Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

(1)

พิสูจน์ศูนย์ควบคุม 400 ผู้ต้องสงสัย

สุ้มเสียงที่สอบถามกันกระหึ่มทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือ "เยาวชนใน 3 จังหวัดหายไปอยู่ที่ไหนกันหมด"

คำตอบภาษามลายูถิ่นที่ได้รับจากคนพื้นที่อันเป็นเสมือนการประชดกันกลายๆ ก็คือ ที่อยู่ของเยาวชนทุกวันนี้มีอยู่ 4 แห่งเท่านั้น คือ ค่ายบ่อทอง, เขาตูม, มาเลย์ และกุโบร์

"ค่ายบ่อทอง" ก็คือค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบของฝ่ายทหาร ส่วน "เขาตูม" หมายถึงค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ตั้งของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) อันถือเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐที่รับผิดชอบปัญหาความมั่นคงในดินแดนด้ามขวานในปัจจุบัน

ขณะที่ "มาเลย์" หมายถึงการหนีไปทำงานฝั่งมาเลเซีย  และ "กุโบร์" หมายถึงหลุมฝังศพ!

คำตอบของชาวบ้านในพื้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจในตัวเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมที่ยังคงฝังรากลึกจนแกะไม่ออก ถึงขนาดมีความรู้สึกว่า เส้นทางของคนหนุ่มมลายูมุสลิม ณ วันนี้ หากไม่สูญเสียอิสรภาพ ก็ต้องสูญเสียชีวิต

วาทกรรมดังกล่าวหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา ภายหลัง กอ.รมน.ภาค 4 เปิดแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้" โดยใช้กองกำลังผสม ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ปิดล้อมตรวจค้น "เป้าหมาย" ในพื้นที่สีแดงหลายอำเภอ และกวาดจับผู้ต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์เป็นผู้ก่อความไม่สงบทั้งระดับแกนนำ แนวร่วม และกลุ่มเสี่ยง ไปร่วมๆ  400 คน

คำถามที่ระเบ็งเซ็งแซ่อยู่ในพื้นที่ทุกวันนี้ก็คือ พวกเขาถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน และทางการทำอะไรกับพวกเขาบ้าง ท่ามกลางกระแสข่าวทั้งลือและไม่ลือเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบ!

"ทีมข่าวเฉพาะกิจ" เดินทางลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ความจริงในดินแดนด้ามขวาน และพบว่า บรรดาผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวจากแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ถูกส่งตัวไปยังศูนย์ซักถามและควบคุม 4 แห่งคือ

1.ศูนย์วิวัฒน์สันติ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" อยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร

2.โรงเรียนสันติสุข หรือ "โรงเรียนการเมือง" ในกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา

3.ค่ายพระปกเกล้า กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 (ป.พัน 5) บ้านสวนตูน ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา

4.ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" กองพันพัฒนาที่ 4 ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

คำแถลงของ กอ.รมน.ภาค 4 ที่สื่อสารออกมาเป็นระยะถึงยอดผู้ถูกควบคุมตามค่ายต่างๆ ในแต่ละห้วงเวลานั้น ดูประหนึ่งว่าแต่ละค่ายทำหน้าที่รองรับผู้ต้องสงสัยจากแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้เหมือนๆ กัน แต่จากการเข้าไปตรวจสอบภายในค่ายแต่ละค่าย กลับพบว่าแท้ที่จริงแล้วแต่ละศูนย์ทำหน้าที่แตกต่างกันไป และการส่งตัวผู้ต้องสงสัยเข้าไปยังศูนย์ควบคุมต่างๆ ก็เป็นเพียง "ท่อนเดียว" ของกระบวนการตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้!

ทั้งนี้ จุดเริ่มของยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ถึง มิ.ย.2550 ซึ่งจะพบว่าช่วงนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบประสบผลสำเร็จในการก่อเหตุรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายรัฐได้อย่างน่าใจหาย

โดย 3 เหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั้งประเทศในห้วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษก็คือ การดักโจมตีทหารรบพิเศษชุดปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) เมื่อเย็นวันที่ 9 พ.ค. ที่ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ทหารพลีชีพ 7 นาย , เหตุการณ์ลอบวางระเบิดและยิงซ้ำทหารพราน ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา  เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เป็นเหตุให้ทหารพรานต้องสังเวยรวดเดียว 11 ชีวิต และเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน แต่เหยื่อคือทหารชุดคุ้มครองครู เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ส่งผลให้ทหารพลีชีพไปอีก 7 นาย รวม 3 เหตุการณ์สูญเสียถึง 25 นาย

