Skip to main content

  ศาสตราจารย์ โอเด รอชีด อัลญะญูซีย์ เขียน  อิมรอน โสะสัน  แปล/เรียบเรียง

 

                 un-sustainable-development-goals-600x450

(ภาพอ้างอิง จาก http://www.pbs.org/wnet/religionandethics/headlines/un-sustainable-devel...)

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า “ประเด็นสิ่งแวดล้อม” กลายเป็นลักษณะพิเศษในศตวรรษที่ 21 ที่คอยกำหนดอนาคต วาทกรรม และวาระของโลกตะวันตกที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โลกอิสลาม”

          อิสลามได้วางหลักการเกี่ยวกับความยั่งยืนเอาไว้เพื่อสำรวจและอธิบายถึงสาเหตุของวิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (climate change) ไวรัสภูมิคุ้มกันเสื่อมในคน (HIV) ความยากจน (poverty) ความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ตัวอย่างเช่น มุมมองอิสลามต่อประเด็น climate change อิสลามอธิบายรากเหง้าปัญหาของประเด็นนี้ว่ามาจากการละเลยไม่ดูแลเอาใจใส่ของมนุษย์ (human stewardship) และเป็นสัญญาณบอกถึงความล้มเหลวของระบบตลาดที่เราได้สร้างขึ้นมา

 

 

 

 

                    (ภาพอ้างอิงจาก http://facilities.utsa.edu/departments/facilities-planning-development/s...)

หลุมพรางตัวแบบตะวันตก (pitfalls of the Western model)

            ตัวแบบพัฒนาระบบเศรษฐกิจผูกโยงกับระบบตลาดเสรี สถาบันการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบตะวันตกมักก่อให้เกิดผลกระทบโดยไม่จำเป็นและเสียต้นทุนสูงในการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยนามของการพัฒนาในรูปแบบนี้ ชุมชนและคนพื้นเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายถูกกีดกันสิทธิ์ของพวกเขาไปอย่างน่าเศร้า สิทธิ์และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนถูกพรากไปและแทนที่ด้วยคำว่าพัฒนาแบบตะวันตก

          “ความยั่งยืน” ในที่นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึง “ผลผลิต” ที่เราพอจะมองเห็นเท่านั้น เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว เกษตรกรรม การค้า หรือ การขยายตัวของสภาพแวดล้อมความเป็นเมือง แต่...มันควรจะมีความหมายครอบคลุมไปถึง “ทัศนคติการมองประเด็นความยั่งยืนของโลก”ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ ปริมณฑลทางจิตวิญญาณ บรรทัดฐานสังคม การอุปโภคบริโภค รูปแบบการผลิต ตลอดจนถึงนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาค

          การคิดเชิงระบบและมุมมองการรับรู้ต่อวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และนิเวศวิทยาคือพื้นฐานสำคัญของการคิดใหม่ในเรื่องความยั่งยืน ความยั่งยืนต้องถูกผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างใหม่เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาที่เอาใจใส่ต่อมนุษย์อย่างแท้จริง

         วิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมารวมทั้ง ความยากจน HIV และ Climate Change ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระตุ้น ผลักดันความต้องการอันแรงกล้าที่จะให้ได้มาซึ่ง “ตัวแบบเศรษฐกิจใหม่” ที่สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

          แน่นอน..มีความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์และคิดทบทวนถึงระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีที่มองธรรมชาติมนุษย์และวัฒนธรรมเพียงแค่“สินค้าโภคภัณฑ์” (commodity) เท่านั้น

          หลุมพรางหรือกับดักที่แจ่มชัดในตัวแบบตลาดเสรี ได้แก่ การลดทอนความสำคัญของอนาคตลง  อัตราดอกเบี้ยทบต้น (compound interest rate) ระบบการธนาคารที่มุ่งให้เกิดการกู้ยืม และการบริโภคเกินตัว (over-consumption)

          หากพิจารณาแนวทางการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ และอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ไป (เอาเงินในอนาคตมาใช้) จะทำให้เข้าใจถึงความสมเหตุสมผลที่จะต้องมีแนวทางการป้องกัน กล่าวอีกทางหนึ่ง หากเรายิ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือต้นทุนในอนาคตมากเท่าไร มันก็ยิ่งจะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจสำหรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศอย่างแน่นอน

 

                 Importance of Environmental Sustainability

               (ภาพอ้างอิงจาก http://www.thirdecology.com/sustainability/the-importance-of-environment...)

