Skip to main content

 

วาระปาเลสไตน์ จากมุมคิดของ ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน

 

 

เมื่อวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีมหกรรมปาเลสไตน์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปภายใต้ชื่องานว่า "Palestine Expo 2017" หรือ "PalExpo" เนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 100 ปี หลังคำประกาศบัลฟอร์ของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และครบรอบ 50 ปี หลังอิสราเอลเข้ายึดครองเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่า และครบรอบ 10 ปี หลังอิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซ่า โดยที่งานเอ็กซ์โปนี้ได้จัดขึ้นที่ศูนย์กลาง Queen Elizabeth II ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 คน และผลตอบรับจากงานถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

ทีมงานได้มีโอกาสร่วมฟังปราศรัยของ ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ในงาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง เลยนำคำปราศรัยนี้มาสรุปเรียบเรียงประเด็นสำคัญ เพื่อประกาศจุดยืนและทิศทางการเคลื่อนไหวของประชาคมโลกเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์จากการยึดครอง ซึ่งในคำปราศรัยครั้งนี้ ศ.ดร.รอมฎอน ได้กล่าวถึง 2 ประเด็นหลักที่สำคัญ คือสิ่งที่เรา "ควรปฏิบัติ" และ "ไม่ควรปฏิบัติ" เมื่อมันมาเกี่ยวข้องกับประเด็นปาเลสไตน์ ซึ่งศ.ดร.รอมฎอน ได้กล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ได้ความดังนี้ ...

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เราไม่ควรหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น 'คำประกาศบัลฟอร์' หรือความอธรรมเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของประเทศตะวันตก แต่กระนั้น เราก็ไม่ควรนำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลบเหล่านั้นมากดทับกับข้อเท็จจริงเชิงบวกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่มีองค์กรและหน่วยเคลื่อนไหวมากมายที่ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ เราต้องเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเปิดเผย "ข้อเท็จจริง" และ "ข้อมูลที่ถูกต้อง" ให้เป็นที่รับทราบแก่ประชาคมโลก การต่อสู้กับความอธรรมของเราต้องดำเนินไปด้วยปัญญา และปฏิกิริยาตอบโต้ของเราจะต้องไม่ติดกับดักทางอารมณ์ที่อาจนำไปสู่การตกหลุมพรางในเกมการเมืองของฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการยึดครองที่ผิดกฎหมายนี้ การเคลื่อนไหวทางปัญญาจึงสำคัญ และต้องแปรเปลี่ยนจากการถกเถียงบนเวทีสู่การเคลื่อนไหวปฏิบัติจริง เริ่มจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แล้วเผยแพร่ความเข้าใจสู่สังคมรอบข้าง ไม่ว่าจะในชุมชนสังคมรากหญ้า ไปจนถึงสถาบันวิชาการ สภาการเมือง หรือแม้แต่สื่อสำนักต่าง ๆ

สิ่งต่อมาที่ไม่ควรปฏิบัติคือ การเปลี่ยนประเด็นความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ให้เป็นประเด็น "ความขัดแย้งทางศาสนา" หรือให้เป็นการปะทะกันระหว่างชาวยิวและชาวมุสลิม มีนักการเมืองมากมายที่พยายามใช่เล่ห์อุบายและเล็งเป้าโจมตีไปที่มุสลิมเพื่อสร้างกระแส 'อิสลาโมโฟเบีย' และเปลี่ยนความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา ด้วยข้ออ้างที่ว่านี่คือหนทางที่จะช่วยปกป้องการอยู่รอดต่อไปของรัฐอิสราเอล มุสลิมไม่ควรไปหลงติดกับและควรออกมาประกาศให้ชัดในหลักการของตนว่า การต่อต้านชาวยิว หรือ ความอคติต่อชนเซมิติค (Anti-Semitic) นั้นขัดแย้งกับคำสอนของอิสลาม ส่วนความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ นั้นไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา แต่มันคือประเด็นของการยึดครองอาณานิคม การกดขี่ การลิดรอนสิทธิ และการอธรรม สิ่งที่เราต้องการในฐานะพลเมืองของสังคมและมนุษยชนคือความยุติธรรม ความเคารพ และความเท่าเทียม สำหรับทุกชนชาติและศาสนา ทั้งชาวยิว ชาวคริสเตียน และชาวมุสลิม