นี่ยังไม่นับการลอบวางระเบิดคณะของนายอำเภอไม้แก่น จ.ปัตตานี เสียชีวิตพร้อมกับนายทหารยศพันโทอีก 1 คน และการข่มขู่คุกคามครูกับผู้ปกครองนักเรียน จนทำให้ในพื้นที่สีแดงมีโรงเรียนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้นับสิบแห่ง

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นแรงบีบให้ฝ่ายความมั่นคงต้องตัดสินใจใช้ "ไม้แข็ง" แทนที่นโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาล นั่นก็คือการประกาศแผน "พิชิตบันนังสตา" ตามด้วยแผน "พิทักษ์ปาดี" ซึ่งก็คือปฏิบัติการปิดพื้นที่สีแดง 2 อำเภอ คือบันนังสตา และสุไหงปาดี ตรวจค้นบ้านเป้าหมายเพื่อ "ถอนแกน" และ "กวาด" แนวร่วมก่อความไม่สงบออกจากพื้นที่ ก่อนจะสำทับด้วยแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้" ในช่วงปักษ์หลังของเดือน มิ.ย. เพื่อขยายผลตรวจค้นจับกุมบรรดาแกนนำและแนวร่วมในพื้นที่อื่นๆ  ตามคำซัดทอดของผู้ถูกควบคุมล็อตแรก

ปฏิบัติการดังกล่าวมี "ทหาร " เป็นหน่วยนำ และใช้ "กฎอัยการศึก" เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยตามบัญชีรายชื่อของหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว ซึ่ง "เกาะติด" อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย จนนำไปสู่การควบคุมตัวล็อตใหญ่ที่สุดถึง 372 คน (ตัวเลขจาก พตท. เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550)

อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้นับเฉพาะผู้ถูกควบคุมใน 3 ค่ายใหญ่ คือค่ายอิงคยุทธบริหาร ค่ายรัตนพล และค่ายพระปกเกล้า ซึ่งเป็นผู้ถูกจับกุม-เชิญตัวมาในล็อตแรกๆ แต่ยังไม่รวมผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมอยู่ในค่ายปิเหล็งอีก 51 ราย ซึ่งเพิ่งจับกุม-เชิญตัวมาใน 2 สัปดาห์หลัง จนศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารไม่สามารถรองรับได้ไหว จึงผลักมา "พัก" ไว้ที่บ้านปิเหล็งชั่วคราว

ส่วนผู้ต้องสงสัยที่มีหมาย พ.ร.ก. (หมาย ฉ. ที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จะถูกส่งไปควบคุมและซักถามที่ "ศูนย์พิทักษ์สันติ" ของตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา โดยยอดผู้ถูกควบคุมล่าสุดถึงวันที่ 26 ก.ค. คือ 12 คน

ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า ศูนย์ควบคุมแต่ละศูนย์ทำหน้าที่แตกต่างกัน โดยผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญตัวตามกฎอัยการศึก จะถูกส่งตัวพร้อมหลักฐานเบื้องต้นไปยัง "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารก่อน โดยศูนย์ดังกล่าวทำหน้าที่เป็น "ศูนย์ซักถาม" ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของกองทัพภาคที่ 4 มีนักจิตวิทยาคอยซักถามข้อมูล และมีระยะเวลาควบคุมตัว 7 วัน หากไม่เพียงพอก็จะประสานกับทางตำรวจ เพื่อทำเรื่องขอควบคุมตัวต่อตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกผลัดละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน

(ศูนย์วิวัฒน์สันติ ค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี)

(ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ "ค่ายปิเหล็ง" จ.นราธิวาส)

(โรงเรียนสันติสุข ค่ายรัตนพล จ.สงขลา)

 

(ศูนย์พิทักษ์สันติ : โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จ.ยะลา)

 

 

หลังผ่านกระบวนการซักถามแล้ว ข้อมูลที่ได้ พร้อมกับพฤติการณ์และหลักฐานเบื้องต้นจะถูกส่งไปยังคณะกรรมการของ พตท. ที่ทำหน้าที่เป็นบอร์ดใหญ่ เพื่อพิจารณาคัดแยกผู้ต้องสงสัยออกเป็น 3 กลุ่ม และส่งตัวไปดำเนินการขั้นต่อไป คือ