มุมมองอิสลามต่อความยั่งยืน (Islamic perspectives on Sustainability)

            เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ต้นแบบเศรษฐกิจตลาดเสรีส่งผลให้เกิดต้นทุนที่สูงและต้นทุนที่ต้องจ่ายแบบไม่คืนกลับ มีข้อโต้แย้งถกเถียงกันในวงกว้างว่า “ตลาดเสรี” กำลังปกปิดความจริงทางนิเวศวิทยาบางอย่าง การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศและวิกฤติเศรษฐกิจโลก คือหลักฐานความล้มเหลวของระบบตลาดเสรีได้ดีที่สุด

            การกำหนดนิยามใหม่ (re-defining)ของเจตนารมณ์พื้นฐานที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่ช่วยสร้างให้เกิดชีวิตที่ดี”  “เราจะแสวงหาความสุขได้อย่างไร”  ถือว่าท้าทายอย่างยิ่งในการเข้าใจความหมายที่ถ่องแท้ของความยั่งยืนจากมุมมองอิสลาม

            “การแสวงหาความสุข” (the pursuit of happiness) จากมุมมองอิสลามย่อมเกี่ยวข้องกับการเพิ่มคุณค่า (value) ให้กับชีวิต ผ่านการปฏิบัติดี (good deed) และการแสวงหาความรู้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทมนุษย์ในการสร้างเอกภพนี้ โดยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผลิตลูกหลานที่ดี ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ด้วยความสมถะ ไม่ยึดติด ออกห่างจากความไร้ประโยชน์และห่างไกลจากความสุรุ่ยสุร่าย

            “เจตนารมณ์แห่งอิสลาม” ย่อมต่างจากความใฝ่ฝันอันสูงสุดของมนุษย์ที่ต้องการครอบครองทรัพย์สินอย่างไม่จำกัดและต้องการใช้ชีวิตแบบหรูหราเกินความพอดีเฉพาะบนโลกนี้ ในทางกลับกัน อิสลามได้ส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักหน้าที่ช่วยกันรักษา “ทุนธรรมชาติ” “ทุนทางสังคม” และ “ทุนมนุษย์” เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความจำเป็น (necessities) ของมนุษย์ทุกคน

          ในการนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเปลี่ยนมุมคิดว่าด้วย “ทัศนคติการมองประเด็นความยั่งยืนของโลก”ครั้งใหญ่ หมายถึง การคิดทบทวนถึงหลักการพื้นฐานที่ต้นแบบเศรษฐกิจตะวันตกได้ผลิตขึ้น เพื่อทำให้มั่นใจว่า “ต้นแบบความยั่งยืนและการให้คุณค่าแก่มนุษย์”ต้องได้รับการยอมรับพร้อมกับวัฒนธรรมของมนุษย์ การประกันไว้ซึ่งหลักดุลยภาพ (mizan) หลักความเสมอภาคทางสังคม (adl) และเคารพการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติ ประชาชน และระบบตลาด

         ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ทำให้เราต้องคิดหาวิธีการใหม่ และเป็นวิธีการที่มีชีวิตชีวาในการเข้าถึงหลักคำสอนอิสลามในประเด็นความยั่งยืน อิสลาม...คือแหล่งที่มาการสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) และการฟื้นฟู (restoration) ธรรมชาติของมนุษย์ (the natural state of humans) ซึ่งนำเรากลับไปสู่หลักการพื้นฐานอิสลามที่เรียกว่า “ฟิฏเราะห์” (fitra) อีกครั้ง.....

(อ่านต่อฉบับหน้านะครับ...อินชาอัลลอฮ์)

               

                                    (ภาพอ้างอิงจาก http://www.rocklineind.com/environmental-sustainability/)

 

(หมายเหตุ...แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง “Rethinking Sustainability: Islamic Perspectives” เขียนโดย Professor Odeh Rashed Al-Jayyousi ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกมุสลิม เจ้าของหนังสือด้านการพัฒนาอันเลื่องชื่อ  “Islam and Sustainable Development: New Worldviews” บทความนี้ท่านเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2015 ค้นจาก http://www.ecomena.org/sustainability-islamic-perspectives/)