฐบาลศรีลังกาจะยอมให้มีการดำเนินคดีกับเหล่าทหารที่ปราบปรามกลุ่ม LTTE ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จริงหรือ ในสมัยของ Rajapaksa มีการห้ามแม้แต่การสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต การสร้างสถานที่รำลึกเล็กๆ พึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำได้ในสมัยรัฐบาลนี้ ในวันนี้แม้การสู้รบจะไม่มีแล้ว แต่นายทหารของศรีลังกาก็พูดถึงความหวาดเกรงการกลับมารวมตัวของกลุ่ม LTTE กองทัพศรีลังกาได้สร้างและขยายอาณาจักรอย่างกว้างขวางในช่วงสงคราม ปัญหาในตอนนี้คือการจะลดจำนวนนายทหารและการคืนที่ดินของชาวบ้านที่ถูกยึดครองโดยกองทัพในช่วงสงครามอย่างไร คนที่นั่นบอกว่าทหารยึดที่ดินชาวบ้านไปจำนวนมากในขณะที่พวกเขาลี้ภัยการสู้รบ มีการนำที่ดินมาทำการเกษตร เปิดร้านค้าต่างๆ ไม่แน่ใจว่ารายได้จากกิจการเหล่านี้ไปเข้ากระเป๋าใคร ทุกวันนี้กำลังมีการจัดการเพื่อคืนที่ดินให้กับชาวบ้าน กองทัพมีโครงการคืนที่ดินซึ่งคืบหน้าไปช้ามากๆ หน่วยงานท้องถิ่นและชาวบ้านต่างก็ร้องเรียนเรื่องทหารไม่ยอมคืนที่ดิน ข้อมูลอีกอันที่น่าสนใจคือการเดินทางโดยเครื่องบินระหว่างโคลัมโบไปจาฟนาซึ่งอยู่ทางตอนเหนือไม่มีสายการบินพาณิชย์ มีเพียงเครื่องบินทหารที่เปิดบริการประชาชนเท่านั้น แน่นอนว่ามีการเก็บค่าบริการและค่าโดยสารก็สูงพอๆ หรืออาจจะมากกว่าสายการบินพาณิชย์ เพื่่อนชาวศรีลังกาที่เป็นนักสิทธิมนุษยชนและมาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ให้ทีมนักวิชาการต่างประเทศบอกว่าเขาบอยคอตการขึ้นสายการบินนี้เพราะไม่ต้องการสนับสนุนการกระทำของกองทัพ รอบนี้พวกเราเดินทางด้วยรถบัสประมาณ 8 ชั่วโมงซึ่งค่อนข้างนานแต่ก็ได้ซึมซับบรรยากาศบ้านเมืองระหว่างทางอย่างเต็มอิ่ม
อนุสรณสถานแห่งชัยชนะสร้างโ
ศรีลังกาเป็นกรณีความขัดแย้งที่จบลงด้วยการปราบปราบทางการทหาร ไม่ใช่การแสวงหาทางออกด้วยกระบวนการสันติภาพ คำถามก็คือการยุติการสู้รบเช่นนี้จะสามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมและความปรองดองได้อย่างไร ความยุติธรรมที่รัฐบาลศรีลังกาหยิบยื่นให้เป็น victor's justice เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะซึ่งยากที่นำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน
[1] การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจาก The London School of Economic and Political Science, University of York และ The Australian National University โดยได้ร่วมกับองค์กรในศรีลังกาคือ National Unity and Reconciliation และ Bandaranaike Centre for International Studies ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ร่วมจัดมา ณ โอกาสนี้
[2] ดู Taylor Dibbert, Sri Lanka’s slow dance on transitional justice, The Interpreter, 12 April 2017.