1.แกนนำก่อความไม่สงบ คือผู้ที่มีหลักฐานการกระทำความผิดอาญาชัดเจนหรือยอมรับสารภาพ จะถูกส่งไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่กระทำความผิด เพื่อดำเนินคดีหรือกันไว้เป็นพยานตามกระบวนการยุติธรรม

2.แนวร่วมก่อความไม่สงบ คือผู้กระทำความผิดอาญาไม่ร้ายแรง เช่น โรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ขวางทาง หรือให้ที่พักพิงแก่คนร้าย จะถูกส่งเข้าโรงเรียนสันติสุข ที่ค่ายรัตนพล และค่ายพระปกเกล้า เพื่อปรับทัศนคติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

3.กลุ่มเสี่ยง คือผู้ที่ไม่พบหลักฐานว่ากระทำความผิดอาญา แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของแนวร่วมก่อความไม่สงบ ซึ่งอาจถูกชักจูงเข้าร่วมขบวนการได้ง่าย กลุ่มนี้จะได้รับการปล่อยตัว หรือหากเจ้าตัวยินยอมก็จะถูกส่งเข้าโรงเรียนสันติสุขเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2

          จากการที่ "ทีมข่าวเฉพาะกิจ" ได้เข้าไปสังเกตการณ์และพูดคุยกับผู้ต้องสงสัยหลายคนในศูนย์ควบคุมทุกแห่ง ไม่พบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะ "ซ้อมผู้ต้องหา" นอกจากเรื่องร้องเรียนผ่านองค์กรสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่ถูกควบคุมอยู่ใน "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ในค่ายอิงคยุทธบริหารเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งกรณีดังกล่าว แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบยกชุดไปแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนชื่อศูนย์วิวัฒน์สันติเป็น "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" แต่ใช้สถานที่เดิมคือภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร

          กระนั้นก็ตาม แม้จะไม่พบปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะการใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็พบปัญหาใหม่ที่ดูเหมือนจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมาย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติคือ

          1.มิติด้านความพร้อม เนื่องจากพบว่าศูนย์ควบคุมแต่ละแห่งสามารถรองรับผู้ถูกควบคุมได้ประมาณ 80-100 คนเท่านั้น แต่เมื่อ กอ.รมน.ภาค 4 เปิดแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ และจับกุม-เชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาอย่างต่อเนื่องตามคำซัดทอด ทำให้ศูนย์ควบคุมต้องดูแลผู้ต้องสงสัยเกินจำนวนที่จะรองรับได้ โดยบางแห่งต้องรับไว้ถึง 140 คน ทำให้สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างแออัดและไม่ถูกสุขอนามัย แม้จะมีอาหารบริการครบทั้ง 3 มื้อ มีที่หลับที่นอน ให้ละหมาดได้ครบ 5 ครั้งตามหลักศาสนา และให้ญาติเยี่ยมได้วันละ 2 เวลาก็ตาม

          ขณะเดียวกัน ศูนย์ที่ทำหน้าที่ฝึกอบรม "กลุ่มเสี่ยง" อาทิ ค่ายรัตนพล และค่ายพระปกเกล้า ไม่ได้รับนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บังคับบัญชาว่าจะให้ควบคุมผู้ที่ถูกส่งตัวมาได้กี่วัน จึงส่งผลในเรื่องของหลักสูตรการฝึกอบรมที่ต้องปรับไปตามสถานการณ์ และที่น่าตกใจก็คือเมื่อควบคุมตัวครบกำหนดเวลา 30 วันตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว เจ้าหน้าที่ของบางศูนย์ฯยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะส่งตัว "ผู้ผ่านการอบรม" ต่อไปที่ใด หรือจะส่งกลับภูมิลำเนา

          นอกจากนั้น จากการพูดคุยกับผู้ถูกควบคุมที่ไม่พบหลักฐานการกระทำความผิดชัดเจน หลายคนหวั่นเกรงว่าเมื่อพวกเขาถูกส่งกลับภูมิลำเนา จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงที่รู้ๆ กันอยู่ว่าผู้ก่อความไม่สงบในระดับแกนนำหรือแนวร่วมบางส่วนยังไม่ถูกจับกุม แม้ กอ.รมน.ภาค 4 จะมีคำสั่งให้หน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวในพื้นที่ ติดตามดูแลความปลอดภัยให้ แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นอยู่ดี