ยิ่งกว่านี้ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการปลดปล่อยปาเลสไตน์นั้นไม่ใช่วาระแบบ "มนุษยธรรม" สิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นไม่ใช่การเข้าไปช่วยเหลือคนยากจนหรือคนด้อยโอกาสในดินแดนปาเลสไตน์ แต่นี่คือการต่อสู้กับการกดขี่และการอธรรม ดังนั้นมันจึงไม่ใช่วาระมนุษยธรรม แต่มันคือ "จุดยืนทางการเมือง" ที่ทุกฝ่ายต้องสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่และได้รับความอยุติธรรม เพราะปัญหาความขัดแย้งนี้มันไม่ใช่ "ปัญหาท้องถิ่น" เฉพาะสำหรับชาวปาเลสไตน์หรือคนในภูมิภาคอาหรับเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาร่วมของประชาชาติ ด้วยปัจจัยที่เชื่อมโยงซึ่งมันได้สร้างผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง

หลายครั้งที่เรากล่าวถึงเรื่องนี้ในมิติทางการเมืองมากเกินไปจนมองข้ามมิติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรษัทข้ามชาติหรือบริษัทที่มีการควบคุมกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งมันมีความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจในประเทศของเราและการอยู่รอดของรัฐอิสราเอลในนามของ "ระบบเสรีนิยมใหม่" มันจึงเข้าไปเกี่ยวพันกับนักการเมือง นักธุรกิจ ล็อบบี้ยิสต์ที่โปรไซออนิสต์ทั้งหลายที่เข้าไปแทรกซึมนโยบายประเทศต่าง ๆ ด้วยวาระเพื่อสนับสนุนและปกป้องความยั่งยืนและการอยู่รอดของรัฐอิสราเอล ดังนั้นปัญหาอิสราเอลจึงไม่เคยแม้แต่วินาทีเดียวที่เป็นปัญหาท้องถิ่น

สิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อมาคือเกมการเมืองที่รัฐบาลอิสราเอลพยายามโยงเหตุโศกนาฏกรรมต่าง ๆ ในนามของลัทธิก่อการร้าย กลุ่มอิสลามสุดโต่ง หรือกลุ่มหัวรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น 'อัล เกาะอิดะฮ์' หรือ 'ไอสิส' แล้วนำมาเหมารวมเข้ากับ 'หะมาส' และกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลว่าเป็นลัทธิก่อการร้ายเช่นเดียวกัน เมื่อมีบุคคลหรือหน่วยงานใดที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในเชิงสนับสนุนขบวนการต่อต้านการยึดครองเหล่านี้ พวกเขาก็จะได้รับคำถามและตกเป็นผู้ต้องสงสัยทันทีว่าเป็นพวกที่นิยมความรุนแรงหรือสนับสนุนการก่อการร้ายด้วยใช่หรือไม่? ด้วยการกล่าวหานี้เองที่อิสราเอลใช้สร้างความชอบธรรมในการเข้ายึดครองพื้นที่และบุกทำลายชีวิตชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง ด้วยวาทกรรมประหนึ่งข้ออ้างว่าเป็น “การอำนวยการป้องกันและปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนชาวอิสราเอล”