            2.มิติด้านกฎหมาย เนื่องจากพบข้อมูลว่า ภายหลังควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเอาไว้แบบเต็มเพดานเวลา คือ 37 วันแล้ว (อำนาจตามกฎอัยการศึก 7 วัน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 30 วัน) ยังมีการส่งตัวผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่ไปฝึกอาชีพนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ที่ จ.ระนอง โดยการควบคุมตัวในห้วงเวลานี้ ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ แต่ใช้การสมัครใจลงชื่อ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เป็นความสมัครใจจริงๆ หรือถูกบังคับ หรือว่า "จำยอม" เพราะไม่อยากกลับไปเสี่ยงอันตรายที่บ้านเกิด

          ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานด้านความมั่นคงเองว่า มีความพยายาม "ชักจูง" ให้ผู้ถูกควบคุมที่ไม่พบหลักฐานการกระทำความผิด แต่มีข้อมูล "การข่าว" ชัดเจนว่า เป็นบุคคลในระดับแกนนำและแนวร่วมคนสำคัญของโครงสร้างองค์กรก่อความไม่สงบ ให้เข้าร่วมฝึกอาชีพและไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะหนึ่ง เพื่อหวังหยุดการขับเคลื่อนของขบวนการในระยะยาว ซึ่งกรณีนี้ก็มีคำถามตามมาเช่นกันว่า เป็นแนวทางที่มีกฎหมายรองรับหรือไม่

          แม้แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้จะทำให้การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทั่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่านี่คือความสำเร็จ และเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ อีกทั้งยังได้รับกระแสสนับสนุนมากมายทั้งจากผู้บริสุทธิ์ที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อความรุนแรง นักธุรกิจในพื้นที่เอง และประชาชนนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหาใหญ่ใน 2 มิติดังที่กล่าวมา ก็เป็นปมปัญหาใหม่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 จักต้องเร่งแก้ไขและให้คำตอบโดยพลัน

            ก่อนที่จะกลายเป็นรอยด่างและส่งผลให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในดินแดนด้ามขวานซ้ำขึ้นมาอีก!

 

(2)

กลุ่มก่อความไม่สงบถึงทางตัน?

          การเปิดแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ด้วยการปูพรมปิดล้อม ตรวจค้น "เป้าหมายต้องสงสัย" ในพื้นที่สีแดงหลายอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา และสามารถจับกุม-เชิญตัวผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในโครงสร้างก่อความไม่สงบได้ร่วมๆ 400 คนนั้น ทำให้เหตุรุนแรงรายวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด

          และผลแห่งปฏิบัติการเช่นนี้เองที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงแสดงความมั่นใจว่า...กำลังเดินถูกทาง (อีก) แล้ว!

          หากวิเคราะห์แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 จะพบว่าเป็นความพยายามเปลี่ยน "จุดแข็ง" ของกลุ่มก่อความไม่สงบ ให้กลายเป็น "จุดอ่อน" ที่เข้าทางฝ่ายรัฐ

          แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานด้านความมั่นคงจะตกอยู่ในภาวะ "ตาบอดคลำช้าง" และออกมาตรการชนิด "ลองผิดลองถูก" มาแล้วหลายครั้ง แต่มาตรการหนึ่งที่ทำให้เกิดแสงสว่างในการจัดการปัญหา ณ วันนี้ก็คือ การจัดตั้ง "ศูนย์ซักถาม" ขึ้น 2 แห่ง คือ "ศูนย์พิทักษ์สันติ" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา  และ "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ของกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

          ทั้งสองศูนย์ทำหน้าที่สอบปากคำผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย ตลอดจนเยาวชน "กลุ่มเสี่ยง" ที่ถูกจับกุม-เชิญตัวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎอัยการศึก

          ข้อมูลที่ได้จากศูนย์ซักถามทั้ง 2 แห่ง ทำให้หน่วยงานความมั่นคงสามารถต่อ "จิ๊กซอว์" โครงสร้างขององค์กรก่อความไม่สงบได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะรูปแบบการปฏิบัติการที่มีลักษณะเป็น "เซลล์อิสระ" แบ่งเป็นสายการบังคับบัญชาอย่างหลวมๆ ประกอบด้วย

          1.อูลามา หรือนักคิด ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนปฏิบัติการ

          2.คอมมานโด คือหัวหน้าฝ่ายกองกำลัง

            3.อาร์เคเค คือกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการฝึกอาวุธ และออกก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ๆ 

          4.แนวร่วม คือกลุ่มที่คอยให้ความช่วยเหลือฝ่ายกองกำลัง หรือก่อเหตุรุนแรงเองเมื่อสบโอกาส พร้อมยุยงปลุกปั่นหรือปลุกม็อบเมื่อต้องการใช้มวลชน

5.เปอมูดอ คือกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นมวลชนของฝ่ายก่อความไม่สงบ

ทั้งนี้ "เซลล์อิสระ" แต่ละเซลล์จะมีการสั่งการและเชื่อมโยงการทำงานแบบหลวมๆ แต่ตลอดทั้งสายการปฏิบัตินั้น เซลล์แต่ละเซลล์จะไม่รู้จักกัน ทำให้เกิด "จุดแข็ง" คือสามารถก่อเหตุรุนแรงได้อย่างเสรี และแม้ทางการจะจับกุมระดับปฏิบัติการได้ ก็จะไม่สามารถซัดทอดถึงผู้บงการในระดับสูงขึ้นมาได้

          อย่างไรก็ดี จากการเก็บข้อมูลทีละเล็กทีละน้อยอย่างอดทน ผ่านกระบวนการทำงานของศูนย์ซักถามทั้ง 2 แห่ง ทำให้ฝ่ายความมั่นคงรับรู้โครงสร้างขององค์กรก่อความไม่สงบมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพบ "จุดอ่อน" ที่เหลื่อมซ้อนอยู่ภายใต้ "จุดแข็ง" ดังกล่าวในที่สุด

          ด้วยเหตุนี้ กอ.รมน.ภาค 4 จึงเปิดแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ เดินหน้าปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้นแบบปูพรม เพื่อสร้างแรงกดดันขนาดรุนแรงลงไปในพื้นที่สีแดง เพราะหากจับกุมเป็นรายบุคคลเป็นครั้งเป็นคราวเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้แนวร่วมที่เหลือไหวตัวทัน และหลบหนีออกนอกพื้นที่ได้

          การกวาดจับและเชิญตัวผู้ต้องสงสัยเกือบๆ 400 คน ส่งผลให้สายปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบขาดช่วง เพราะเมื่อเซลล์ในสายของตัวเองถูกจับ ถูกถอด หรือถูกดึงออกจากพื้นที่ เซลล์ที่เหลือในสายนั้นๆ ก็จะไม่สามารถประสานงานกันได้ เนื่องจากเซลล์ที่อยู่เหนือขึ้นไปและต่ำลงมาไม่รู้จักกัน ฉะนั้นไม่ว่าคนที่ถูกจับจะเป็นตัวใหญ่หรือตัวเล็กในสายปฏิบัติการ ก็จะกระทบกับวิธีการทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งสิ้น และหากสายปฏิบัติการจะทำงานได้ใหม่ ก็ต้องหาเซลล์ใหม่มาทดแทน

          นี่เองที่เป็นคำตอบว่า ทำไมเมื่อเปิดยุทธการแล้ว เหตุรุนแรงจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

            พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก และผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) วิเคราะห์ให้ฟังว่า องค์กรก่อความไม่สงบนั้นพยายามทำตัวเป็น "องค์กรปิด" ฉะนั้นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงคือทำอย่างไรให้กลายเป็น "องค์กรเปิด" นั่นก็คือการดึงกลุ่มก่อความไม่สงบออกจากที่มืดให้มาอยู่กลางแดด

          "กระบวนการที่สำคัญภายหลังยุทธการปิดล้อมตรวจค้นก็คือ การคั้นกะทิ หมายถึงการซักถามและสอบปากคำผู้ที่ถูกเชิญตัวมา ถ้าพบการกระทำผิด หรือยอมรับสารภาพ ก็จะส่งตัวไปดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าไม่พบหลักฐาน ก็จะถูกส่งเข้ากระบวนการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ถ้าคนไหนผ่านการซุมเปาะ (การสาบานในแบบของมุสลิม) มาแล้ว ก็จะให้ถอนซุมเปาะโดยผู้นำศาสนา จากนั้นก็พูดคุยเพื่อหาข้อมูลโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบ และข้อมูลที่ได้ก็จะถูกส่งกลับไปยังหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ เพื่อติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกซัดทอด และเชิญตัวมาเข้ากระบวนการต่อไป"