เราจึงต้องประกาศชัดเจนว่าในฐานะมุสลิมเราประณามความรุนแรงและการก่อการร้าย ไม่ว่าจะกระทำด้วยนามศาสนาหรือความเชื่อใดก็ตาม แต่ ณ ที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นหะมาส หรือขบวนการต่อต้านการยึดครองอื่น ๆ นั้นมีความชอบธรรมทั้งในหลักมนุษยธรรมและถูกต้องด้วยกฎหมายที่จะต่อสู้เพื่อต่อต้านการยึดครองของ "รัฐก่อการร้ายอิสราเอล" เพราะนโยบายต่าง ๆ ของรัฐก่อการร้ายอิสราเอลที่ดำเนินมาตลอดนั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ายึดครอง การกักกันชาวปาเลสไตน์เสมือนว่าอยู่ในเรือนจำแบบเปิด ไปจนถึงการสังหารพลเมืองบริสุทธิ์

ดังนั้นในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พวกเราไม่เพียงจะต้องต่อสู้กับความท้าทายทางอำนาจที่คอยอุ้มชูความอธรรมที่เกิดขึ้นที่นั่น อีกทั้งยังต้องสนับสนุนกิจกรรมที่ต่อต้านเพื่อปลดปล่อยการยึดครองด้วยวิธีที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายและสอดคล้องตามหลักจริยธรรม เพราะเราให้คุณค่ากับการใช้ความคิด เราให้คุณค่ากับการบริโภค (เช่น แคมเปญ BDS: Boycott, Divestment and Sanctions) เราจึงไม่มีวันบริโภคหรือสนับสนุนผู้ที่ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์ ถ้าหากเรายังสามารถเพิกเฉยและสนับสนุนยอมรับการบริโภคสิ่งเหล่านี้ได้อยู่ มันมีความหมายว่าบางสิ่งบางอย่างได้ขาดตกหายไปในความเป็นมนุษย์ของเรา เราต้องเข้าใจว่ากระบวนการต่อต้านทุกมิตินั้นเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมแบบสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ได้เรียกร้องให้คุณต้องมาอยู่ข้างชาวปาเลสไตน์แบบมืดบอดโดยไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น ตรงกันข้าม ในเมื่อเราจำเป็นต้องอยู่ข้างฝ่ายที่ถูกอธรรม เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจพลวัตร ประวัติศาสตร์ และตรรกะที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหมด เพราะเมื่อเรามองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ เราจะเข้าใจความเลวร้ายของ "การล่าอาณานิคม" และ "การเหยียดชนชาติ" ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น เราจะไม่มีวันเข้าถึงปัญหา ถ้าเรายังมองว่ามันเป็นเพียงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ เพราะปัญหาปาเลสไตน์เป็นปัญหาที่ก้าวข้ามเส้นเขตแบ่งแดน และสร้างผลกระทบต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของเราทั้งหมด เหมือนปัญหาการเหยียดชนชาติและสีผิวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มันคือปัญหาของพวกเราที่ปาเลสไตน์ และการต่อสู้ของพวกเราที่ปาเลสไตน์ ก็เป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของชนผิวดำที่สหรัฐอเมริกา และอีกทุก ๆ การต่อสู้กับปัญหาความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นทุกที่ในโลก มันสัมพันธ์กันทั้งหมด เพราะนี่คือ "กระบวนการปลดปล่อย" มนุษย์สู่อิสรภาพ

ศ.ดร.รอมฎอนกล่าวประโยคปิดท้ายได้อย่างคมคายว่า “สุดท้ายนี้ มันไม่เกี่ยวหรอกว่าคุณจะเป็นเอธิสต์ แอกนอสติก ยิว คริสเตียน หรือมุสลิม ถ้าหากว่าคุณนั้นยืนอยู่ข้างความยุติธรรม คำตอบเดียวที่คุณมีคือคุณจะต้องยืนอยู่ข้างชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นข้างที่คุณจะได้รับการบันทึกว่าคุณได้ยืนอยู่ในข้างที่ถูกต้องของหน้าประวัติศาสตร์”

 

ที่มา One Soul - ชีวิตเดียวกัน