          "จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่ถูกจับหรือเชิญตัวมาก็คือ คนที่มาเยี่ยมมีแต่ครอบครัวเท่านั้น ส่วนพวกที่ปลุกระดม หรือพวกที่สนับสนุน ไม่มีใครมาเลย เด็กๆ เหล่านี้จึงรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตของพวกเขาก็มีแต่ตัวเองกับพ่อแม่ จึงยอมรับสารภาพทุกคน ไม่ยอมรับใช้องค์กรอีกต่อไป"

          พ.อ.อัคร อธิบายอีกว่า ก้าวต่อไปของแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ก็คือปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกว่า "สงครามไอโอ" (Information Operation)

          "ที่ผ่านมากลุ่มก่อความไม่สงบไม่ได้เอาชนะฝ่ายรัฐที่เนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหารหรืองานมวลชนก็ตาม แต่ที่ดูเหมือนชนะ ก็เพราะปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร เช่น ก่อเหตุฆ่าแล้วเผา เพื่อให้สื่อนำเสนอข่าว ซึ่งสื่อก็ต้องทำหน้าที่ จึงเสนอข่าวไปตามนั้น แต่ผลของมันกลับกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ฝ่ายตรงข้าม"

          "ฉะนั้นวันนี้เรากำลังปรับแผนกันใหม่ แต่ไม่ได้ต้องการให้สื่อหยุดเสนอข่าว โดยสื่อก็ทำหน้าที่ของสื่อไป เพียงแต่เราต้องย้ายความสนใจจากผลลัพธ์ให้มาอยู่ที่ต้นเหตุ เพื่อให้สื่อย้อนกลับไปเสนอข่าวที่ต้นเหตุด้วย เพราะกระบวนการของเรื่องทุกเรื่องเริ่มจาก ต้นเหตุ ทำให้เกิด การกระทำ และนำไปสู่ ผลลัพธ์ เสมอ"

          โฆษกกองทัพบก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งแม้จะเป็นความผิดพลาดของฝ่ายทหารจริง แต่ก็ต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุด้วยว่า ผู้ต้องหา 6 คนที่ถูกจับกุม และเป็นชนวนให้เกิดการปลุกระดมมวลชนมาชุมนุมประท้วงนั้น ได้กระทำความผิดอะไรไว้บ้าง

          หรืออย่างกรณีกรือเซะ สื่อหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนพูดถึงแต่ผลลัพธ์ คือการบุกยิงมัสยิด แต่ต้นเหตุของเหตุการณ์กรือเซะไม่มีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นการเขียนบทเอาไว้แล้ว และเป็นการล่อลวงเยาวชนอย่างชัดเจน

          "กระบวนการแบบนี้คือการบล็อกเชื้อโรคไม่ให้ออกอาการ และสร้างแอนตี้บอดี้ขึ้นมาป้องกัน อันจะทำให้การโฆษณาชวนเชื่อเริ่มไม่ได้ผล อย่างที่บอกว่าตัวเองเป็นนักรบ แต่กลับฆ่าคนบริสุทธิ์ ฆ่าเด็ก ฆ่าผู้หญิง หรือแม้กระทั่งคนแก่ แบบนี้ไม่ใช่นักรบ ประชาชนในพื้นที่เองก็รู้ ฉะนั้นวันนี้กลุ่มก่อความไม่สงบถึงทางตันแล้ว พวกเขากำลังยูเทิร์นเพราะไปต่อไม่ได้ และใกล้จะพบจุดจบ" พ.อ.อัคร กล่าว

          และทั้งหมดนี้ถือเป็นความมั่นใจแบบเต็มร้อยของฝ่ายความมั่นคง ท่ามกลางคำถามที่ว่า การมุ่งทำลายโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบอันเป็นปฏิบัติการทางยุทธวิธี โดยไม่ได้พูดถึงบริบทของอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อของพวกเขาเลยนั้น ความสงบที่เกิดขึ้น ณ วันนี้จะเป็นเพียงปฏิกิริยาระยะสั้น หรือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จอย่างแท้จริงกันแน่?